×

จับตาโอกาสอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ ขยายสู่สงคราม นักวิชาการมองไทยกระทบไม่มาก หากชาติอาหรับไม่ร่วมวง

26.08.2024
  • LOADING...
อิสราเอล

ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD วิเคราะห์กรณีสถานการณ์การโจมตีข้ามชายแดนอย่างดุเดือดระหว่าง อิสราเอล และกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนวานนี้ (25 สิงหาคม) ที่ส่งผลให้เกิดกระแสความกังวลว่าความขัดแย้งอาจลุกลามบานปลายไปสู่สงครามใหญ่อีกจุดหนึ่งในตะวันออกกลาง

 

เหตุการณ์โจมตีข้ามชายแดนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืด หลังกองทัพอิสราเอลเปิดฉากส่งเครื่องบินรบกว่า 100 ลำ โจมตีใส่ฐานยิงจรวดนับพันแห่งของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในพื้นที่ตอนใต้ของเลบานอน โดยอ้างสิทธิ์ใช้มาตรการชิงโจมตีก่อน (Preemptive Strike) เพื่อป้องกันตนเอง หลังได้รับข่าวกรองว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีแผนใช้ฐานยิงจรวดเหล่านี้ปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ 

 

ขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยิงจรวดจำนวนมากตอบโต้ทันทีไปยังตอนกลางของอิสราเอล โดย ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำกลุ่ม ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการแก้แค้นการลอบสังหาร ฟูอัด ชูกร์ (Fuad Shukr) อดีตผู้บังคับบัญชา และพุ่งเป้าไปยังฐานทัพและฐานของหน่วยข่าวกรองมอสซาด (Mossad) ซึ่งผลจากการโจมตีของทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในเลบานอน 3 คน และในอิสราเอล 1 คน 

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า การอ้างสิทธิ์ของฝ่ายอิสราเอลในการชิงโจมตีก่อนนั้นยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากประเด็นสำคัญของเหตุการณ์นี้คือต้นสายปลายเหตุจากการกระทำของอิสราเอลที่สังหารผู้บัญชาการฮิซบอลเลาะห์ก่อน 

 

ขณะที่สาเหตุในการโจมตีของฝ่ายฮิซบอลเลาะห์นั้น นอกจากเพื่อตอบโต้และล้างแค้นอิสราเอล ยังเป็นการยืนยันการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่กำลังเผชิญสงครามและการโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซาด้วย

 

โอกาสลุกลามสู่สงคราม

 

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ประกาศว่าการโจมตีเฟสแรกสิ้นสุดลง ก่อให้เกิดคำถามว่ามีโอกาสแค่ไหนที่จะเกิดการโจมตีในเฟสที่สอง และสถานการณ์จะลุกลามขยายวงกว้างถึงขั้นเป็นสงครามอีกแนวรบของอิสราเอลหรือไม่ 

 

โดย ผศ. ดร.มาโนชญ์ มองว่า ในทางหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นถึงสัญญาณว่า การโจมตีข้ามชายแดนในรอบนี้ควรที่จะ ‘พอแค่นี้’ ซึ่งฝ่ายฮิซบอลเลาะห์เห็นว่า หากอิสราเอลยอมหยุดการโจมตี กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็จะหยุด และไม่ยกระดับการโจมตีอิสราเอลในตอนนี้ แต่ถ้าอิสราเอลต้องการก่อสงครามก็อาจมีเฟสต่อไป

 

ทั้งนี้ เขามองว่าสิ่งที่อิสราเอลต้องการ แท้จริงแล้วคือการดึงฮิซบอลเลาะห์และประเทศผู้สนับสนุนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาอย่างอิหร่านเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ เนื่องจากมั่นใจว่าพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม ในฝ่ายของฮิซบอลเลาะห์และอิหร่านนั้นยังไม่ต้องการสงคราม เพราะมองว่าสิ่งสำคัญสำหรับสถานการณ์ตอนนี้คือการหยุดยิงในกาซา โดยมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อการเจรจาข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด

 

แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ ผศ. ดร.มาโนชญ์ มองว่า ฮิซบอลเลาะห์และอิหร่านก็ยังมีความได้เปรียบ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่ออิสราเอล ทั้งในแง่ของขวัญกำลังใจ ภาพลักษณ์ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ กัดเซาะให้อิสราเอลยิ่งอ่อนแอและเกิดความขัดแย้งภายใน

 

ไทยไม่กระทบมาก หากสงครามไม่ขยายวง 

 

การสู้รบข้ามพรมแดนระหว่างอิสราเอลและฮิซบอลเลาะห์ ตลอดจนกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่อิหร่านสนับสนุนทั้งในอิรักและซีเรียนั้น มีแนวโน้มว่าอาจกลายเป็นการสู้รบที่ยืดเยื้อและกินเวลายาวนาน

 

สำหรับไทย ในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลายประเทศตะวันออกกลางก็จับตามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

โดย ผศ. ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า หากการสู้รบจำกัดวงแค่ในกลุ่มนี้ และไม่ขยายไปถึงประเทศอาหรับอื่นๆ ผลกระทบที่จะเกิดต่อไทยอาจไม่มากนัก เพราะผลประโยชน์ของไทยนั้นอยู่ในกลุ่มประเทศอาหรับที่มีเสถียรภาพมั่นคง แต่หากสงครามขยายวงและดึงกลุ่มนี้เข้ามาเกี่ยวด้วย ผลกระทบต่อไทยอาจมีมากขึ้น 

 

ขณะที่หากมองในแง่ดีก็มีความเป็นไปได้ที่การสู้รบอาจจำกัดวงแค่อิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เหมือนเช่นในปี 2006 ซึ่งฮิซบอลเลาะห์ถือเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติอาหรับกลุ่มเดียวที่รบแล้วไม่แพ้อิสราเอล 

 

แต่ ณ ปัจจุบัน ปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต อีกทั้งโครงสร้างอำนาจของชาติอาหรับก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ยังต้องจับตามองสถานการณ์ที่อาจยกระดับได้ในอนาคต แม้จะยังไม่ใช่ตอนนี้ก็ตาม

 

ภาพ: Reuters TV via Reuters

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising