×

อิหร่านอาจสูญเสียสถานที่ทางอารยธรรมอะไรบ้าง หากสหรัฐฯ เดินหน้าตามคำขู่เดิม

10.01.2020
  • LOADING...
อิหร่าน อารยธรรม

ถือว่าเดินเกมฉลาดไม่น้อยสำหรับผู้นำสหรัฐฯ ที่ออกมาแถลงยุติการใช้มาตรการทางการทหารกับอิหร่าน แต่อาจใช้วิธีการคว่ำบาตรจัดการต่อจากนี้แทน พร้อมทั้งประกาศ ‘ชัยชนะ’ ของสหรัฐฯ เหนืออิหร่าน และจะไม่ถือสาหาความกับการกระทำของอิหร่านที่ยิงขีปนาวุธตอบโต้มา สวนทางกับการคาดการณ์ของชาวโลกซึ่งต่างฟันธงกันว่าสงครามครั้งนี้ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ 

 

แม้ผิวเผินทุกอย่างเหมือนยุติ แต่การต่อสู้แบบสงครามเย็นของทั้งสองประเทศยังคงอยู่ ทว่าหากเรากรอเทปย้อนเหตุการณ์ไปอยู่ ณ ช่วงเวลาก่อนหน้าสักนิด ช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาขู่อิหร่านว่าจะโจมตีสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของอิหร่าน หากอิหร่านโต้กลับกรณีลอบสังหาร พล.ต. กัสเซม โซเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษกุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน คิดดูสิว่าหากทรัมป์สั่งโจมตีสถานที่เหล่านั้น โลกเราจะสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมมากมายขนาดไหน THE STANDARD คัดมาให้ดูบางส่วน 

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

มหานครโบราณเปอร์ซีโปลิส (Persepolis)

อิหร่านถือเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกไม่ต่างจากจีนหรืออินเดีย มีประวัติศาสตร์ยาวนานก่อนคริสต์ศักราชนับพันปี เปอร์ซีโปลิสเป็นอดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิอะคีเมนียะห์ที่ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยกทัพมาเผาจนเหลือแต่ซาก (ใครอยากรู้เรื่องราวให้ลองดูภาพยนตร์เรื่อง 300) เสาแต่ละต้นมีอายุนับพันปี ทุกต้นมีตัวอักษรคูนิฟอร์ม ซึ่งเป็นตัวอักษรเก่าแก่ที่สุดของโลกสลักอยู่ อีกทั้งที่นี่ยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกเมื่อปี 1979 ด้วย

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

พระราชวังโกเลสตาน (Golestan Palace)

หลายคนรู้จักที่นี่ในนามพระราชวังสวนกุหลาบ บางส่วนของพระราชวังสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในราชวงศ์ซาฟาวิด ก่อนถูกสร้างเพิ่มและบูรณะในสมัยราชวงศ์กาจาร์ จุดเด่นของพระราชวังอยู่ที่การตกแต่งภายในที่ใช้กระจกเงาตัดเหลี่ยมคล้ายเพชร และโครงสร้างภายนอกที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกกลางและยุโรปได้อย่างน่าสนใจ องค์การยูเนสโกประกาศให้พระราชวังโกเลสตานเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2013 ปัจจุบันที่นี่ยังคงใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการ

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

หอคอยอาซาดี (Azadi Tower) 

สถาปัตยกรรมใจกลางเมืองเตหะรานที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 2,500 ปีของการก่อตั้งอาณาจักรเปอร์เซีย แท่งหินยักษ์รูปตัว Y กลับหัว สร้างด้วยหินอ่อนตัดพิเศษกว่า 8,000 ก้อนจากเมืองอิสฟาฮาน นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวเมืองได้ ณ จุดชมวิวด้านบน แม้คอหอยอาซาดีจะเพิ่งสร้างได้ไม่นานเมื่อเทียบกับสถานที่อื่นๆ แต่แลนด์มาร์กนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งอารยธรรมและความรุ่งโรจน์ของชาวเปอร์เซีย

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

มัสยิดชาห์ชีรัคห์ (Shah Cheragh Mosque)

ศาสนสถานสำคัญแห่งเมืองชีราซที่มีลักษณะความงามสมดังชื่อ ‘ชาห์ชีรัคห์’ แปลตรงตัวได้ว่า ‘ราชาแห่งแสง’ (King of Light) ฉะนั้นจุดเด่นของที่นี่คืองานตกแต่งภายในที่ทำจากกระเบื้องกระจกโมเสกล้อกับแสงอาทิตย์ตลอดวัน ผิดกับลักษณะภายนอกที่ดูธรรมดา แต่ก่อนที่นี่ใช้เป็นที่ตั้งหลุมศพ แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเพื่อดึงดูดผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวให้มาเข้าชม 

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

มหาวิหารแวงค์ (Vank Cathedral)

โบสถ์คริสต์หนึ่งเดียวในเมืองอิสฟาฮานที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายมัสยิดแบบอิหร่าน ทว่ามีหอระฆังตั้งเด่นขึ้นมา สร้างขึ้นโดยชาวอาร์เมเนียที่อพยพหนีสงครามออตโตมันในช่วงศตวรรษที่ 17 นอกจากทำหน้าที่เป็นศาสนสถานสำคัญของชาวคริสต์ มหาวิหารแวงค์ยังเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมโบสถ์คริสต์จำนวนมากในอิหร่านและภูมิภาคเมโสโปเตเมีย

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

สะพานอิสฟาฮาน (Bridges of Isfahan)

เมืองอิสฟาฮานเต็มไปด้วยสายน้ำ ทำให้มีสะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่งอยู่ทั่วเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 หนึ่งในสะพานมีชื่อคือ สะพานคาจู (Khaju) มีความยาวทั้งสิ้น 130 เมตร ทำหน้าที่เชื่อมเมืองทางทิศเหนือและทิศใต้เข้าด้วยกัน และยังเป็นประตูน้ำควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำซายันเด ชาวเมืองอิสฟาฮานนิยมมาที่สะพานนี้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เพราะมีบรรยากาศดีมากในยามเย็น

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

มัสยิดชีคล็อตฟุลเลาะห์ (Sheik Lotfallah Mosque)

เมืองอิสฟาฮานได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองแห่งงานคราฟต์โลก มีชื่อเสียงมากโดยเฉพาะศาสตร์การเพนต์กระเบื้องและการทำเครื่องเงินเครื่องทอง มัสยิดชีคล็อตฟุลเลาะห์มีตำแหน่งเป็นมัสยิดสำหรับกษัตริย์และราชวงศ์ จึงตกแต่งอย่างสวยงามและอลังการมาก ชนิดที่ว่าคุณจะไม่เห็นลวดลายกระเบื้องโมเสกจากที่ไหนในโลกอีกแล้ว ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1979

 

อิหร่าน อารยธรรม

 

ป้อมปราการแบม (The Citadel of Bam)

สิ่งปลูกสร้างด้วยอิฐที่ใหญ่ที่สุดในโลกเชื่อมต่อกันบนเนินเขาครอบคลุมพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในเมืองแบม จังหวัดเคอร์แมน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอิหร่าน เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมเชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญเป็นผ้าไหมและผ้าฝ้าย ที่นี่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกภายใต้คำ 3 คำคือ แบม ภูมิทัศน์ และวัฒนธรรม ปัจจุบันอยู่ในระหว่างบูรณะเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2003

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising