กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) เปิดเผยรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก 2561 (IQAir AivVisual 2018 World Air Quality Report) ที่จัดทำขึ้นโดย IQAir AirVisual พบว่า ในภาพรวมฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในปีที่ผ่านมา กระจายตัวอย่างกว้างขวาง แต่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ และประชาชนส่วนใหญ่ยังถูกจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล
สำหรับเมืองที่ครองแชมป์มีมลพิษฝุ่น PM2.5 มากที่สุด จำแนกโดยความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อันดับ 1 คือ เดลี ประเทศอินเดีย (113.5) รองลงมาคือ ธากา ประเทศบังกลาเทศ (97.1), คาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน (61.8), มานามา ประเทศบาห์เรน (59.8), อูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย (58.5) ส่วนกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 24 (25.2) อยู่ในระดับปานกลาง
สำหรับประเทศที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 มากที่สุดคือ บังกลาเทศ (97.1) รองลงมาคือ ปากีสถาน (74.3) อินเดีย (72.5) อัฟกานิสถาน (61.8) บาห์เรน (59.8) ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 23 (26.4)
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเรา ทั้งด้านสุขภาพและการเงิน การประเมินค่าใช้จ่ายในการสูญเสียแรงงานทั่วโลกมีถึง 225,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์หลายล้านล้านเหรียญสหรัฐ เราต้องการให้รายงานฉบับนี้สร้างความตระหนักให้ประชาชนถึงอากาศที่เราหายใจ เพราะเมื่อเราเข้าใจถึงผลกระทบจากคุณภาพอากาศในชีวิตของเรา เราจะสามารถปกป้องสิ่งที่สำคัญที่สุดได้”
พ.ศ. 2561 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก ในฐานะประเทศที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 มากที่สุด หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีค่าคุณภาพอากาศที่แย่เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนามมี 10 จังหวัดในไทยที่ติดอยู่ในการจัดอันดับ 15 เมืองที่มีมลพิษ PM2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แฟรงค์ แฮมเมส ประธานบริหารของ IQAir กล่าวว่า “รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก พ.ศ. 2561 นำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศที่รวบรวมและตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศนับหมื่นแห่งทั่วโลก ขณะนี้ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ฟรีผ่านแพลตฟอร์ม AirVisual แพลตฟอร์มนี้เป็นตัวสร้างความต้องการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ สำหรับเมืองหรือภูมิภาคที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ชุมชนและองค์กรในหลายเมือง อย่างแคลิฟอร์เนีย หรือแม้แต่คาบูล เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน มีส่วนช่วยให้เกิดการตรวจสอบของภาครัฐด้วยการใช้เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพอากาศราคาถูกของเขาเอง และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้นในระดับท้องถิ่นได้”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลกระทบของมลพิษทางอากาศเลวร้ายลง โดยมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการขยายบริเวณไฟป่า นอกจากนี้ตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกคือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศของเราได้อย่างมาก
“ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านมลพิษทางอากาศจากฝุ่นมลพิษ PM2.5 ซึ่งขณะนี้ได้หน่วยงานท้องถิ่นและรัฐบาลระดับชาติ สามารถช่วยจัดการกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศได้ โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานในการตรวจสอบและรายงานผลมลพิษทางอากาศได้ สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดถึงต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศคือ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างเช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และเลวร้ายลงจากการตัดไม้ทำลายป่า สิ่งที่เราต้องการเห็นคือ ผู้นำของเรากำลังคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสุขภาพและสภาพภูมิอากาศ โดยการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และในขณะเดียวกันต้องมีการรายงานคุณภาพอากาศที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและสภาพภูมิอากาศ” ธารากล่าวเสริม
นอกจากนี้ กรีนพีซยังเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน พ.ศ. 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน Haze-Free 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล