×

สิ่งที่แบรนด์ต้องรู้! ‘อิปซอสส์’ เปิดผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค กังวลเงินเฟ้อ-กระทบรายได้หด เลือกจ่ายเฉพาะสินค้าจำเป็น

27.10.2022
  • LOADING...

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้นกระทบต่อพฤติกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อแบรนด์สินค้าต้องปรับตัวรับมือรอบด้าน

 

ล่าสุด อิปซอสส์ ได้ทำชุดวิจัยและแบบสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 คน แบ่งเป็นชาย 49% และหญิง 51% จากการสำรวจตลาดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 เพื่อเป็นแนวทางการรับมือให้กับแบรนด์และนักการตลาด

 

ภาคี เจริญชนาพร Country Service Line Leader บริษัท อิปซอสส์ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นสูงสุด 85% และไทยอยู่ในอัตราต่ำสุด 55% ถือว่าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


เนื่องจากผู้บริโภคคนไทยมีความกังวลปัจจัยลบต่างๆ แม้โควิดจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อที่ลดลง ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้เหมือนที่หลายคนคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย

 

สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการจับจ่ายสินค้ากลุ่มที่จำเป็น ได้แก่ อาหาร ของใช้ส่วนตัว และพลังงาน รวมถึงสินค้าสุขภาพ Plant-based และนมทางเลือก แม้จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นก็ยอม ขณะที่สินค้าที่ไม่จำเป็นหรือมีราคาสูงต้องชะลอไว้ก่อน และการซื้อสินค้าแต่ละครั้งจะโฟกัสที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก ควบคู่กับการเลือกรับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญมากกว่าอินฟลูเอ็นเซอร์

 

พร้อมกันนี้ ช่องทางที่ผู้บริโภคคนไทยนิยมซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์สตรีม ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ จากสถิติการซื้อสินค้าออนไลน์ใน 6 เดือนที่ผ่านมา มีการซื้อมากขึ้น 47% ตามด้วยซื้อเท่าเดิม 36% และซื้อน้อยลง 14%

 

ทั้งนี้ ประเภทสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น ประกอบด้วยอาหารปรุงเองที่บ้าน 50% ตามด้วยผลิตภัณฑ์ด้านความสะอาด 35% สินค้าส่วนบุคคล 31% ร้านอาหารและร้านกาแฟ 22% และเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ 19%

 

ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีการจับจ่ายลดลง ได้แก่ การท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ 40% กิจกรรมด้านวัฒนธรรม 39% ร้านอาหารและร้านกาแฟ 33% และเครื่องใช้ไฟฟ้า 30% โดยพฤติกรรมการซื้อสินค้ายังอยู่ในช่องทางออฟไลน์และร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก ตามด้วยการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน ที่สำคัญคนไทยส่วนใหญ่จะเลือกแบรนด์ที่สะท้อนความเป็นตัวตน และยินดีจ่ายเพิ่มให้กับแบรนด์ที่สร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง

 

นอกจากนี้กิจกรรมที่คนไทยอยากทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ การเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนและครอบครัวที่บ้าน 67% ไปภัตตาคาร 63% ท่องเที่ยวภายในประเทศ 60% ไปร่วมงานวัฒนธรรม 50% ใช้บริการรถขนส่งมวลชน 49% ไปเข้ายิมและทำกิจกรรมด้านกีฬา 49% และไปเที่ยวต่างประเทศ 43%

 

ดังนั้นแบรนด์สินค้าและนักการตลาดต้องนำปัจจัยดังกล่าวมาทำแผนการตลาด โดยแบรนด์ต้องคำนึงถึงจุดแข็ง ตลอดจนการสร้างความแตกต่างกับแบรนด์ที่เป็นคู่แข่งในตลาด รวมถึงการทำตลาดทั้งในแง่ของการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์และการจัดโปรโมชันยังมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อเอาชนะใจผู้บริโภคและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าทิศทางเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว จากอานิสงส์ของการจัดอีเวนต์ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เริ่มสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่าย ซึ่งจะทำให้โมเมนตัมในไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising