×

อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียฟื้นฟูสัมพันธ์ มีนัยสำคัญอะไรต่อตะวันออกกลางและโลก

11.03.2023
  • LOADING...
อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย

ข่าวอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2023 ภายหลังเจรจากันประมาณ 4 วันในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน นับเป็นข่าวใหญ่ที่มีนัยสำคัญต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและสถานการณ์การแข่งขันของมหาอำนาจโลก

 

การที่คู่ขัดแย้งสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางสามารถตกลงที่จะเปิดสถานทูตระหว่างกันในอีก 2 เดือนข้างหน้า หลังตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกันมายาวนานกว่า 7 ปี อาจส่งผลให้อุณหภูมิความร้อนแรงในความขัดแย้งและการแข่งขันระหว่างกันลดน้อยลง ขณะเดียวกันจีนซึ่งเป็นประเทศที่ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จทางการทูตครั้งนี้ ก็ทำให้บทบาทและอิทธิพลของตนเองขยายเข้าไปกว้างไกลในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลดั้งเดิมของสหรัฐอเมริกา

 

หากพิจาณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียแล้วอาจอธิบายอย่างย่นย่อได้ว่า นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมีความซับซ้อนและแปรเปลี่ยนไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในตะวันออกกลาง 

 

จากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในยุคการปกครองแบบราชาธิปไตยของทั้ง 2 ประเทศ จนถึงการตัดความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ก่อนที่ทั้งคู่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และมีการขับเคี่ยวแข่งขันกันมากขึ้นหลังสงครามอิรักปี 2003 ตลอดจนปรากฏการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อขับไล่เผด็จการในโลกอาหรับ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อาหรับสปริง’ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในภูมิภาค ล้วนเปิดทางให้ทั้ง 2 ประเทศต้องเร่งแข่งขันขยายอิทธิพล จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นการทำสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างกันในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค ทั้งในสงครามกลางเมืองซีเรีย อิรัก และเยเมน ตลอดรวมถึงความขัดแย้งในเลบานอน

 

สถานการณ์การโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในปี 2019 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางนี้ เหตุโจมตีดังกล่าวทำให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรง ทำให้ต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงชั่วคราว และมีการวิเคราะห์กันว่าแรงจูงใจเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน แต่ที่น่าสนใจคือการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาทหารอเมริกัน ซึ่งมีหน้าที่ให้หลักประกันด้านความมั่นคงกับซาอุดีอาระเบียตามสูตรความสัมพันธ์ ‘น้ำมันแลกความมั่นคง’ (Oil for Security)

 

ยิ่งไปกว่านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นก็ไม่แสดงท่าทีอันใดที่จะปกป้องคุ้มครองซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียเริ่มปรับนโยบายด้านการต่างประเทศใหม่ หันไปใช้นโยบายประนีประนอมกับประเทศคู่ขัดแย้งในภูมิภาคมากขึ้น ขณะเดียวกันซาอุดีอาระเบียก็เร่งเสริมสร้างพันธมิตรที่มีความหลากหลาย (Diversify Alliance) 

 

พูดง่ายๆ คือแทนที่จะพึ่งพิงสหรัฐฯ อย่างเดียวเหมือนในอดีต ซาอุดีอาระเบียก็หันไปผูกสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซียและจีนด้วย ว่ากันตามจริงซาอุดีอาระเบียมีท่าทีถอยห่างออกจากอิทธิพลสหรัฐฯ มานานหลายปีแล้ว แต่เหตุโจมตีคลังน้ำมันถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องเร่งกระบวนการ

 

