×

อิหร่าน-จีน กับ ‘ดีล 25 ปี’ จับตาความร่วมมือรอบด้านที่อาจเปลี่ยนดุลอำนาจในตะวันออกกลาง

24.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เมื่อบริบทการเมืองโลกเปลี่ยนไป อิหร่านถูกกดดันบีบคั้นจากสหรัฐฯ และมหาอำนาจชาติตะวันตกมากขึ้น ทำให้วันนี้สโลแกนเก่าที่บอกว่า ‘ไม่เอาทั้งตะวันออกและตะวันตก’ ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป
  • ภายหลังอิหร่านได้ปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่โดยให้ความสำคัญกับนโยบายมุ่งหน้าหันไปทางตะวันออก (Pivot to the East) มากยิ่งขึ้น หรือเลือกที่จะคบหากับตะวันออกมากกว่าที่จะต้องตามเอาใจตะวันตก
  • หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการที่คณะรัฐมนตรีอิหร่านภายใต้การนำของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่างแผนยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนรอบด้านในอีก 25 ปีกับจีน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา
  • อิหร่านอาจกลายเป็นดินแดนสำคัญในโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) ที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากจีนเข้าไปยังยุโรปผ่านทะเลดำ
  • อย่างไรก็ดี ข้อตกลงความร่วมมือ 25 ปีดังกล่าวยังมีสถานะเป็นเพียงร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอิหร่านเท่านั้น ยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาอิหร่านแต่อย่างใด

สโลแกนหนึ่งของอิหร่านหลังการปฏิวัติปี 1979 อันเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางคือประโยคที่ว่า ‘ไม่เอาทั้งตะวันออกและตะวันตก’ (Neither East, Nor West) ซึ่งถือเป็นแนวทางด้านการต่างประเทศสำคัญของ อยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิหร่าน ที่พยายามวาง ‘ตำแหน่งแห่งที่’ ของอิหร่านท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น 

 

แต่เมื่อบริบทการเมืองโลกเปลี่ยนไป อิหร่านถูกกดดันบีบคั้นจากสหรัฐฯ และมหาอำนาจชาติตะวันตกมากขึ้น ทำให้วันนี้สโลแกนเก่าที่บอกว่า ‘ไม่เอาทั้งตะวันออกและตะวันตก’ ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป ภายหลังอิหร่านได้ปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่โดยให้ความสำคัญกับนโยบายมุ่งหน้าหันไปทางตะวันออก (Pivot to the East) มากยิ่งขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คืออิหร่านเลือกที่จะคบหากับตะวันออกมากกว่าที่จะต้องตามเอาใจตะวันตก 

 

หลักฐานที่เห็นได้ชัดที่สุดขณะนี้คือการที่คณะรัฐมนตรีอิหร่านภายใต้การนำของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่างแผนยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนรอบด้านในอีก 25 ปีกับจีน (Comprehensive Plan for Strategic Partner between Iran-China) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา

 

แม้รายละเอียดของ ‘ข้อตกลง 25 ปี’ ดังกล่าวจะยังไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ข่าวจากวงในที่รั่วไหลออกมาก็สามารถสรุปหลักใหญ่ใจความได้ว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ จีนจะนำเงินเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของอิหร่านคิดเป็นเงินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการเข้าไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ในอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินการธนาคาร การสื่อสารโทรคมนาคม ท่าเรือ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน หรือแม้แต่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 

 

อิหร่านจะกลายเป็นดินแดนสำคัญในโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) ที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากจีนเข้าไปยังยุโรปผ่านทะเลดำ นอกจากนั้นข้อตกลงดังกล่าวยังมีมิติความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคง ทั้งปฏิบัติการซ้อมรบ การฝึกอบรมร่วม การวิจัยและพัฒนาอาวุธ ฯลฯ อิหร่านเองก็จะตอบแทนจีนด้วยการประกันถึงความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้จีนในราคาถูก

 

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงความร่วมมือ 25 ปีดังกล่าวยังมีสถานะเป็นเพียงร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอิหร่านเท่านั้น ยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาอิหร่านแต่อย่างใด อีกทั้งการที่ทั้งอิหร่านและจีนจะลงนามกันอย่างเป็นทางการก็คงต้องผ่านขั้นตอนการเจรจาต่อรองกันอีกหลายรอบ ฉะนั้นบทความนี้จึงเป็นเพียงความพยายามที่จะประเมินโอกาสและอุปสรรคของทั้งสองฝ่ายภายใต้กรอบความร่วมมือ 25 ปีดังกล่าว หลังจากนั้นจะพยายามฉายภาพให้เห็นดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เปลี่ยนไปจากการที่อิหร่านมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น

 

โอกาสและข้อจำกัดของอิหร่าน

การที่อิหร่านหันไปใกล้ชิดให้ความสำคัญกับจีนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากเมื่อคำนึงถึงสภาพที่อิหร่านถูกบีบบังคับจากสหรัฐฯ ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมายาวนาน และยังถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกไปจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อปี 2018 รัฐบาลทรัมป์ได้ตีตราอิหร่านว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสหรัฐฯ และนานาชาติ สหรัฐฯ ยังประกาศคว่ำบาตรกดดันอิหร่านอย่างถึงที่สุด (Maximum Pressure) ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นไม่ให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันไปขายในตลาดโลกได้ อันที่จริงการคว่ำบาตรน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของการปิดล้อมอิหร่านมาตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อปี 1979 แล้ว

 

ด้วยเหตุดังกล่าว การที่อิหร่านพยายามผูกสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีนย่อมไม่ได้มีเป้าประสงค์เพียงแค่การสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคีเท่านั้น แต่อิหร่านยังต้องการส่งผลสะเทือนไปถึงสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกด้วย อิหร่านตระหนักดีว่าในสภาพที่เกิดการแข่งขันของมหาอำนาจหลายขั้วในตะวันออกกลางขณะนี้ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่กำลังเข้มข้นและดุเดือดขึ้นทุกวัน หากอิหร่านมีข้อตกลงความร่วมมือกับจีนจะทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต้องหันมาสนใจอิหร่าน อันจะทำให้อิหร่านมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้น 

 

อีกทั้งการที่อิหร่านมีจีนและรัสเซียเป็นเกราะกำบังก็จะทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรไม่สามารถทำอะไรอิหร่านได้ง่ายๆ เหมือนในอดีต อย่างน้อยขณะนี้สหรัฐฯ ก็คงไม่สามารถผ่านมติในสภาความมั่นคงเพื่อ ‘เล่นงาน’ อิหร่านได้เหมือนแต่ก่อน เพราะมติเหล่านั้นจะถูกวีโต้จากจีนและรัสเซียในท้ายที่สุด นอกจากนั้นการเป็นหุ้นส่วนกับจีนยังอาจทำให้อิหร่านสามารถยกระดับการเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) จากสถานะที่เป็นสมาชิกระดับสังเกตการณ์ขณะนี้ให้กลายเป็นสมาชิกเต็มขั้นได้ในอนาคต เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนของจีนเป็นสำคัญ

 

ไม่เฉพาะด้านการเมืองเท่านั้นที่อิหร่านเล็งเห็นประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนกับจีน แต่ยังรวมถึงประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย หลายปีที่ผ่านมาอิหร่านตระหนักดีว่าตนเองเป็นฝ่ายที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์จากจีนเท่ากับคู่แข่งของตนเองในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาระเบียหรืออิสราเอล เพราะจีนได้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานมากมาย อันทำให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาก้าวหน้าไปได้มาก  

 

ฉะนั้นการริเริ่มทำข้อตกลงความร่วมมือกับจีนระยะยาวเป็นเวลา 25 ปีจึงเป็นก้าวย่างสำคัญที่อิหร่านจะยึดโยงผูกมัดจีนให้ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจอิหร่านอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประเทศต้องตกอยู่ในสภาพสงครามและความขัดแย้งมายาวนาน นอกจากนั้นอิหร่านยังต้องการใช้ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศเป็นจุดขายสำคัญในโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีน เพื่อทำให้เกิดโครงการและการสร้างงานสร้างอาชีพภายในประเทศ

 

แม้จะมีผลดีต่ออิหร่านอยู่หลายประการ แต่การเดินหน้าผลักดันการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางพันธมิตรกับจีนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อคำนึงถึงการเมืองภายใน อย่างไรก็ตาม หากมองจากสายตาของผู้นำสูงสุดอิหร่านคนปัจจุบัน การทำข้อตกลงความร่วมมือกับจีนเป็นเรื่องที่อิหร่านควรทำ เพราะเขาสนับสนุนอิหร่านให้ใช้แนวทางผูกมิตรกับชาติตะวันออก ไม่ใช่เดินตามตะวันตกซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อิหร่านไม่สามารถไว้วางใจได้ กระแสความรู้สึกเช่นนี้มีพลังในทางการเมืองของอิหร่านมากขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อปี 2018 

 

ประธานาธิบดีรูฮานีเอง แม้จะเป็นผู้นำสายปฏิรูปของอิหร่านที่ต้องการเปิดสัมพันธ์กับชาติตะวันตก แต่เขาก็สนับสนุนแนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจของอิหร่านเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี โดยเฉพาะหลังจากที่อิหร่านล้มเหลวมาหลายยุคหลายสมัยในความพยายามที่จะเปิดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจชาติตะวันตก (ความพยายามครั้งหลังสุดคือการลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อปี 2015) ทำให้ประธานาธิบดีรูฮานีมองไปยังจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีสถานะเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

 

โดยสรุปก็คือไม่ว่าจะเป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านก็ดี หรือประธานาธิบดีรูฮานีก็ดี (ซึ่งถูกมองว่ามีแนวทางการเมืองแตกต่างกัน) ต่างก็สนับสนุนให้อิหร่านมีข้อตกลงความร่วมมือ 25 ปีกับจีนกันทั้งนั้น

 

แต่ปัญหาที่สำคัญคือนักการเมืองสายอนุรักษนิยมของอิหร่าน ซึ่งกำลังเตรียมความพร้อมในการที่จะลงสนามเลือกตั้ง (ในปี 2021 ที่จะถึงนี้) แข่งกับพรรคการเมืองสายปฏิรูปของประธานาธิบดีรูฮานี คนเหล่านี้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเปิดสัมพันธ์กับชาติตะวันตกของรูฮานีมาตลอด พร้อมทั้งชี้ถึงความล้มเหลวจากการไปทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก นอกจากนั้นหลังจากที่รัฐบาลปัจจุบันได้เดินหน้าผลักดันข้อตกลงความร่วมมือ 25 ปีกับจีน นักการเมืองฝ่ายค้านกลุ่มเดียวกันนี้ก็ออกมาถล่มโจมตี หาว่าข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นการขายชาติ ขายทรัพยากร เป็นข้อตกลงความร่วมมือที่อาจนำอิหร่านไปสู่สภาพการเป็นเมืองขึ้นของจีน หรืออาจทำให้อิหร่านสูญเสียอำนาจอธิปไตย ฯลฯ 

 

อย่างไรก็ดี ร่างข้อตกลงความร่วมมือกับจีน 25 ปีดังกล่าวนี้ ในท้ายที่สุดก็ต้องถูกนำไปพิจารณาในรัฐสภาอิหร่านอยู่ดี แต่ที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับรัฐบาลคืออิทธิพลของนักการเมืองสายอนุรักษนิยมซึ่งครองที่นั่งในรัฐสภาจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

 

โอกาสและข้อจำกัดของจีน

สูตรสำเร็จที่นักวิชาการมักใช้ในการทำความเข้าใจนโยบายของจีนที่มีต่อตะวันออกกลางคือ ความมั่นคงทางพลังงาน = การพัฒนาทางเศรษฐกิจ = การมีเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยเหตุนี้นโยบายของจีนต่อตะวันออกกลางตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงมีแต่คำว่า ‘น้ำมัน’ และ ’การค้าขาย’ โดยจีนมักไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในภูมิภาคมากนักหากไม่จำเป็น 

 

ถึงอย่างนั้น การเข้ามาของจีนในตะวันออกกลางก็เหมือนกับรัสเซีย คือนอกจากจะมีเป้าหมายในการยกระดับสถานะของตนเองเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกแล้ว จีนยังต้องการฉายภาพตนเองให้โลกได้เห็นว่าเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความรับผิดชอบอีกด้วย อีกทั้งจีนยังมีเป้าประสงค์ที่จะใช้ตะวันออกกลางเป็นแหล่งส่งจ่ายพลังงานให้กับตน อันถือเป็นการสร้างความยั่งยืนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน กล่าวกันว่าพลังงานกว่า 51% ที่จีนนำเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาจากตะวันออกกลาง  

 

 

ไม่เฉพาะเท่านั้น ตะวันออกกลางยังมีความสำคัญกับจีนในแง่ของการเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเล ระยะหลังจีนได้ใช้เส้นทางทางทะเลของตะวันออกกลางนำเข้าวัตถุดิบ ขณะเดียวกันก็ใช้เส้นทางนี้ส่งออกสินค้าของจีนที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากไปยังตลาดในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม จีนเองก็ระมัดระวังโดยไม่นำตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและความขัดแย้งที่มีอยู่สูงและสลับซับซ้อนในภูมิภาค และไม่แสดงสัญญาณใดที่บ่งบอกว่าจีนต้องการเป็นตัวแสดงที่จะคอยรักษาความมั่นคงให้กับตะวันออกกลาง 

 

ถึงอย่างนั้น การที่จีนตัดสินใจจะตั้งฐานทัพเรือในประเทศจิบูตี ตลอดรวมถึงการลงทุนมหาศาลในโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ในตะวันออกกลาง และเจตจำนงที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูประเทศซีเรียหลังสงคราม ก็เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าบทบาทของจีนในตะวันออกกลางกำลังแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ฉะนั้นการสร้างความร่วมมือกับอิหร่านก็ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลางที่สำคัญ 

 

อิหร่านเป็นประเทศสำคัญที่สามารถตอบสนองความต้องการของจีนในตะวันออกกลางได้อย่างไม่ต้องสงสัย 1. อิหร่านเป็นประเทศที่ปราศจากอิทธิพลของชาติมหาอำนาจโลกใดๆ ไม่เหมือนกับประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มีคนจับจองแล้ว หลายประเทศเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ บางประเทศก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย แต่อิหร่านยังถือเป็นดินแดนบริสุทธิ์ ปราศจากอิทธิพลของใคร 2. อิหร่านถือเป็นประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานจำนวนมหาศาลรองจากซาอุดีอาระเบียในตะวันออกกลาง 3. อิหร่านมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญอันจะเป็นสะพานเชื่อมจีนเข้าไปในยุโรป และเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดในตะวันออกกลางขณะนี้

 

อย่างไรก็ดี การที่จีนจะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางพันธมิตรกับอิหร่านผ่านการทำข้อตกลงความร่วมมือ 25 ปีก็เป็นประเด็นที่มีข้อต้องระมัดระวังพอสมควร เพราะการเป็นพันธมิตรกับอิหร่านอาจนำไปสู่ความไม่พอใจของบางประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีนในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล เรื่องนี้จีนคงต้องสร้างความสมดุลในการมีความสัมพันธ์กับคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันการทำการค้ากับอิหร่านก็ต้องคำนึงถึงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เพราะคงมีไม่กี่บริษัทและธนาคารที่พร้อมจะทำการค้ากับอิหร่านท่ามกลางการกดดันจากสหรัฐฯ 

 

โดยสรุปก็คือผลประโยชน์ของจีนในตะวันออกกลางและอิหร่านคือประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและเรื่องเศรษฐกิจการค้า แต่การที่จะปกป้องผลประโยชน์ของจีนดังกล่าวอาจทำให้จีนต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงการต้องเข้าไปแข่งขันเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ

 

 

ดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปในตะวันออกกลาง

เห็นได้ชัดว่าข้อตกลงความร่วมมือรอบด้านระหว่างอิหร่าน-จีนภายใต้กรอบเวลา 25 ปีนั้นสามารถสร้างโอกาสและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทว่าการทำข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคขวางกั้น อิหร่านมีข้อจำกัดเรื่องการเมืองภายใน ขณะที่จีนก็ต้องประเมินบทบาทของตนเองไม่ให้ถลำลึกเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองเรื่องความขัดแย้งที่ซับซ้อนในตะวันออกกลาง และต้องระมัดระวังการปะทะเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในดินแดนรอบอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ มาแต่เดิม และเป็นดินแดนที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลเข้าไปผ่านการสร้างข้อตกลงความร่วมมือกับอิหร่าน ทั้งนี้ดินแดนรอบอ่าวเปอร์เซียได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญที่สุดในตะวันออกกลางปัจจุบัน และเป็นจุดศูนย์กลางของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหม่ของภูมิภาค 

 

ขณะเดียวกันสถานะและบทบาทของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางก็กำลังเสื่อมคลายลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ๆ ในภูมิภาค ขยายความให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นก็คือหลังจากที่สหรัฐฯ ได้นำทัพเข้ามาบุกอิรักเมื่อปี 2003 อันนำมาซึ่งหายนะในด้านต่างๆ มากมาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้บทบาทของสหรัฐฯ เสื่อมคลายลงในตะวันออกกลาง 

 

ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียกลับประสบผลสำเร็จในสงครามซีเรียจนสามารถเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ได้ พร้อมกันนั้นจีนก็แผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนออกไปถ้วนทั่วภูมิภาค ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการปรับเปลี่ยนดุลอำนาจครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง อันส่งผลให้ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นเพียงแค่หนึ่งในมหาอำนาจโลกที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ในตะวันออกกลางเท่านั้น ไม่ได้เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวเหมือนยุคหลังสงครามเย็นอีกต่อไป

 

ขณะเดียวกัน การที่อิหร่านหันไปพึ่งพาจีนมากขึ้นถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ส่งผลต่อดุลอำนาจในตะวันออกกลางอย่างเห็นได้ชัด ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าหากสถานะของอิหร่านเข้มแข็งขึ้น ประกอบกับมีพลังสนับสนุนจากมหาอำนาจอย่างจีน ประเทศคู่แข่งของอิหร่านในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบียและอื่นๆ จะมีท่าทีอย่างไร จะยังคงแข็งกร้าวใส่อิหร่านเหมือนเดิมหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนท่าทีหันมาลดความขัดแย้งระหว่างกัน ขณะเดียวกัน เมื่อเห็นอิหร่านบรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับจีน ประเทศใหญ่ๆ ในตะวันออกกลางก็คงต้องเร่งเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือกับจีนเหมือนที่อิหร่านทำ อันจะทำให้สถานะของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางถูกท้าทายจากจีนมากยิ่งขึ้น

 

แต่ที่สำคัญและน่าจับตามองมากที่สุดคือการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ เหนือพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในตะวันออกกลางอย่างดินแดนรอบอ่าวเปอร์เซีย ที่จะมีความร้อนแรงและเข้มข้นขึ้นหากจีนกับอิหร่านมีความร่วมมือกันตามแผนยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนรอบด้านภายใต้กรอบเวลา 25 ปีดังกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X