×

ความยุติธรรมมีอยู่แค่ในละครจริงไหม? ชวนดู Stranger, Doctor Prisoner, Itaewon Class ซีรีส์ตีแผ่อำนาจมืดที่สุดท้ายแล้วธรรมะย่อมชนะอธรรม

14.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ

 

  • ซีรีส์เกาหลีที่มีจุดเด่นในการถ่ายทอดคดีสืบสวนสอบสวน การนำเสนอคติเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ ที่สุดท้าย ‘คนทำผิดต้องได้รับโทษ’ สะท้อนผ่านซีรีส์แทบทุกเรื่อง ส่วนหนึ่งก็เป็นการใช้วัฒนธรรมปรับรูปร่างสังคมเพื่อให้คนรุ่นหลังยึดโยงอยู่กับทัศนคตินี้ และช่วงพยุงไม่ให้ความเชื่อผิดๆ ทำให้สังคมทรุดโทรมลงไปกว่าที่เป็นอยู่
  • Stranger (2017, 2020) พูดถึงการต่อสู้กับอำนาจมืดและผู้มีอิทธิพลโดยการใช้กฎหมายเข้าสู้, Itaewon Class (2020) ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่ย่อท้อ และ Doctor Prisoner (2019) การตอบโต้แบบร้ายมาร้ายกลับ ก็ต่างเป็นซีรีส์ผดุงความยุติธรรมที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ผ่านตัวละครที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อล้มล้างความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น

 

 

คำพูดที่ว่า ‘คนทำชั่วได้ดีมีถมไป’ หรือ ‘คนรวยเท่านั้นที่จะได้รับโอกาสดีๆ ในสังคม’ เหล่านี้ เราได้เห็นปะปนในหน้าข่าวมานานแสนนาน และกระทั่งหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังคงท้าทายคำพูดดังกล่าวว่า สุดท้ายแล้วอำนาจและเงินตรา คือสิ่งที่นำพาคนชั่วให้พ้นผิดได้จริงหรือไม่

 

ทุกสังคมต่างมีกรอบระเบียบให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง และทุกสังคมเช่นกันที่มีการแหกกฎและกรอบต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง นั่นจึงทำให้ต้องมีการสร้างกระบวนการยุติธรรม และมีผู้ผดุงความยุติธรรมขึ้นมา เช่นเดียวกับโลกซีรีส์เกาหลีที่มีจุดเด่นในการถ่ายทอดคดีสืบสวนสอบสวน การนำเสนอคติเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ ที่สุดท้าย ‘คนทำผิดต้องได้รับโทษ’ สะท้อนผ่านซีรีส์แทบทุกเรื่อง ส่วนหนึ่งก็เป็นการใช้วัฒนธรรมปรับรูปร่างสังคมเพื่อให้คนรุ่นหลังยึดโยงอยู่กับทัศนคตินี้ และช่วงพยุงไม่ให้ความเชื่อผิดๆ ทำให้สังคมทรุดโทรมลงไปกว่าที่เป็นอยู่

 

โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลี 3 เรื่อง Stranger (2017, 2020) ที่พูดถึงการต่อสู้กับอำนาจมืดและผู้มีอิทธิพลโดยการใช้กฎหมายเข้าสู้, Itaewon Class (2020) ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่ย่อท้อ และ Doctor Prisoner (2019) การตอบโต้แบบร้ายมาร้ายกลับ ก็ต่างเป็นซีรีส์ผดุงความยุติธรรมที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ผ่านตัวละครที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อล้มล้างความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น

 


**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์**

 

Stranger (SS1 -2017, SS2 -2020)

Stranger ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย โดยเฉพาะจากเวทีใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง Baeksang Arts Awards ที่คว้าไปได้ถึง 3 รางวัล (แดซัง, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และบทซีรีส์ยอดเยี่ยม) ยิ่งไปกว่านั้น The New York Times ยังเคยให้ความเห็นว่า Stranger คือ ‘Best TV Shows of 2017’ 

 

นี่คือซีรีส์สืบสวนชั้นเยี่ยมที่บอกได้เลยว่าใครไม่เคยดูถือว่าพลาด ด้วยบทที่วางโครงเรื่องมาเป็นอย่างดี สนุก ซับซ้อน ชวนติดตาม ทั้งยังเดินเรื่องกระชับฉับไว ซีซันแรกได้รับความนิยมจนมีการสร้างซีซันสองที่จะเข้าฉายวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ว่าด้วยเรื่องการเปิดโปงเครือข่ายคอร์รัปชันที่มีจุดเริ่มต้นจากการทุจริตของเหล่าอัยการ นักการเมือง ตำรวจ ซึ่งควรเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมเสียเอง ความน่าสนใจคือประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าจิตใจมนุษย์นั้นเอนเอียงได้ และแม้จะเป็นผู้รักษากฎหมายก็ยืนอยู่บนความเอนเอียงที่ว่านี้ได้เช่นกัน


ผู้ผดุงความยุติธรรม: อัยการฮวังชีมก (โชซึงอู) และฮันยอจิน (แบดูนา)

อัยการฮวังชีมกมีบุคลิกที่ดูเยือกเย็นและไร้ความรู้สึก ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่าตัดกลีบสมองส่วนอินซูลาในวัยเด็ก เขาถูกมอบหมายให้ดูแลคดีฆาตกรรมของประธานบริษัทก่อสร้างที่ธุรกิจล้มละลาย โดยฮวังชีมกได้ทำงานร่วมกับ ฮันยอจิน (แบดูนา) ตำรวจสายสืบช่างสงสัยที่มักตั้งคำถามกับทุกสิ่ง และไม่ยอมปล่อยผ่านอะไรไปง่ายๆ ทั้งคู่ช่วยกันสืบจนพบว่านี่ไม่ใช่แค่คดีฆาตกรรมธรรมดาๆ แต่มันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการคอร์รัปชันที่เกี่ยวพันในหลากหลายวงการ 

 

และด้วยบุคลิกของฮวังชีมกนี่เองที่นำไปสู่การค้นหาความจริงโดยไม่มีตัวแปรที่ทำให้อ่อนไหวต่อการตัดสินใจ บวกกับการที่ได้มาสืบคดีร่วมกับตำรวจสาวที่กัดไม่ปล่อยอย่างฮันยอจินด้วยแล้ว ทำให้คนดูได้ค้นพบว่าต่อให้ต้องเจอกับอำนาจมืดที่อาจจะกลืนกินอุดมการณ์ได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าเรายึดมั่นในความถูกต้องและจรรยาบรรณของวิชาชีพ สุดท้ายอำนาจมืดเหล่านั้นจะต้องพ่ายแพ้ในสักวันหนึ่ง ซีรีส์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความหวังว่าในโลกนี้จะยังมีคนดีๆ ที่ยึดมั่นในหน้าที่และอุดมการณ์อย่างไม่ย่อท้ออยู่ในสังคมอย่างแน่นอน

 

ตัวแปรสำคัญ: อาการเจ็บป่วยในวัยเด็กที่ทำให้ฮวังชีมกต้องผ่าตัดกลีบสมองอินซูลา ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ความรู้สึก ทำให้เขาไม่มีอารมณ์แบบคนปกติ ซึ่งซีรีส์ทำให้เห็นว่าความรู้สึกของมนุษย์นั้นยืนอย่างหมิ่นเหม่ เพราะมันไม่ได้เที่ยงตรงกับความรู้สึกเท่าคอมพิวเตอร์ที่ไร้ชีวิตจิตใจ และการที่ฮวังชีมกไม่มี ‘ความรู้สึก’ ก็ทำให้เขากลายเป็นไม้บรรทัดในเรื่องนี้ที่เที่ยงตรงและไม่มีความรู้สึกเอนเอียงในเชิงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับใครก็ตาม 

 

มีฉากหนึ่งในซีรีส์ที่อาการในวัยเด็กเขากำเริบขึ้นมา ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ชวนให้เขา ‘มีความรู้สึก’ ทำให้สมองในส่วนนั้นพยายามกลับมาทำงานอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่า ‘ความรู้สึก’ ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการกระทำต่างๆ และกระทั่งคนทำผิดในซีรีส์เรื่องนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดความรู้สึกที่เขาทำลงไป ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง ทั้งนั้น

 

ความยุติธรรมจงบังเกิด: จากคดีฆาตกรรมเจ้าของบริษัทที่กำลังล้มละลาย กลายเป็นการขยายผลไปสู่กระบวนการทุจริตระดับชาติ ที่สุดท้ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับความผิดก็ได้รับบทลงโทษในที่สุด 

 

 

Doctor Prisoner (2019)
Doctor Prisoner ซีรีส์การแพทย์ที่ฉีกขนบจากเรื่องอื่นๆ ด้วยความที่อาชีพแพทย์เป็นเหมือนแสงสว่างแห่งความหวังของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา แต่เรื่องนี้กลับเดินเรื่องด้วยโทนมืดทึมเทาตามเนื้อหาที่เข้มข้น เมื่อนายแพทย์ฝีมือดีคนหนึ่งต้องถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลและติดคุก เพราะผลประโยชน์ของคนบางคน การแก้แค้นจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการตัดสินใจใช้ความรู้ที่มีมาประกอบกับช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเอาชนะอำนาจมืด เกิดเป็นซีรีส์ที่เหล่าตัวละครต่างหักเหลี่ยมเฉือนคมอย่างดุเดือดจนได้ใจผู้ชมตั้งแต่ออกอากาศในสัปดาห์แรก

ผู้ผดุงความยุติธรรม: นาอีเจ

นาอีเจ (นัมกุงมิน) ศัลยแพทย์ทรวงอกแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลแทกัง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลที่ช่วยเหลือนักโทษผู้มีอิทธิพล ด้วยการออกใบรับรองแพทย์ปลอมเพื่อแลกกับผลประโยชน์ จนแล้วจนรอดก็กลับกลายเป็นนาอีเจที่ตกอยู่ในเกมการเมืองครั้งนี้ เพราะบังเอิญไปขัดขา อีแจฮวาน (พัคอึนซอก) ลูกชายเจ้าของโรงพยาบาล ส่งผลให้คนไข้ที่เขาดูแลต้องเสียชีวิต ซึ่งกลายเป็นช่องทางให้อีแจฮวานได้แก้แค้น นาอีเจถูกถอดใบประกอบวิชาชีพและต้องเข้าคุกด้วยความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ อีกทั้งแม่ของเขาที่นอนรอการผ่าตัดอยู่ที่โรงพยาบาลก็ยังมาเสียชีวิตไปอีก ทำให้ความแค้นของนาอีเจเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

 

นาอีเจใช้เวลาตลอด 3 ปีที่อยู่ในคุกวางแผนแก้แค้นอย่างรัดกุม และเมื่อวันที่เขาได้รับอิสรภาพก็เป็นเวลาเดียวกับที่อีแจฮวานถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหายาเสพติดเช่นเดียวกัน เขาเริ่มต้นแผนแก้แค้นด้วยการช่วยเหลือนักโทษ โอจองฮี (คิมจองนัม) โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์ที่มีทำให้ร่างกายของเธอป่วยเพื่อขอให้ศาลระงับโทษชั่วคราว แลกกับการให้โอจองฮีใช้เส้นสายนำพาเขาไปสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการแพทย์ในเรือนจำ ซึ่งการแก้แค้นแบบถึงพริกถึงขิงก็เริ่มต้นขึ้นแบบที่เรียกได้ว่าแทบไม่มีจังหวะให้ผ่อนคลายอีกเลยตั้งแต่ต้นจนจบ

 

Doctor Prisoner เรียกได้ว่าเป็นผลงานการแสดงชิ้นมาสเตอร์พีซของนัมกุงมิน เพราะการแสดงที่ดูเหมือนเรียบนิ่ง แต่ด้วยคำพูดและสายตาที่ต้องแสดงออกถึงอารมณ์ที่พลุ่งพล่านอยู่ภายในตลอดเวลา ทำให้แม้คาแรกเตอร์นาอีเจจะไม่ใช่คนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คนดูก็ยังเอาใจช่วยให้เขาถอนรากถอนโคนความเลวร้ายของผู้มีอิทธิพลได้สำเร็จ

 

ตัวแปรสำคัญ: ซีรีส์เรื่องนี้เริ่มต้นยืนอยู่บนความถูกต้องของนายแพทย์นาอีเจ ที่ทุ่มเทเพื่อให้คนไข้ทุกคนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม แต่เมื่ออุดมการณ์ที่ยึดมั่นถูกหักล้าง กระทั่งรุ่นพี่ที่เคารพก็ยังขอให้เขายอมตามน้ำจนชีวิตนาอีเจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ นาอีเจจึงเก็บความโกรธแค้นกลายเป็นพลังที่จะทำลายระบบอันน่ารังเกียจนี้ด้วยตัวเอง ตัวแปรสำคัญคือการที่นาอีเจมีผู้สนับสนุนคอยช่วยเหลือ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคนที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อน แต่เมื่อก้าวข้ามความแค้นส่วนตัวทั้งมวล จะเห็นว่าสิ่งที่นาอีเจและพันธมิตรพยายามต่อสู้ คือสิ่งที่ควรเป็นในครรลองสังคม คือคนทำผิดได้รับโทษทางกฎหมายก็ควรรับโทษ ไม่ใช่หลบหนีออกไปได้ด้วยช่องโหว่ หรือการใช้อำนาจในทางมิชอบ

 

กระนั้นสิ่งที่นาอีเจทำ ก็ยังเป็นการตั้งคำถามย้อนกลับมายังคนดูเช่นกัน ว่ามันไม่ใช่เรื่องถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ และการที่ตัวละครบอกว่า “เราต้องยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อทำให้ปัญหาใหญ่ได้รับการแก้ไข” ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ท้าทายคำว่า ‘ยุติธรรม’ ที่มีนิยามแตกต่างกันไปในความคิดของแต่ละบุคคล

 

ความยุติธรรมจงบังเกิด: แพทย์หนุ่มฝีมือดีอุดมการณ์หนักแน่น รับรู้ถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการที่เกิดขึ้นของโรงพยาบาลที่ตนสังกัดอยู่ ในที่สุด เมื่อไม่โอนอ่อนไปตามนั้น เขาจึงถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจจนต้องติดคุกและไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ทั้งยังเสียแม่ไปจากเหตุการณ์นี้ ความแค้นกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขายังมีชีวิตต่อไปเพื่อทำให้ระบบการแพทย์ที่โปร่งใสเกิดขึ้นให้ได้ และสุดท้ายก็มีคนที่เคยเจ็บปวดไม่ต่างกันมาช่วยสนับสนุน ทั้งยังทำให้คนชั่วได้รับโทษจริงอย่างที่ต้องปรบมือให้ในความทุ่มเท 

 

 

Itaewon Class (2020)

Itaewon Class ถือเป็นซีรีส์ที่ได้รับกระแสตอบรับแง่ดีแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรตติ้งทั้งในและนอกประเทศ โดยสามารถทำเรตติ้งในตอนสุดท้ายได้สูงถึง 16.548% ขึ้นแท่นเป็นซีรีส์อันดับ 3 ที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่อง JTBC (รองจาก A World of Married Couple และ SKY Castle) บทซีรีส์ที่สร้างพลังใจให้คนดู เหล่านักแสดงที่โชว์ศักยภาพกันอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถสร้างไวรัลด้วยเมนูอาหารเด่นในเรื่อง รวมไปถึงทรงผมหัวเกาลัดของตัวละครหลักอย่างพัคแซรอยที่กลายเป็นเทรนด์ฮิตในช่วงเวลานั้น

 

Itaewon Class นำเสนอในประเด็นของความหลากหลาย และยังเจาะลึกไปถึงเรื่องราวของตัวละครหลักที่ทำธุรกิจโดยเริ่มต้นจากศูนย์จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมาจากความมุ่งมั่นอย่างที่สุด และยืนหยัดอยู่บนความเชื่อมั่นในสิ่งที่ลูกผู้ชายควรเป็น

 

