×

หรือห้างญี่ปุ่นในเมืองไทยจะอยู่ยาก! หลัง ‘อิเซตัน’ เตรียมปิดฉากตำนาน 28 ปี ตามรอย ‘ห้างโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค’ ที่ปิดไปก่อนหน้า 1 ปี

14.03.2020
  • LOADING...

เป็นเรื่องที่น่าตกใจและใจหายอยู่ไม่น้อย เมื่อ เซอิจิ อาโอยามะ ประธานกรรมการ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ประเทศไทย ออกจดหมายระบุวันที่ 16 มีนาคม 2563 ถึงลูกค้าห้างสรรพสินค้าอิเซตันว่า จะยุติดำเนินกิจการ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยจะไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ให้ห้างสรรพสินค้าอิเซตันเช่าพื้นที่บนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ราชประสงค์ 

 

โดยร้านอาหารและภัตตาคารบริเวณชั้น 6 จะเปิดและปิดให้บริการแตกต่างกันไปตามประกาศของแต่ละร้าน และร้านหนังสือ Kinokuniya ชั้น 6 จะเปิดให้บริการตามปกติ

 

ประกาศนี้ถือเป็นการปิดฉากห้างสรรพสินค้าอิเซตันที่เปิดกิจการในไทยมาเป็นเวลา 28 ปี หรือตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โดยมีทั้งหมด 6 ชั้นบนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ย้อนหลังไปเมื่อ 2558 ห้างดังกล่าวทุ่มเงินมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโฉมใหม่ทั้งหมดหลังเปิดมานานถึง 23 ปี

 

มีคำถามหนึ่งที่ดังขึ้นมาคือ ‘หรือว่าห้างญี่ปุ่นในวงล้อมของห้างไทยจะอยู่ยากเสียแล้ว’ เพราะ 1 ปีก่อนหน้านี้ในวันที่ 31 มกราคม 2562 ถือเป็นวันสุดท้ายที่ ‘ห้างสรรพสินค้าโตคิว’ สาขาศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ เปิดดำเนินงานเป็นวันสุดท้าย หลังจากเปิดให้บริการมา 2 ปีกว่าๆ บนพื้นที่ 13,000 ตารางเมตร และงบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท คงเหลือเพียงสาขาเดียวที่ศูนย์การค้า MBK 

 

เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ห้างโตคิวแห่งศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์คต้องปิดตัว เป็นเพราะผลประกอบการที่ขาดทุนมาโดยตลอด แม้ตอนที่ลงทุนจะมองว่าฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ในรัศมี 10 กิโลเมตรจะมีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 1.7 ล้านครัว และมีกลุ่มคนรายได้สูงจำนวนมาก คาดว่าจะมียอดผู้ใช้บริการระยะแรกไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 คนต่อวัน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์คเฉลี่ย 50,000-60,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

 

แต่ที่สุดแล้วเมื่อดูจากผลดำเนินงานของ บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริหาร ‘ห้างโตคิว’ พาราไดซ์ พาร์ค จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าขาดทุนทุกปี โดยเฉพาะ 2 ปีหลังจากทุนหลัก ‘ร้อยล้าน’ 

 

รายได้และกำไรของบริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ปี 2558 รายได้รวม 108,561,571 บาท ขาดทุน 65,433,507 บาท 

ปี 2559 รายได้รวม 212,945,381 บาท ขาดทุน 89,906,295 บาท 

ปี 2560 รายได้รวม 188,035,949 บาท ขาดทุน 154,290,103 บาท 

ปี 2561 รายได้รวม 144,850,333 บาท ขาดทุน 164,908,200 บาท 

 

ขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลของบริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด ก็พบว่า ยังมีกำไรอยู่ แต่เรียกได้ว่าสวนทางกับรายได้เป็นอย่างยิ่ง

 

รายได้และกำไรของบริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด

ปี 2557 รายได้รวม 1,256,728,712 บาท กำไร 9,984,273 บาท

ปี 2558 รายได้รวม 1,330,026,383 บาท กำไร 6,548,183.00 บาท 

ปี 2559 รายได้รวม 1,422,435,962 บาท กำไร 5,099,157 บาท 

ปี 2560 รายได้รวม 1,423,919,571 บาท กำไร 12,466,790 บาท 

ปี 2561 รายได้รวม 1,454,395,560 บาท กำไร 25,490,739 บาท 

 

จริงอยู่ที่งบปี 2561 จะมีกำไรถึง 25 ล้านบาท แต่เมื่อย้อนตัวเลขกำไรในช่วง 5 ปีมานี้ เรียกได้ว่าแตกต่างกับรายได้เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากเปิดดำเนินการต่อไป ก็อาจจะไม่คุ้มที่จะดำเนินการต่อ และอาจจะเดินทางไปถึงจุดที่ขาดทุนก็เป็นไปได้

 

เพราะวันนี้อย่างที่รู้กันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันหลังให้กับการเดินห้างและไปสั่งซื้อสินค้าในโลกออนไลน์แทน ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าสินค้าญี่ปุ่นในวันนี้ไม่ได้หายากอีกต่อไป เพราะการบินไปซื้อเองถึงถิ่นกำเนิดไม่ได้ยากเกินความไขว่คว้าอีกแล้ว จากการที่ญี่ปุ่นให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวไทย และสายการบินต่างๆ แข่งกันทำราคาเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร

 

อย่างไรก็ตาม มีอีกห้างหนึ่งที่ต้องจับตาคือ ‘ห้างสรรพสินค้าสยาม ทาคาชิมายะ’ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ทาคาชิมายะ สิงคโปร์ จำกัด 51% และบริษัท สยาม ริเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด 49% ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไอคอนสยาม โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ 7 ชั้น กับขนาด 36,000 ตารางเมตร บนศูนย์การค้าไอคอนสยาม 

 

เมื่อครั้งที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ชิเกรุ คิโมโตะ ประธานบริหาร บริษัท ทาคาชิมายะ จำกัด ซึ่งบินตรงมาจากญี่ปุ่นได้ประกาศในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ‘ในปีที่ 2 ที่เปิดให้บริการจะถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไร’ แต่ผลประกอบการในปี 2561 พบว่ามีรายได้รวม 89,393,318 บาท และขาดทุน 168,507,613 บาท

 

ต้องมาลุ้นมาผลประกอบการในปี 2562 ของบริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะประกาศช่วงกลางปี 2563 จะพลิกกลับมามี ‘กำไร’ ได้หรือไม่?

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X