สถานการณ์ในตลาดหุ้น IPO (Initial Public Offering) ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับสาธารณชนผ่านตลาดหลักทรัพย์ของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำและน่าเป็นห่วงไม่น้อย แม้ว่าจะมีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งออกมาคาดการณ์ว่าตลาดดังกล่าวจะกลับมาดีดตัวฟื้นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีก็ตาม
Irene Chu นักวิเคราะห์จาก KPMG China กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นฮ่องกงในขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่เท่าที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดหวังไว้
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก KPMG ชี้ว่าในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ตลาด IPO ของฮ่องกงสามารถเสนอขายหุ้น IPO ได้ทั้งหมด 44 บริษัท และระดมทุนได้ 2.46 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จำนวนบริษัท IPO ลดลงถึง 65% ขณะที่มูลค่าระดมทุนลดลง 15%
รายงานระบุว่าตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่ในกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานแย่ที่สุดในปีที่แล้ว โดยร่วงลง 15% ในปี 2022 เป็นการลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยล่าสุดในเดือนตุลาคม ดัชนี Hang Seng และดัชนี Hang Seng Tech ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022
Ringo Choi แห่ง EY ผู้นำ IPO ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้ว่าตลาดฮ่องกงอยู่ในจุดที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับวันเก่าๆ ที่ดีในปี 2020 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งทัศนคติโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว นักลงทุนจึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่าตลาด IPO จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหรือเทียบเคียงกับวันเก่าๆ ได้
ด้านรายงานเดือนมิถุนายนโดย EY และรายงานทบทวนกลางปีที่เผยแพร่โดย KPMG China คาดการณ์ว่าตลาด IPO ของฮ่องกงอาจฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2023
กระนั้น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม การเปิดตัวสู่ตลาดของ J&T Express ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียที่ได้รับการสนับสนุนจาก Tencent กลับได้รับผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ โดยหุ้นเปิด IPO ในระดับทรงตัวและปิดตลาดปรับตัวลดลง 1.33%
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหุ้นของ J&T Express ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองในฮ่องกงในปีนี้ น่าจะระดมทุนได้อย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการจดทะเบียน แต่จำนวนดังกล่าวลดลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อ่อนแอ
ในรายงานของ Deloitte ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม ระบุว่า ตลาดหุ้นฮ่องกงยังคงอ่อนแอในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 เช่นเดียวกับการประเมินมูลค่าหุ้น เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้ขณะนี้บรรดาบริษัทที่สมัครเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนมากยังคงรอดูการพลิกกลับของการประเมินมูลค่าตลาดในระหว่างที่กำลังเตรียมและวางแผนเสนอขาย IPO
สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกงในปีนี้ ได้แก่ ZJLD Group ผู้ผลิตสุราของจีน ร่วงลง 18% ในการเปิดตัวการซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน
ขณะเดียวกัน การเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งในฮ่องกง ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียเมื่อปีที่แล้วก็ลดลงเช่นกัน โดย Zhejiang Leapmotor ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนลดลง 34% ในขณะที่ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ Onewo ลดลงเกือบ 7%
Arun George ผู้ร่วมก่อตั้งและนักวิเคราะห์ของ Global Equity Research ในรายงานวันที่ 26 ตุลาคมที่เผยแพร่บน Smartkarma ซึ่งเป็นเครือข่ายการวิจัยการลงทุน ชี้ว่าการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ของ HKEX ห้ารายการจากทั้งหมดเก้ารายการครั้งล่าสุดมีการเปิดตัวแบบราบเรียบ โดยราคาปิดล่าสุด IPO ของ HKEX ขนาดใหญ่ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2022 มีการซื้อขายต่ำกว่าราคา IPO
รายงานระบุว่าฮ่องกง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนเผชิญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิดอย่างน่าผิดหวัง โดยในเดือนตุลาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ลดการคาดการณ์การเติบโตของจีนลงเหลือ 5% ในปีนี้ และ 4.2% ในปี 2024
KPMG รายงานว่า ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นระดมทุน 2.87 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 9 ตุลาคม ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ลดลง 42% และตลาดเซินเจิ้นลดลง 23% เมื่อเทียบกับสามไตรมาสแรกของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่แค่ตลาดฮ่องกงเท่านั้นที่เจอปัญหาซบเซาตกต่ำ เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็กำลังดิ้นรนที่จะฟื้นตัวเช่นกัน ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างท้าทาย ซึ่งโดยรวมแล้วอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการฟื้นตัว
ข้อมูลจาก EY พบว่า ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีนี้มีการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 968 ครั้งทั่วโลก ซึ่งระดมทุนได้ 1.012 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 5% และ 32% เมื่อเทียบเป็นรายปีตามลำดับ
อ้างอิง: