วันนี้ (1 พฤษภาคม) รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานด้านความมั่นคงหลายหน่วยงานเข้าชี้แจง กรณีการศึกษาปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) ทางสื่อสังคมออนไลน์
รังสิมันต์เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ซักถามกรณีเอกสารสรุปและประเมินข่าวสารของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีการจัดหมวดหมู่บุคคลและกลุ่มการเมืองในลักษณะสร้างความเสียหาย เช่น การระบุชื่อ ทักษิณ ชินวัตร, อนุทิน ชาญวีรกูล, ธรรมนัส พรหมเผ่า ในกลุ่มบุคคลแอบอ้างสถาบันฯ และการจัดเพจเฟซบุ๊กของพรรคประชาชนอยู่ในกลุ่มต่อต้านสถาบันฯ
ซึ่ง ธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษก กอ.รมน. ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจริง แต่ชี้แจงว่าเนื้อหาเป็นการกระทำที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ภายใน กอ.รมน. เอง และข้อมูลบางส่วนนำมาจากอินเทอร์เน็ต คณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นข้อผิดพลาดจริง ต้องมีการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิด เพราะลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้นซ้ำซากคล้ายเป็นความจงใจใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองมากกว่าความผิดพลาด และเรียกร้องให้ กอ.รมน. แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการหาผู้รับผิดชอบ
ในส่วนของกองทัพบก (ทบ.) วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ยอมรับว่า มี ‘คณะทำงานพิเศษ’ อยู่จริงตามโครงสร้างที่มีชื่อ ธรรมนูญ วิถี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน แต่ยืนยันว่าคณะทำงานดังกล่าวมีหน้าที่เพียงเผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบกเท่านั้น ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ในลักษณะ IO ที่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีหรือสร้างความแตกแยกทางการเมือง อาจมีการส่งข้อมูลต่อไปยังอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างๆ ผ่านผู้สื่อข่าวที่ติดตามกองทัพ
นอกจากนี้ วินธัยยังปฏิเสธว่ากองทัพบกไม่ได้อยู่เบื้องหลังบัญชีผู้ใช้ ‘เจ๊จุกคลองสาม’ และการที่โลโก้เคยปรากฏบนจอของ ทบ. เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่
ด้าน ชยพล สท้อนดี สส. พรรคประชาชน ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ได้ตั้งคำถามถึงการที่ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่เพจที่ไม่ประสงค์ดี และความสามารถของหน่วยงานรัฐในการติดตามบัญชีเหล่านี้ เทียบกับกรณีที่กองทัพเคยติดตามดำเนินคดีกับบัญชีนิรนามที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพได้ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติ
คณะกรรมาธิการฯ สรุปว่า
1) เอกสาร กอ.รมน. เป็นของจริง ต้องติดตามการดำเนินการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง
2) คณะทำงานพิเศษ ทบ. มีอยู่จริง ต้องตรวจสอบการทำงานต่อไปแม้จะมีการปฏิเสธเรื่อง IO
3) แม้ทุกหน่วยงานปฏิเสธ แต่ปฏิบัติการ IO ที่สร้างความเสียหายยังคงมีอยู่ ต้องมีผู้รับผิดชอบ
คณะกรรมาธิการฯ จะทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอคำชี้แจงเพิ่มเติม และจะส่งเรื่องให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไป พร้อมกันนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีกำหนดการลงพื้นที่ในสัปดาห์หน้า (เริ่ม 6 พฤษภาคม) เพื่อตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับทุนจีน, การถล่มของอาคาร สตง. และปัญหาเหมืองแร่-มลพิษในแม่น้ำกก ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานความมั่นคง