ตลาด IPO ไทยปี 2566 สุดคึกคัก ตลาดหลักทรัพย์คาดมาร์เก็ตแคปหุ้นใหม่จ่อทะลุ 5.07 แสนล้านบาท หลังจากพบจำนวน IPO เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่แล้วที่มีหุ้นใหม่ 42 บริษัท คาดภาคเอกชนเร่งปรับตัว หันมาตุนเงินทุนจาก IPO รับเศรษฐกิจผันผวนทั้งโลก
แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนบริษัทที่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพิ่มขึ้นอีกประมาณเท่าตัวจากปี 2565 ที่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 42 บริษัท พร้อมทั้งประเมินว่า มูลค่ามาร์เก็ตแคป ณ ราคา IPO ของหุ้นเข้าใหม่ปีนี้จะสูงกว่าปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 5.07 แสนล้านบาท เพราะในปีนี้มีให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่อีกจำนวนหลายแห่งที่เตรียมจะขาย IPO ในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สำหรับปัจจัยเร่งที่ให้ภาคเอกชนเร่งเข้าระดมทุนผ่านการทำ IPO ในปีนี้เพิ่มขึ้น มาจากสถานการณ์โควิดที่มีการแพร่ระบาดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ให้บทเรียนและสอนให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการปรับตัว และเห็นถึงความจำเป็นในการมีเงินทุนเตรียมพร้อมไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมากจากหลายปัจจัย ทั้งจากสถานการณ์สงคราม, ราคาน้ำมันที่มีความผันผวน, อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
“จากข้อมูลที่เห็นปัจจุบัน มี บจ. เตรียมตัวจะ IPO จริงๆ มากกว่าที่เห็น แต่ที่จะ IPO ได้ทันในปีนี้ ในเชิงจำนวนน่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งน่าจะเห็นการทยอยทำ IPO มากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/66 เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปตลอดปี” แมนพงศ์กล่าว
อีกปัจจัยที่เร่งให้เกิดดีล IPO มาจากก่อนหน้านี้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการรับหลักทรัพย์ใหม่หรือบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) โดยจากเดิมกำหนดให้บริษัทต้องยื่นทำงบการเงินย้อนหลังในรูปแบบกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) เพียง 1 ปี เฉพาะปีล่าสุด ปรับเป็นให้เพิ่มงบการเงินเป็น 3 ปีย้อนหลังล่าสุด ที่ต้องทำงบแบบ PAEs ตามมาตรฐานสากลรายงานทางการเงิน (IFRS) ซึ่งจะเริ่มบังคับตั้งแต่ปี 2567
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อแผนและการตัดสินใจในการทำ IPO ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ปัจจัยการเลือกตั้งในประเทศ, สถานการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในต่างประเทศที่มีจำนวนคู่ขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสงครามระหว่างประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งคาดเดาล่วงหน้าได้ยากว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร