×

‘อีสาน’ จากพื้นที่ยากจน สู่เมืองแห่งโอกาส กับ 3 สิ่งที่ต้องทำเพื่อปลดล็อกศักยภาพ

05.07.2025
  • LOADING...
อีสาน

“เคล็ดลับความสำเร็จของการพัฒนาประเทศไทยอยู่ที่นี่”

 

คำกล่าวเปิดประเด็นของ Melinda Good, World Bank Division Director for Thailand and Myanmar บนเวที Unlocking Isan’s Potential in a Changing Economy ปลดล็อกอีสาน พลิกโอกาสเศรษฐกิจใหม่ ฉบับ World Bank ภายในงาน The Secret Sauce Business Weekend อีสาน 2025 ที่จังหวัดขอนแก่น สะท้อนไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ นักลงทุน และคนรุ่นใหม่ที่เธอมองว่าเป็นผู้กำหนดอนาคตของภูมิภาคนี้และประเทศไทย

 

เมื่อ 20 ปีก่อน รายงานของธนาคารโลกฉบับหนึ่งได้ฉายภาพ ‘ภาคอีสาน’ หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ค่อนข้างมืดมน เป็นภูมิภาคที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มีความยากจนสูง และการลงทุนต่ำมาก แต่ภาพที่เราเห็นในวันนี้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง อีสานได้เปลี่ยนผ่านจาก ‘พื้นที่แห่งความยากจน’ กลายเป็น ‘ดินแดนแห่งโอกาส’ ที่เต็มไปด้วยพลวัต

 

แต่ท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี AI และสภาพภูมิอากาศ คำถามสำคัญคือ อีสานจะปลดล็อกศักยภาพมหาศาลที่มีอยู่ เพื่อก้าวไปสู่บทต่อไปของการเติบโตได้อย่างไร?

 

จากความยากจนสู่ศูนย์กลางแห่งใหม่ของภูมิภาค: การเดินทาง 20 ปีของอีสาน

ภาพของอีสานในวันนี้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเทียบกับ 2 ทศวรรษก่อน Melinda บอกว่า จากอัตราความยากจนที่สูงถึง 17% หรือเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรในอดีต ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 4% GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า สะท้อนว่าประชากรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

เมืองใหญ่อย่าง ขอนแก่น, โคราช, อุดรธานี และอุบลราชธานี ได้กลายเป็นฮับของภูมิภาคอย่างแท้จริง มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่าง 5G ที่ครอบคลุม และการเชื่อมต่อทางกายภาพทั้งถนนและทางรถไฟที่เชื่อมต่อไปยังโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) GMS และจีน ทำให้เกิดระบบนิเวศโลจิสติกส์และการค้าชายแดนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

 

และที่สำคัญที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของ ‘คน’

 

“เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว อีสานเป็นประตูสู่การย้ายถิ่นฐานของแรงงานเป็นหลัก คนหนุ่มสาวกำลังย้ายออกไปทำงานที่มีผลิตภาพและค่าแรงต่ำ แต่ปัจจุบันภูมิภาคนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา เป็นแม่เหล็กดึงดูดแนวคิดใหม่ๆ และการลงทุน” Melinda กล่าว

 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนักศึกษามากกว่า 40,000 คน และมีหลักสูตรนานาชาติถึง 57 หลักสูตร นี่คือภาพสะท้อนว่าอีสานไม่ได้เป็นแค่แหล่งแรงงานอีกต่อไป แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะและดึงดูดผู้มีความสามารถ (Talent) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและ AI

 

3 สิ่งที่ต้องทำเพื่อปลดล็อกศักยภาพอีสานสู่การเติบโตขั้นต่อไป

“สิ่งที่พาเรามาถึงจุดนี้ จะไม่ได้พาเราไปสู่ก้าวต่อไป” Melinda ย้ำ “โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รูปแบบการเติบโตในอดีตที่พึ่งพาเกษตรกรรมพื้นฐาน, บริการมูลค่าต่ำ และการย้ายถิ่นฐาน จะไม่สามารถขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตได้อีกต่อไป”

 

ธนาคารโลกได้นำเสนอแนวคิด ‘4 การเปลี่ยนผ่าน’ (Four Transitions) ที่กำลังกิดขึ้นกับประเทศไทย

 

  1. จากเกษตรกรรมพื้นฐานไปสู่อุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพมากขึ้น
  2. จากเศรษฐกิจชนบทไปสู่เศรษฐกิจเมือง
  3. จากบริการค่าแรงต่ำไปสู่การจ้างงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น
  4. จากการมีธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่เป็นทางการจำนวนมากไปสู่การเติบโตของธุรกิจที่มีผลิตภาพมากขึ้น 

 

จากการเปลี่ยนแปลง 4 ด้านที่กำลังเกิดขึ้น สำหรับอีสานที่ต้องการจะพัฒนาต่อไปอีกขั้น การส่งเสริมเมืองที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยในด้านการลงทุน การจ้างงาน และนวัตกรรม อีสานต้องสร้างเมืองที่สามารถทำได้อย่างน้อย 3 สิ่ง

  1. จัดการกับความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นได้ คุณดึงดูดผู้มีความสามารถ แต่คุณต้องพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ สร้างสรรค์ และสามารถแข่งขันได้
  2. หาวิธีลดระยะทาง ทำให้ผู้คนเดินทางไปทำงานได้ง่ายขึ้น ทำให้บริษัทนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น ทำให้บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น
  3. ดึงดูดผู้มีความสามารถและการลงทุนโดยมีกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์ ค่าแรงสูง และครอบคลุม 
 

พลิกโฉมเศรษฐกิจฐานรากสู่ ‘อุตสาหกรรมมูลค่าสูง’

เป้าหมายไม่ใช่การละทิ้งเกษตรกรรมซึ่งเป็นรากฐานที่แข็งแกร่ง แต่คือ ‘การเพิ่มมูลค่า’ ให้กับมัน อีสานมีศักยภาพมหาศาลในการเป็นผู้นำด้านการแปรรูปทางการเกษตร (Agro-processing), โลจิสติกส์, โปรตีนจากพืช, พลังงานสะอาด, เกษตรอัจฉริยะ และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech)

 

ขณะเดียวกัน ต้องสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ธุรกิจขนาดเล็กและไม่เป็นทางการ (Informal Sector) ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคอีสาน สามารถเติบโตและเข้าสู่ระบบ (Formalize) ได้ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงเทคโนโลยี, แหล่งเงินทุน และตลาดส่งออก ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานที่มีคุณภาพและผลิตภาพที่สูงขึ้น

 

ขณะเดียวกันเมืองคือกลไกขับเคลื่อนโอกาสในยุคใหม่ แต่การจะดึงดูดผู้มีความสามารถ (Talent) และการลงทุนได้นั้น เมืองต้องมี 3 สิ่งสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม, เมืองที่น่าอยู่ และเชื่อมโยงการศึกษากับอุตสาหกรรม

 

และกุญแจสำคัญที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง คือ ‘การให้อำนาจแก่เมือง’ รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องมีอำนาจหน้าที่ (Authority), ขีดความสามารถ (Capacity) และที่สำคัญที่สุดคือ เครื่องมือทางการเงิน (Financial Tools) ที่จะสามารถระดมการลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้

 

“นี่ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่เป็นการเสริมสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ โดยสิ้นเชิง” Melinda ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างโมเดลทางการเงินใหม่ๆ เช่น แพลตฟอร์มเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Platform) ที่รวบรวมการลงทุนจากหลายแหล่ง หรือโครงการพัฒนาที่เน้นการขนส่งสาธารณะ (Transit-Oriented Development) ซึ่งมีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุน

 

Melinda ทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่า อีสานใหม่กำลังจะเกิดขึ้น และอยู่ในจุดที่พร้อมจะสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจขึ้นไปทางเหนือเชื่อมต่อกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ในขณะที่รูปแบบการค้าของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง โลกยังคงก้าวไปข้างหน้า ดังนั้น การมีความตื่นตัวและแนวคิดที่รอบคอบในการก้าวไปข้างหน้าของอีสานเพื่อหลุดพ้นจากรูปแบบในอดีตจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง”

 

โอกาสสำคัญกำลังจะมาถึง เมื่อธนาคารโลกและ IMF จะมาจัดการประชุมประจำปีที่ประเทศไทยในปี 2026 ซึ่งเปรียบเสมือนโอลิมปิกทางเศรษฐกิจ และจะเป็นเวทีสำคัญที่เรื่องราวของอีสานในฐานะขั้วการเติบโตแห่งใหม่ของภูมิภาคจะถูกบอกเล่าสู่สายตาชาวโลก นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่อีสานต้องคว้าโอกาสไว้ เพื่อสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองและยั่งยืนอย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising