×

10 เรื่องต้องรู้ เหตุตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน อ่านครบจบที่เดียว!

โดย THE STANDARD TEAM
08.01.2020
  • LOADING...

จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่เริ่มต้นจากการเสียชีวิตของ พล.ต. กัสเซม โซเลมานี ผู้บัญชาการคนสำคัญของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) สู่ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่คนทั่วโลกกังวลว่าอาจลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3

 

ภายใต้ความขัดแย้งครั้งนี้มีอะไรที่เราควรรู้บ้าง THE STANDARD ลิสต์คำถามคาใจและหาคำตอบมารวมไว้ที่เดียวจบ! 

 

1. ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่

 

 

 

พล.ต. กัสเซม โซเลมานี ผู้บัญชาการคนสำคัญของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ถูกโดรนสหรัฐฯ โจมตีเสียชีวิตที่สนามบินแบกแดดในอิรักเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 ต่อมาผู้นำอิหร่านประกาศล้างแค้นและยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในอิรักเมื่อวันที่ 8 มกราคม ส่งผลให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดจนหลายฝ่ายวิตกว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้น

 

2. เหตุเกิดที่ไหน

 

 

 

สนามบินแบกแดด จุดที่นายพลอิหร่านถูกสังหาร

 

ฐานทัพอากาศเออร์บิลและอัล-อัสซาดที่ถูกอิหร่านโจมตีเพื่อแก้แค้น

 

3. ความขัดแย้งนี้กระทบเศรษฐกิจ-ตลาดการเงินอย่างไร

 

 

 

ชนวนความตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่านสร้างความกังวลไปทั่วโลก ทำให้ราคาทองคำโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี 

 

ราคาน้ำมันดิบโลกก็พุ่งขึ้น โดยหลังเกิดเหตุโจมตีฐานทัพอิรัก ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานขึ้น 5% แตะระดับ 71.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่สิ้นวันที่ 8 มกราคมจะลดลงมาที่ระดับ 68.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยทั่วโลกจับตามองการตอบโต้ของอิหร่านหากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ (การส่งออกผ่านช่องแคบนี้คิดเป็น 20% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก) ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลกที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตน้ำมันในระยะสั้น 

 

ขณะเดียวกันความขัดแย้งนี้ยังส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลง รวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคม SET Index ปิดตลาดในแดนลบที่ 1,594.97 จุด ลดลง 0.85 จุด และส่งผลต่อเนื่องถึงวันจันทร์ที่ 6 มกราคม SET Index ปิดตลาดที่ 1,568.50 จุด ลดลง 26.47 จุด จากนั้นวันที่ 8 มกราคม เหตุการณ์ยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอิรักกดดันตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดที่ระดับ 1,559.27 จุด ลดลง 25.96 จุด และส่งผลกระทบด้านลบต่อราคาหุ้นกลุ่มการแพทย์และกลุ่มขนส่ง แต่เป็นผลดีกับหุ้นกลุ่มพลังงาน 

 

4. เราต้องปรับตัวและรับมืออย่างไร

 

 

 

ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้นภายใต้ความเสี่ยงสูงขึ้น หลังอิหร่านและสหรัฐฯ ตอบโต้กันไปมา ดังนั้นจึงเห็นนักลงทุนบางส่วนลดสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ฯลฯ กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ พันธบัตร ฯลฯ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

 

ฝั่งนักวิเคราะห์จากธนาคารกรุงไทยมองว่าสถานการณ์ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะไทยไม่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากนัก สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือภาวะเศรษฐกิจโลก หากการค้าโลกหดตัวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยคือมีคำสั่งซื้อน้อยลง ด้านค่าเงินบาทคาดว่า 2 สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบที่ 30.15-30.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ายิ่งขึ้น

 

ขณะที่สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) มองว่าหากสถานการณ์อิหร่านและสหรัฐฯ ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ณ ไตรมาส 1 ของปี 2563 มีโอกาสที่ SET Index จะลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุดที่ 1,537 จุดได้ 

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส แนะนำกลยุทธ์ลงทุนช่วงนี้ ควรแบ่งเงินบางส่วนลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (เช่น ทองคำ ฯลฯ) และหุ้นปันผลสูง ภายใต้เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ มีปันผลเกิน 4% ต่อปี และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง เช่น PTT, BBL, KKP, DRT, DIF, MCS ฯลฯ 

 

 

 

5. จุดยืนนานาชาติ

 

 

 

จีน – แสดงจุดยืนพร้อมดำเนินบทบาทสร้างสรรค์ในการพิทักษ์สันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลาง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้นและหันหน้าเจรจา พร้อมย้ำว่าหากสหรัฐฯ-อิหร่านทำสงครามกันจะส่งผลเสียต่อจีนมากกว่าผลดี

 

รัสเซีย – ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการปลิดชีพโซเลมานี แต่จนถึงขณะนี้ (8 มกราคม) มอสโกยังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน

 

อิรัก – รัฐสภาลงมติให้รัฐบาลพิจารณานโยบายขับทหารสหรัฐฯ ออกไปจากประเทศ เพราะหวั่นเกรงว่าอิรักจะกลายเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน

 

NATO – ชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ประกาศยืนเคียงข้างสหรัฐฯ หลังโซเลมานีถูกสังหาร พร้อมเรียกร้องให้คลี่คลายความตึงเครียด และเตือนอิหร่านให้ยุติการใช้ความรุนแรงและยั่วยุ

 

อิสราเอล – ยืนเคียงข้างสหรัฐฯ พร้อมแสดงความกังวลว่าอิหร่านจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยืนกรานว่าอิสราเอลไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านในขณะนี้ และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

 

6. รัฐบาลไทยรับมืออย่างไร

 

 

ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่ามีคนไทยในอิหร่าน 200 คน และอิรัก 90 คน เบื้องต้นยังไม่ต้องอพยพ แต่มีแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน ขณะที่ บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในวันที่ 8 มกราคมว่าคนไทยในอิรักทุกคนยังคงปลอดภัยดี หลังเหตุการณ์กองทัพอิหร่านยิงขีปนาวุธเข้าฐานทัพอิรัก 

 

ด้านอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) แจ้งว่าได้ประสานไปยังสถานประกอบการด้านที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจสปา และสถานประกอบการอื่นๆ ที่มีแรงงานไทยเข้าไปทำงาน เพื่อตรวจเยี่ยมแรงงานไทยและประสานกับนายจ้างให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ รวมทั้งสำรวจความต้องการช่วยเหลือของแรงงานกรณีเหตุการณ์รุนแรงจนต้องอพยพคนงานกลับประเทศ

 

สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยทูตอิสราเอล อิหร่าน และสหรัฐฯ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (7 มกราคม) ว่าได้สั่งการดูแลสถานทูตและบ้านของทูตทั้งจากอิสราเอล อิหร่าน และสหรัฐฯ รวมถึงประชาชนในประเทศเหล่านี้ที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวายหรือเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย

 

ด้าน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 มกราคมว่าได้ทราบถึงความเปราะบางของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง จึงได้ลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากตะวันออกกลางที่ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซจาก 74% เหลือ 50% และเปลี่ยนไปสู่พื้นที่อื่นที่ไม่มีปัญหา รวมทั้งได้มีการเตรียมการผลิตน้ำมันดิบในประเทศให้มากและผลิตน้ำมันสำรองขึ้นมาใช้หากว่ามีปัญหา ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก และมั่นใจว่าไทยมีมาตรการรองรับไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรง แม้มีกระทบต่อตลาดหุ้น ค่าขนส่ง และค่าน้ำมันบ้าง 

 

ส่วนท่าทีของไทยต่อความขัดแย้งนั้น รัฐบาลย้ำว่าสหรัฐฯ ไทย และอิหร่าน เป็นมิตรที่ดีต่อกัน     

 

7. ตัวละครสำคัญในเหตุการณ์นี้เป็นใคร 

 

 

 