ผู้ผดุงความยุติธรรม: พัคแซรอย

พัคแซรอย (พัคซอจุน) นักเรียนมัธยมฯ ปลายผู้มีนิสัยรักความถูกต้อง ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใครง่ายๆ กระทั่งไปมีเรื่องกับ ชางกึนวอน (อันโบฮยอน) ลูกชายเจ้าของบริษัทชางกา ธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศ และยังเป็นเจ้านายของพ่ออีกด้วย นับจากนั้นชีวิตของพัคแซรอยก็เริ่มพังไม่เป็นท่า เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียน พ่อของเขาถูกชางกึนวอนขับรถชนแล้วหนี และพัคแซรอยต้องติดคุกอยู่หลายปี ซึ่งช่วงนี้เองที่เขาได้ใช้เวลากับตัวเองเพื่อเรียนรู้ ไตร่ตรอง และคิดหาวิธีแก้แค้นเพื่อล้มยักษ์อย่างชางกาให้ได้ จนเมื่อได้รับอิสรภาพ พัคแซรอยเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปิดร้านอาหารเล็กๆ ในอีแทวอนพร้อมๆ กับเป้าหมายในใจ แต่เรื่องราวกลับไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะยักษ์ใหญ่อย่างชางกาก็ยังคงหาทางกำจัดคู่แข่งไม่ให้ขึ้นมาเทียบชั้นได้ ทำให้เขาต้องแข่งขันชิงไหวชิงพริบทางธุรกิจกันแบบหมัดต่อหมัด

 

ตัวแปรสำคัญ

ความเป็นลูกผู้ชาย การยืนอยู่บนสิ่งที่เชื่อมั่น และไม่ยอมแพ้ คือคติประจำใจที่เขามุ่งมั่นและยึดมั่นมาโดยตลอด และการมีผู้สนับสนุนอย่าง โชจีซอ โอซูอา รวมถึงทีมงานในร้านทันบัมก็ทำให้การต่อสู้ของเขาไม่โดดเดี่ยวเกินไปนัก 

 

ซีรีส์สะท้อนให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบของตัวละคร ทั้งชางกึนซู ลูกนอกสมรสของประธานชางกาที่กลัวพ่อไม่รัก, ชเวซึงควอน อดีตคนคุกที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมีชีวิตที่ดีอย่างคนปกติได้, มาฮยอนฮี เชฟทรานส์เจนเดอร์ที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมเกาหลี, โทนี่ คนเกาหลีที่รูปลักษณ์ภายนอกเป็นชาวต่างชาติผิวสี หรือแม้แต่ตัวเอกอีกคนหนึ่งของเรื่องอย่าง โชอีซอ ที่แม้จะเป็นที่นิยมในโลกโซเชียล แต่ในโลกชีวิตจริงกลับล้มเหลวเพราะมีบุคลิกต่อต้านสังคม เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น ตัวละครรายล้อมพัคแซรอยเหล่านี้ ทำให้เห็นว่าเราทุกคนนั้นต่างมีข้อด้อย เพียงแต่เราต้องยอมรับมันไว้ และไม่ติดกับดักว่าข้อด้อยนั้นจะส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตได้หรือไม่ต่างหาก

นอกจากนี้ Itaewon Class ยังแสดงให้เราได้เห็นว่า ‘ความแค้น’ เปลี่ยนให้เป็นพลังได้ และพลังนั้นจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาตัวเอง และต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา ความสำเร็จใดๆ เกิดขึ้นได้ แม้ว่าชีวิตของคุณจะเริ่มต้นจากศูนย์หรือกระทั่งติดลบก็ตาม

ความยุติธรรมจงบังเกิด: ซีรีส์ย้อนให้เห็นถึงวัยเด็กของ ชางกึนวอน คู่แค้นของพัคแซรอย ในวันที่ประธานชางกาพ่อของเขาบีบบังคับให้เขาฆ่าไก่ การฝึกฆ่าคือการฝึกให้ลูกชายไร้หัวใจและกล้าตัดสินใจทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดและผลประโยชน์ของตัวเอง แม้ว่าจะมีบางช่วงขณะที่ชางกึนวอนดูเหมือนจะรู้สึกผิดจากการกระทำอันเลวร้ายของตัวเองขึ้นมา แต่เขายังคงเดินทางไปบนความผิดซ้ำซาก และสุดท้ายความผิดจากคดีขับรถชนคนตายก็กลับมาให้เขาชดใช้กรรม เมื่อหลักฐานที่ถูกปกปิดเอาไว้ได้รับการเปิดโปงสู่สาธารณะ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X