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เหตุโจมตีคลังน้ำมันที่เกิดขึ้นก็ถูกมองว่าเป็นปัจจัยเร่งให้ซาอุดีอาระเบียต้องเจรจายุติความขัดแย้งกับอิหร่าน ท่าทีของซาอุดีอาระเบียเริ่มเปลี่ยนไปดังที่เจ้าชายไฟซาล รัฐมนตรีต่างประเทศระบุว่า ซาอุดีอาระเบียยังคงสนใจในการเจรจากับอิหร่าน แต่ก็เรียกร้องให้ทางอิหร่านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปรารถนาอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ อีกทั้งยังเน้นว่า “อิหร่านคือเพื่อนบ้านของเรา จะต้องมีความปรารถนาอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ และเราหวังว่าจะมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะหาวิธีการใหม่ (ในการฟื้นความสัมพันธ์ต่อกัน)” 

 

นับจากนั้นมาอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียก็มีการเจรจากันทางลับผ่านตัวกลางอย่างอิรักและโอมานหลายครั้ง เป็นการพูดคุยเจรจาที่ท้ายที่สุดมาบรรลุความสำเร็จที่ประเทศจีน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จทางการทูตครั้งนี้ย่อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ของจีนในสายตาประชาคมโลก อันที่จริงการเข้ามาของจีนในตะวันออกกลางก็เหมือนกับรัสเซีย คือนอกจากจะมีเป้าหมายในการยกระดับสถานะของตนเองเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกแล้ว จีนยังต้องการฉายภาพตนเองให้โลกได้เห็นว่าเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความรับผิดชอบอีกด้วย 

 

อีกทั้งจีนยังมีเป้าประสงค์ที่จะใช้ตะวันออกกลางเป็นแหล่งส่งจ่ายพลังงานให้กับตน อันถือเป็นการสร้างความยั่งยืนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะแหล่งน้ำมันคุณภาพในซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน

 

ไม่เฉพาะเท่านั้น ตะวันออกกลางยังมีความสำคัญกับจีนในแง่ของการเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเล ระยะหลังจีนได้ใช้เส้นทางทางทะเลของตะวันออกกลางนำเข้าวัตถุดิบ ขณะเดียวกันก็ใช้เส้นทางนี้ส่งออกสินค้าของจีนที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากไปยังตลาดในตะวันออกกลาง 

 

นอกจากนี้ความสำคัญของตะวันออกกลางคือเป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมโยงโลกภายใต้โครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจีนเองก็ต้องระมัดระวังไม่นำตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและความขัดแย้งที่มีอยู่สูงและสลับซับซ้อนในภูมิภาคตะวันออกกลาง และไม่แสดงสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกว่าจีนต้องการเป็นตัวแสดงที่จะคอยรักษาความมั่นคงให้กับตะวันออกกลางแทนที่สหรัฐฯ

 

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลประโยชน์ของจีนในตะวันออกกลางคือประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและเรื่องเศรษฐกิจการค้า แต่การที่จะปกป้องผลประโยชน์ของจีนดังกล่าวอาจทำให้จีนต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงการต้องเข้าไปแข่งขันเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ด้วยเหตุดังกล่าว แม้อิหร่านกับซาอุดีอาระเบียจะให้คำมั่นกลางกรุงปักกิ่งว่าจะปรับความสัมพันธ์และยกระดับการฟื้นฟูทางการการทูตระหว่างกันภายใน 2 เดือน แต่มันก็ยังมีความเสี่ยงไม่น้อยสำหรับความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่าง 2 ประเทศนี้ ซึ่งจีนคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งใน ซีเรีย เยเมน และอีรัก ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในระยะสั้นที่ชัดเจนว่าจากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้จะพัฒนาไปในทิศทางใด จีนจะเข้าไปคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกับตัวแสดงฝ่ายต่างๆ ในภูมิภาค โดยไม่นำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งได้หรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคจากบทบาทของสหรัฐฯ ที่อาจมองการฟื้นฟูความสัมพันธ์อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้ง 2 ประเทศกับจีนว่าเป็นความท้าทายระเบียบเดิมของภูมิภาค 

 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านครั้งนี้นับเป็นสัญญาณบวกที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง ท่ามกลางภาวะความถดถอยของสหรัฐฯ และการผงาดขึ้นมาของจีนในภูมิภาค

 

ภาพ: Lex0077 via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X