เข้าสู่กลางปีเศรษฐกิจของไทยยังคงไม่ฟื้น เผชิญสารพัดปัจจัยรอบด้านทั้งภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า! ส่งผลให้ภาคเอกชนโดย กกร. ยังคงกรอบ GDP โต 2.2-2.7% พร้อมทั้งส่งสัญญาณถึงรัฐบาลให้ ‘รักษาเสถียรภาพทางการเมือง’ เร่งยกเครื่องปรับ ‘โครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจไทย’ โดยด่วน
เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับเศรษฐกิจไทย…?
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. มีมติคงประมาณการเศรษฐกิจไทยเติบโตทั้งปีที่ 2.2-2.7% การส่งออก 0.5-1.5% และเงินเฟ้อ 0.5-1.0%
“เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า”
โดยเฉพาะเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 1 ที่เติบโตเพียง 1.5% ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนจากการหดตัวของการส่งออกจากการค้าโลก และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังคงชะลอตัว
อีกทั้งระยะข้างหน้าเศรษฐกิจจะเผชิญกับข้อจำกัด
- การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าตามการค้าโลกที่ชะลอตัว
- สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเอลนีโญ (ฝนแล้ง) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง
- การใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
ภูมิรัฐศาสตร์สะเทือนถึงไทย
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ระบุอีกว่า การค้าโลกและปริมาณการส่งออกชะลอตัวชัดขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่เคย ‘โดดเด่น’ ก็ไม่เฉิดฉายเหมือนเดิม นอกจากจะฟื้นตัวได้ช้า ความเข้มข้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Trade War) กลับมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะกรณีที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษี โดยเพิ่มอัตราภาษีสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงโซลาร์เซลล์และกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ยา ที่เด่นชัดสุดและมีผลกับไทยและอาเซียนคือ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ที่เพิ่มภาษีจากเดิมที่ 27.5% เป็นกว่า 102.5%
“แม้สินค้าเหล่านี้มีกำหนดบังคับใช้ภายในปีนี้หรือปีหน้า แต่กลับเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลก รวมถึงภาคการผลิตและการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตลาดในกลุ่มอาเซียน สหรัฐฯ มองว่าจีนจะใช้จังหวะนี้เป็นฐานการผลิต”
ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขย่าการค้าโลก ‘อย่างมีนัยสำคัญ’
เกรียงไกรฉายภาพอีกว่า ไม่ว่าจะเป็น โจ ไบเดน หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี คว้าชัยชนะเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ ก็มีผลต่อการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากมองนโยบายของทรัมป์เรื่องภาษี EV จะต่างจากโจ ไบเดน ก็มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นเป็น 200% ทำให้จีนต้องเร่งหาตลาดใหม่
และอาจมองมาที่ตลาดเอเชียมากขึ้น หรืออาจขยายฐานการผลิตไปประเทศในภูมิภาคเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้ก็จะเห็นข่าวกันแล้วว่า ผู้ผลิตรถ EV จีนไปตั้งโรงงานผลิตที่เม็กซิโก ส่วนในตลาดยุโรปก็หันไปขยายฐานการผลิตในประเทศฮังการี เพื่อตั้งเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของยุโรปโดยเฉพาะ” เกรียงไกรกล่าว
อุตสาหกรรมไทยหมดเสน่ห์ โอกาสไปอยู่ที่เพื่อนบ้านอาเซียน
ดังนั้นเมื่อภาคการส่งออกสินค้าอยู่ในสภาวะชะลอตัว จากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการส่งออกสินค้าของไทย
ที่สำคัญสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเป็นสินค้าล้าสมัย และไม่ได้เป็นที่นิยมของตลาดโลกอีกต่อไป อาทิ รถยนต์สันดาปที่ยอดขายปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยรถกระบะยอดขายลดลงถึง 42% ท้ายที่สุดยอดขายพ่ายแพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
“วันนี้อุตสาหกรรมไทยกำลังจะเสียตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก (Detroit of Asia) ไปแล้ว จากการเข้ามาของอุตสาหกรรม EV จีน ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งประเทศอย่างจริงจังให้ทันเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่ของโลก”