พล.ต. กัสเซม โซเลมานี – เป็นผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ หน่วยปฏิบัติการทหารพิเศษในต่างประเทศของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) จัดเป็นนายทหารคนสำคัญของอิหร่าน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่าโซเลมานีอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของทหารอเมริกันหลายคน และกำลังวางแผนโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในต่างประเทศ 

 

อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี – เป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งประกาศกร้าวว่าจะล้างแค้นให้กับการเสียชีวิตของโซเลมานี นอกจากนี้อิหร่านยังขู่โจมตีอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หากสหรัฐฯ ตอบโต้  

 

โดนัลด์ ทรัมป์ – เป็นผู้สั่งการให้กองทัพใช้โดรนปลิดชีพโซเลมานี โดยให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันตนเอง เพราะนายพลอิหร่านกำลังวางแผนโจมตีสหรัฐฯ  

 

8. จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

 

 

 

นักวิเคราะห์ไทยและเทศเห็นตรงกันว่าโอกาสเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 มีไม่มาก เพราะหนึ่งในเงื่อนไขการเกิดสงครามโลกต้องมีชาติพันธมิตร โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจเข้าร่วมด้วย แต่จีนมีนโยบายวางตัวเป็นกลาง ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่มีนโยบายทำสงครามในต่างแดน ขณะที่รัสเซียอาจดำเนินบทบาทช่วยไกล่เกลี่ยมากกว่า 

 

ส่วนการตอบโต้ของอิหร่านอาจจำกัดขอบเขตเป้าหมายอยู่ในฐานทัพของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ หรือมีลักษณะของสงครามตัวแทน

 

9. ทำไมทรัมป์เลือกโจมตีผู้นำทหารอิหร่านในเวลานี้ 

 

 

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมถึงนักวิเคราะห์ในต่างประเทศหลายคนมองว่าการที่ทรัมป์เลือกสั่งปลิดชีพนายพลอิหร่านเวลานี้อาจมีเจตนาแอบแฝงทางการเมืองเพื่อเบนความสนใจจากข่าวการถอดถอนประธานาธิบดีในสภาคองเกรส เนื่องจากปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

 

อีกหนึ่งเหตุผลที่นักวิเคราะห์มองว่าควรให้น้ำหนักก็คือปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในภาวะสูญเสียอิทธิพลให้กับอิหร่านในภูมิภาคนี้ ซึ่งคนที่มีบทบาทช่วยขยายอิทธิพลให้กับอิหร่านก็คือโซเลมานี 

 

10. ความขัดแย้งนี้จะจบลงตรงไหน

 

 

 

นักวิเคราะห์ของไทย จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านจะสงบลงในระยะ 2 สัปดาห์ และไม่พัฒนาเป็นสงครามโลก ส่วนหนึ่งเพราะสหรัฐฯ อาจจุดประกายการลอบสังหารผู้บัญชาการของอิหร่านเพราะแรงจูงใจทางการเมือง ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลดีจากการโจมตี โอกาสที่จะสร้างปมความขัดแย้งเพิ่มเติมยังเป็นไปได้ยาก 

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างชาติคาดการณ์ว่าสถานการณ์นี้อาจยืดเยื้อหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็ได้ โดย จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ มองว่าจากความไม่แน่นอนกรณีสหรัฐฯ-อิหร่านอาจทำให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นอีกครั้งและยืนเหนือ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระยะสั้น ขณะที่ระยะยาวราคาทองคำยังเป็นยังเป็นขาลง และในอนาคตมีโอกาสลดลงไปถึง 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่เติบโตมากนัก จากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ทำให้บรรยากาศการค้าโลกลดลง และส่งผลให้กำลังซื้อทองคำลดลงด้วย

 

ในด้านการเมืองระหว่างประเทศนั้น ดร.มาโนชญ์ มองว่า ตราบใดที่สหรัฐฯ หรืออิหร่านไม่โจมตีถึงแผ่นดินของฝ่ายตรงข้าม โอกาสเกิดสงครามใหญ่ก็ยังมีไม่มาก แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามตัวแทนในประเทศที่ 3 ที่ยืดเยื้อ ดังนั้นจึงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความผันผวนจนยากจะคาดเดา

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X