ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ในช่วง 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางที่ 4% จาก 5 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่
- การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง และความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน
- การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ
- การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า
- การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
- ฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้คาดว่าในปี 2565 มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 4.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.3% และ 4.2% ตามลําดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1% ของ GDP
ขณะเดียวกันสภาพัฒน์ยังระบุถึง 7 ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่ไทยควรให้ความสําคัญในปี 2565 ประกอบด้วย
- การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจํากัด โดยการดําเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค
- การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจํากัดในการฟื้นตัว โดยเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดําเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสําหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจํากัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ
- การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยติดตามและประเมินผลมาตรการต่างๆ ที่ดําเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดําเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดําเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคํานึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า
- การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยส่งออกสินค้าสําคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กําลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
- การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและ การประกอบธุรกิจ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
- การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
- การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ซึ่งเป็นกรอบบนของประมาณการเดิมที่ 0.7-1.2% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากการควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน
“เราเริ่มเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติและเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากมีการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 2.57 แสนคน โดยสาเหตุที่ตัวเลขยังไม่สูงมากเกิดจากนโยบายของประเทศต้นทาง เช่น จีน ที่ยังไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวของเขาออกมา” ดนุชา กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ให้น้ำหนักมากที่สุดในปีหน้า คือการควบคุมการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด รองลงมาเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ในกลุ่มธุรกิจ SME
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP