สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS Thailand) ร่วมกับมูลนิธิ Friedrich Naumann ประเทศไทย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานอภิปรายในประเด็น ‘ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์: สงครามที่ไม่มีจุดจบ?’ ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนี้ (3 พฤศจิกายน)
โดยมี ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้อำนวยการ ISIS Thailand ดำเนินรายการ และร่วมอภิปรายโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ตัวแทนสื่อมวลชนที่มีประสบการณ์รายงานข่าวในพื้นที่สงคราม, ศ.พล.ท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล ประธานที่ปรึกษาองค์การรณรงค์เพื่อความเป็นเอกภาพของปาเลสไตน์ (PSC) และ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปมปัญหา พัฒนาการของสงครามและความขัดแย้ง แนวทางแก้ไขโดยสันติวิธี รวมทั้งการอพยพพี่น้องแรงงานและการช่วยเหลือตัวประกัน
และนี่คือประเด็นสำคัญบางช่วงบางตอนที่เกิดขึ้นในงานอภิปรายครั้งนี้
ฐปนีย์ระบุว่า พี่น้องแรงงานไทยไปทำงานอยู่ในโมชาฟหรือคิบบุตซ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายสหกรณ์การเกษตรของอิสราเอล ซึ่งคนไทยที่เสียชีวิตหรือถูกจับกุมเป็นตัวประกันนั้นส่วนใหญ่เป็นพี่น้องแรงงานที่มีที่ทำงานอยู่ห่างจากฉนวนกาซาเพียง 4-5 กิโลเมตรเท่านั้น โดยแรงงานไทยในภาคการเกษตรอิสราเอลมีรายได้อยู่ที่ราว 50,000-100,000 บาทต่อเดือน ทุกคนทราบดีว่าการทำงานที่อิสราเอลมีความเสี่ยงอันตราย แต่ปัจจัยเรื่องรายได้ที่ค่อนข้างสูงเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้พี่น้องแรงงานไทยยังคงทำงานที่อิสราเอลต่อไปแม้จะอยู่ในภาวะสงครามก็ตาม อีกทั้งบางคนยังมองว่าพื้นที่ที่ตนทำงานหรืออาศัยอยู่นั้นยังคงปลอดภัยดีและมีหลุมหลบภัยใต้ดิน จึงเลือกที่จะยังไม่เดินทางกลับไทยในช่วงเวลานี้
ฐปณีย์ยังอธิบายอีกว่า กลุ่มฮามาสไม่ได้เจาะจงที่จะจับคนไทยเป็นตัวประกัน แต่พื้นที่ที่คนไทยทำงานอยู่ในเขตพื้นที่พิพาทที่สหประชาชาติกำหนด ซึ่งกลุ่มฮามาสมองว่าเป็นดินแดนปาเลสไตน์ที่พวกเขาต้องการที่จะยึดคืนจากอิสราเอล ฐปณีย์จึงไม่อยากให้คนไทยทำงานในพื้นที่พิพาท เนื่องจากมีความอันตรายอย่างมาก พร้อมเรียกร้องให้ทางการไทยดูแลเยียวยาพี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลที่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศในครั้งนี้ รวมถึงพี่น้องแรงงานไทยที่ยังคงอยู่ในอิสราเอลและอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจหลังจากนี้
ขณะที่ ดร.สมชาย ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยได้พิจารณาหรือไม่ว่าเขตพื้นที่ทำงานของพี่น้องแรงงานไทยที่ส่งไปทำงานในอิสราเอลอยู่ตรงไหน มีระดับความเสี่ยงอันตรายมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งการส่งคนไปทำงานในพื้นที่พิพาทอาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้
ดร.สมชาย ยังคาดการณ์อีกว่า สงครามในครั้งนี้อาจไม่ขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ เหมือนกับสงคราม6 วันในปี 1967 ที่ประเทศอาหรับเคยสู้รบครั้งใหญ่กับอิสราเอล เพราะการเปิดหน้ารบกับอิสราเอลนั่นอาจหมายถึงการสู้รบกับสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
แล้วพอจะมีมหาอำนาจไหนมาหนุนหลังประเทศอาหรับเหล่านี้อีกไหม ดร.สมชาย มองว่ารัสเซียและจีนอาจจะยังไม่ได้มาเปิดหน้าสู้รบด้วยในตอนนี้ เพราะผลประโยชน์ของพวกเขายังไม่มากพอ อีกทั้งจีนเองก็ยังมีผลประโยชน์ที่ติดขัดอยู่กับอิสราเอลด้วย การสู้รบจึงเป็นไปในลักษณะที่สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธมากกว่า ไม่ได้เปิดหน้าทำสงครามโจมตีกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า สงครามที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นสงครามข่าวสารและเทคโนโลยีอีกด้วย จึงควรรับสารจากทั้งสองฝ่าย
ด้าน ดร.สุรชาติ ก็ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์และตั้งข้อสังเกตบางประการเช่นเดียวกัน โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของอิหร่านในสงครามความขัดแย้งครั้งนี้ ดร.สุรชาติ ระบุว่า ถ้าดูจากวันนี้อาจไม่น่ากังวลอย่างที่คิด อิหร่านเรียกร้องให้รัฐอาหรับยุติการส่งน้ำมันให้อิสราเอล พร้อมทั้งสนับสนุน ‘กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน’ (Axis of Resistance) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านตะวันตก ทั้งกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน รวมถึงกลุ่มฮูตีในเยเมน โดยภาพรวมของสงครามในครั้งนี้ยังอยู่ในลักษณะที่เป็นสงครามจำกัด
ดร.สุรชาติ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดีคือ กระแสการก่อการร้ายครั้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก บรรดาคนที่รอดชีวิตจากสงครามนี้อาจจะเข้าไปร่วมกับฮามาสโดยสมัครใจ และร่วมผลักดันภารกิจต่างๆ ของกลุ่มฮามาสให้บรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยตะวันออกกลางยังคงเป็นพื้นที่ในการแข่งขันของมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นใหม่ไม่ต่างจากเดิมเมื่อครั้งอดีต
นอกจากนี้ ดร.สุรชาติ ยังระบุอีกว่า การลุกขึ้นสู้ของปาเลสไตน์ครั้งที่ผ่านมาๆ เราได้เห็นว่าเสียงสนับสนุนอิสราเอลลดลง ยิ่งในครั้งนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ถ้าสถานการณ์เริ่มคลายตัว เราอาจเห็นการเรียกร้องให้ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบัน ลาออก และอาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอิสราเอลชุดนี้
ดร.สุรชาติ ฝากทิ้งท้ายถึงรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศว่า รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาอาจจะต้องคิดพิจารณาอย่างจริงจังในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกแรงงาน ยิ่งแรงงานไทยออกนอกประเทศเพราะมีรายได้สูงเป็นแรงจูงใจ แรงงานในบ้านอยู่ตรงไหน เราจะจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศอย่างไร และจะบริหารจัดการกับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิด
ภาพ: Ali Jadallah / Anadolu via Getty Images