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนก็เตรียมแผนงานเพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหวังว่าภาครัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย และให้เงินทุนสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้
ทั้งนี้ ปัจจัยดังที่กล่าวมานั้นยังไม่รวมปัจจัยกดดันจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น 2 เท่า จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กำลังเริ่มขึ้นอีก มาตรการกีดกันทางการค้า CBAM รวมถึงการคงดอกเบี้ยและอาจปรับขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ
“ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการรักษาการเติบโตของตัวเลขส่งออกที่เป้า 0.5-1.0% ให้ได้ จะต้องรักษาการส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 23,964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งท้าทายมากเพราะไทยต้องจับตาอีกหลายปัจจัยอย่างมากทีเดียว”
โรงงานแห่ปิดตัวเกือบ 1,700 แห่ง ดึง FDI ไทยไหลสู่เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
โดยเฉพาะเมื่อลงลึกถึงกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจไทยเวลานี้น่าห่วงอย่างมาก เพราะขณะนี้โรงงานปิดตัวแล้วมากกว่า 1,600-1,700 แห่ง โดยเป็นทั้งโรงงานที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และสายการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าลดลง เนื่องจากสินค้าไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไปแล้ว รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร SMEs อิเล็กทรอนิกส์ ที่ปิดตัวลงไปเยอะมาก
เมื่อบวกกับกำลังซื้อ เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้กำลังการบริโภคในประเทศลดลง ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เร็วๆ นี้ กกร. กำลังจะทบทวนสมุดปกขาวที่เคยเสนอรัฐบาลเมื่อไตรมาส 4 ปี 2666 มาพิจารณาใหม่
“หากถามถึงสาเหตุหลักๆ ของการปิดโรงงานมากกว่า 1,600-1,700 แห่ง ส่วนหนึ่งมาจากการย้ายฐานการผลิตของจีน หรือรวมการผลิตกับส่วนอื่น อาจเรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของแต่ละประเทศ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค เป็นหนึ่งในการรักษาต้นทุนจากขนาด (Economy of Scale) ของจีนที่ต้องการระบายสินค้า”
EEC เงียบ หอการค้าจี้รัฐปลุกฟื้นลงทุน
เกรียงไกรบอกอีกว่า ไทยเคยมีจุดแข็งอุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชน แต่การลงทุนในประเทศ (Foreign Direct Investment) หรือ FDI วันนี้เราแพ้ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย 21.7 พันล้านดอลลาร์ เวียดนาม 18.5 พันล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ 6.3 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่ไทย 2.97 พันล้านดอลลาร์
ดังนั้นตอนนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือ ‘การปรับโครงสร้างการผลิตเศรษฐกิจไทย’ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Smart Electronics เป็นการปรับพอร์ตการลงทุนทั้งหมดเพื่อกระตุ้นขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยโดยด่วน เพราะขณะนี้ดัชนีอุตสาหกรรมติดลบต่อเนื่องถึง 18 เดือน เกรียงไกรย้ำ
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า รัฐบาลต้องกระตุ้นการลงทุนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เร่งปลดล็อกกฎหมายที่ทับซ้อนกันระหว่างกฎระเบียบการลงทุนของ EEC และ BOI
หวังรัฐบาลรักษาบรรยากาศทางการเมือง อัดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ
เวลานี้รัฐบาลต้องรักษาเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การประชุม ครม. เศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นถือว่าดี ที่มีทั้งมาตรการเพิ่มการท่องเที่ยวช่วงฤดูนอกท่องเที่ยว (Low Season) ที่เชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ
รวมถึงการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาทที่เตรียมนำเสนอ ครม. นั้น จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภค และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวและเข้ามาอยู่ในระบบ อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะวันนี้ภาค SMEs ล้มไปเยอะมาก
เกรียงไกรทิ้งท้ายว่า สัญญาณอันตรายที่มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซียแซงหน้าไทยไปในหลายๆ ด้าน ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลต้องเร่ง ‘ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย’ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เร็วขึ้น