×

โลกจับตา ‘อิหร่าน’ ขู่ปิดช่องแคบ ‘ฮอร์มุซ’ สะเทือน LNG-น้ำมันผันผวนหนัก พลังงานควัก 74 ล้าน/วัน ตรึงราคาน้ำมัน

16.06.2025
  • LOADING...

สงครามตะวันออกกลางปะทุ ทั่วโลกจับตา ‘อิหร่าน’ ขู่ปิดช่องแคบ ‘ฮอร์มุซ’ ขณะที่ ‘กบน.’ ควักวันละ 74 ล้าน ตรึงราคาน้ำมัน รับวิกฤติสงครามตะวันออกกลาง

 

วันที่ 16 มิถุนายน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ทวีความรุนแรง และส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

 

พรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า การประชุม กบน. วันนี้ได้มีการประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 72.50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 85.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 88.02 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ และค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น และไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพในช่วงที่สถานการณ์วิกฤตพลังงานกำลังเกิดขึ้น กบน. จึงมีมติให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยใช้กลไกอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพ และพยุงราคาน้ำมันในประเทศ ไม่ให้กระทบกับความต่อเนื่องในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ในระยะยาว” ดังนี้ (ข้อมูลในตาราง)

 

 

สำหรับการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะทำให้รายรับของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันทุกชนิด (รวมถึงน้ำมันเตา) ลดลงประมาณวันละ 74.41 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายรับประมาณวันละ 241.64 ล้านบาท เหลือประมาณวันละ 167.23 ล้านบาท โดยปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 ติดลบอยู่ที่ 36,268 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันบวกอยู่ที่ 8,244 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ที่ 44,512 ล้านบาท

 

ทั้งนี้การดำเนินมาตรการครั้งนี้เป็นไปตามบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาพลังงานของประเทศเมื่อเกิดวิกฤตด้านราคาพลังงาน ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562

 

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวระบุว่า อิหร่านอาจกดดันโดยปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเส้นทางนี้มีความสำคัญต่อตลาดน้ำมันอย่างมาก หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงอาจกดดันตลาดพลังงานโลก

 

โดย อเล็กซ์ ชินเดลาร์ ประธาน Energy Intelligence กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวังท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน คือการปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ที่สุดต่อการค้าโลก

 

เนื่องจากช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ LNG จะได้รับผลกระทบ โดยล่าสุดราคา LNG ปรับขึ้นกว่า 6%

 

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้แต่ภัยคุกคามจากการปิดช่องแคบแห่งนี้ อาจทำให้ตลาดสั่นคลอนและผลักดันให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ ช่องแคบแห่งนี้มีความกว้างเพียง 29 ไมล์ทะเลในจุดที่แคบที่สุด โดยเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันทางทะเลเกือบ 1 ใน 3 ของโลก และเป็นช่องทางขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของโลก

 

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เรียกช่องแคบนี้ว่า “เส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดของโลก” และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานและทะเลอาหรับ

 

นักลงทุนและนักวิเคราะห์กำลังพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ที่อาจเกิดขึ้นในช่องแคบนี้

 

IEA ยังระบุอีกว่าในปี 2023 ปริมาณน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์กลั่นราว 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน (mb/d) ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ คิดเป็นเกือบ 30% ของปริมาณการค้าน้ำมันทั่วโลก ปริมาณส่วนใหญ่ประมาณ 70% มุ่งหน้าสู่เอเชีย โดยจีน อินเดีย และญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ามากที่สุดผ่านช่องแคบฮอร์มุซ

 

ภาพ: Jean-Philippe Tournut/Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising