×

เจาะเทรนด์หุ้น IPO ปี 2565: จับตา Spin-off-หุ้นใหญ่-หุ้นในกระแส New Economy

09.01.2022
  • LOADING...
ipo

สรุปข้อมูลหุ้น IPO ปี 2564 มีจำนวนบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด 38 บริษัท (เฉพาะหุ้นสามัญ) แบ่งเป็นเข้าตลาด SET 20 บริษัท และ mai 18 บริษัท 

 

หุ้นที่มีมูลค่าระดมทุนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 

  1. OR มูลค่าระดมทุน 46,980 ล้านบาท 
  2. TIDLOR มูลค่าระดมทุน 7,694.81 ล้านบาท
  3. ONEE มูลค่าระดมทุน 4,048.13 ล้านบาท
  4. BRI มูลค่าระดมทุน 2,652.83 ล้านบาท
  5. DMT มูลค่าระดมทุน 2,240 ล้านบาท

 

‘OR-TIDLOR’ ยึดตำแหน่ง ‘หุ้นมหาชน’ 

นอกจาก OR และ TIDLOR จะมีมูลค่าการระดมทุนสูงอันดับต้นๆ ในปี 2564 แล้ว ยังครองนิยาม ‘หุ้นมหาชน’ ไปด้วย เนื่องจากเป็นหุ้น IPO ที่ทำให้มีจำนวนนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยการเลือกวิธีกระจายหุ้นแบบ Small Lot First เปิดทางให้นักลงทุนบุคคลทั่วไปได้รับการจัดสรรหุ้น IPO อย่างทั่วถึง ซึ่งต่างจากวิธีการกระจายหุ้นแบบปกติที่จะใช้วิธีแต่งตั้งโบรกเกอร์เป็นตัวแทนการจำหน่ายหุ้น หุ้น IPO จึงมักจะกระจายไปสู่นักลงทุนรายบุคลที่เป็นลูกค้าโบรกเกอร์นั้นๆ 

 

โดยหุ้น OR จัดสรรหุ้น 22% ของหุ้น IPO ทั้งหมด มาให้นักลงทุนบุคคลทั่วไปที่สนใจได้มาร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจ ผ่านการจองแบบ Small Lot First และได้รับความสนใจจากนักลงทุนบุคคลทั่วไปจำนวนมากถึง 5.3 แสนราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของตลาดหุ้นไทย 

 

ขณะที่ TIDLOR จัดสรรหุ้นให้นักลงทุนบุคคลทั่วไปจำนวนทั้งสิ้น 75 ล้านหุ้น ด้วยวิธี Small Lot First โดยกำหนดจำนวนการจองหุ้นขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น คิดเป็นจำนวนผู้จองซื้อรายย่อย 75,000 ราย และมีบางรายที่ไม่ได้รับการจัดสรร 

 

‘TFM-BRI’ ตอกย้ำกลยุทธ์ Spin-off

การ Spin-off บริษัทลูกและผลักดันเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรมายาวนาน และเป็นกลยุทธ์ที่แพร่หลายทั่วโลก สำหรับตลาดหุ้นไทย กลุ่ม ปตท., กลุ่มเอสซีจี, กลุ่มซีพี และกลุ่มบีทีเอส นับเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจน 

 

ในปี 2564 มีหุ้น IPO ที่ Spin-off ออกมาจากบริษัทแม่ จำนวน 2 บริษัท คือ TFM ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ TU และหุ้น BRI ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ORI โดยทั้ง TFM และ BRI ได้สร้างเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดีในวันเข้าซื้อขายวันแรก 

 

‘ONEE’ จุดกระแสกลุ่มสื่อ

บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ ONE เป็นหุ้น IPO ในหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในตลาดทุนไทย โดยมีมูลค่าเสนอขายหุ้น 4,218 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ ONEE ประกอบธุรกิจ Holding Company ปัจจุบัน ONEE มีบริษัทในเครือกว่า 10 บริษัท ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 

 

  1. ธุรกิจผลิตเนื้อหา (Content Provider) ประเภท ละคร ซีรีส์ รายการวาไรตี้ ที่เน้นออกอากาศทางโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทีวีเป็นหลัก (ช่อง one31, บริหารจัดการช่อง GMM25) รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ทางออนไลน์

 

  1. ธุรกิจผลิตรายการวิทยุเพื่อขายโฆษณา (รายการวิทยุ EFM, GREENWAVE และ Chill Online)

 

  1. ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บริหารจัดการศิลปิน จัดคอนเสิร์ต/อีเวนต์ บริการให้เช่าสตูดิโอ

 

ธุรกิจเอี่ยว ‘ดิจิทัล’ เกาะกลุ่มกันรุ่ง  

กระแสดิจิทัลที่มาแรงตลอดทั้งปี 2564 ทำให้หุ้น IPO ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดิจิทัลได้รับความสนใจและถูกประเมินมูลค่าสูงขึ้นเช่นกัน โดยมี 4 หุ้น IPO ที่มีความเป็นดิจิทัลที่โดดเด่น ได้แก่ ADD, BBIK, BE8, DITTO และ PROEN

 

โดย BBIK ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านกลุยทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าตลาดหุ้น mai ด้วยราคา IPO ที่ 18 บาทต่อหุ้น จนปลายปี (29 ธันวาคม) ราคาอยู่ที่ 73.75 บาท เพิ่มขึ้น 309.72% 

 

BE8 ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation ให้บริการแบบครบวงจรในด้านการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) การวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ของบริษัทชั้นนำ เช่น Salesforce, Google, MuleSoft, และ Tableau เข้าตลาดหุ้น mai ด้วยราคา IPO ที่ 10 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 29 ธันวาคม ราคาหุ้นอยู่ที่ 41.50 บาท เพิ่มขึ้น 315% 

 

DITTO ดำเนินธุรกิจจำหน่ายและให้บริการด้านระบบบริหารจัดการเอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์ อย่างครบวงจร (Document and Data Management Solution) และรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ เข้าตลาดหุ้น mai ด้วยราคา IPO ที่ 7.50 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 29 ธันวาคม ราคาหุ้นอยู่ที่ 23.90 บาท เพิ่มขึ้น 218.66% 

 

ADD ประกอบธุรกิจให้บริการระบบสนับสนุนบริการดิจิทัลคอนเทนต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าตลาดหุ้น mai ด้วยราคา IPO ที่ 11 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 29 ธันวาคม ราคาหุ้นอยู่ที่ 31.75 บาท เพิ่มขึ้น 188.63% 

 

PROEN ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Information Communication and Technology: ICT) และให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านศูนย์ข้อมูล Data Center และบริการอินเทอร์เน็ต ISP และบริการคลาวด์ (Cloud Service) และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสำหรับงานโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Telecommunication and Infrastructure Service) 

 

PROEN เข้าตลาดหุ้น mai ด้วยราคา IPO ที่ 3.25 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 29 ธันวาคม ราคาหุ้นอยู่ที่ 7.40 บาท เพิ่มขึ้น 127.69%

 

เจาะเทรนด์ IPO ปี 2565 หลากหลายธุรกิจและคละไซส์

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าปี 2565 จะมีผู้ประกอบการที่ต้องเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ผ่านมา แต่ขนาดการระดมทุนจะมากกว่า โดยทางฝั่งผู้ระดมทุนนั้นจะมีความหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น และขนาดผู้เข้าระดมทุนก็จะกระจายไปทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ มาจนถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม 

 

หุ้นใหญ่-หุ้น New Economy อยู่ระหว่างเตรียมตัว

โดยจากข้อมูลไฟลิ่งที่เริ่มยื่นเข้ามาที่สำนักงาน ก.ล.ต. และจำนวนผู้สนใจเข้าร่วม Live Platform พบว่า ในปี 2565 มีบริษัทขนาดใหญ่มีความต้องการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นดีลใหญ่คล้ายๆ กับการเข้าระดมทุนของ OR และ TIDLOR แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้วิธีการกระจายหุ้นแบบเดียวกันหรือไม่ 

 

นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ประกอบการธุรกิจที่สอดคล้องกับ New Economy เข้ามาระดมทุนด้วย รวมไปถึงธุรกิจขนาดกลางที่มีความพร้อมอีกจำนวนมาก 

 

แมนพงศ์กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์พยายามปรับปรุงและพัฒนาตลาด เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนที่เปิดทางให้ผู้ประกอบการที่มีความต้องการและมีความพร้อมเข้ามาระดมทุนเพื่อนำเงินไปต่อยอดการเติบโต โดยตลอดปี 2564 ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์การรับหลักทรัพย์เพื่อให้สอดรับกับบริบททางธุรกิจและการลงทุนมาตลอด ที่เห็นภาพได้ชัดสุดคือการสร้าง Live Platform เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจ และมีคุณสมบัติที่จะระดมทุมได้ ทั้งในรูปแบบของการเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai และระดมทุนจากนักลงทุนเฉพาะกลุ่มใน LiVE Exchange  

 

“ในปี 2565 LiVE Exchange ก็จะเริ่มให้บริการ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อมและมีคุณสมบัติครบตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ได้เข้ามาระดมทุนเพื่อต่อยอดการเติบโตให้กับบริษัทเพิ่ม” 

 

กลุ่มทุนใหญ่เตรียม Spin-off บริษัทลูกเข้าตลาด 

แหล่งข่าววงการตลาดทุนรายหนึ่งระบุว่า การ Spin-off บริษัทลูก และดันเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นจะยังมีให้เห็นในปี 2565 แม้ว่าจะเริ่มมีมุมมองว่าบริษัทขนาดใหญ่ล้วนเข้าตลาดมาหมดแล้วก็ตาม 

 

โดยจากที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร พบว่ากลุ่มเอสซีจีก็ยังมีแผนที่จะ Spin-off ธุรกิจเคมีออกมา และผลักดันเข้าตลาด ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ระหว่างการเตรียมตัว นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่ากลุ่มสิงห์ฯ จะมีการ Spin-off ธุรกิจ Non-Alcohol เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนตัวก็ประเมินว่าเป็นไปได้และไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ

 

“ต้องยอมรับว่าบริษัทส่วนใหญ่ของไทยยังเป็น Traditional กันอยู่ การเติบโตแบบ Organic Growth ในระดับสูงเป็นเรื่องยาก เพราะองค์กรใหญ่เลยอุ้ยอ้าย วิธี

เพิ่มมูลค่าก็คือส่งเสริมให้หน่วยธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตในยุคปัจจุบัน เช่นหน่วยธุรกิจที่มีความเป็นดิจิทัลสูง หรือหน่วยธุรกิจที่มียอดขายสูงในตลาดที่ใหญ่ เข้ามาระดมทุน เพื่อนำเงินไปสร้างการเติบโตต่อ” แหล่งข่าวกล่าว  

 

ไอบีเชื่อกระแสนิยม IPO ยังพุ่ง

รัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ฝ่ายวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า ความสนใจในหุ้น IPO ปี 2565 จะใกล้เคียงหรือดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 2564 เนื่องจากบริษัทไทยยังมีการเติบโตที่น่าสนใจหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่สามารถสร้างการเติบโตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเมื่อบริษัทเหล่านั้นสามารถปรับตัวจนผ่านวิกฤตมาได้แล้ว การเข้าระดมทุนจะเป็นวิธี Scale Up ที่ดี ช่วยให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ต่อ 

 

ปัจจุบัน บล.เคทีบีเอสที มีลูกค้าที่ต้องการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และอยู่ระหว่างเตรียมตัวจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น กลุ่มโลจิสติกส์ พลังงาน ขณะเดียวกันยังมีดีลเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการที่อยู่ระหว่างเตรียมตัวอีกด้วย 

 

“มองว่าตลาดหุ้น IPO ปี 2565 จะได้รับความสนใจต่อเนื่องจากปี 2564 ทั้งจากฝั่งผู้ต้องการระดมทุน เพราะตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเปิดโอกาสการเติบโตให้กับผู้ประกอบการในหลากหลายแง่มุม ขณะที่ฝั่งนักลงทุนเองก็ต้องการสินค้าหรือหุ้นใหม่ๆ ที่สามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจในการเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก”​

 

คาด ‘6 IPO’ ประเดิมเข้าเทรดไตรมาส 1/65 

THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมข้อมูลหุ้น IPO ที่คาดว่าจะเข้าซื้อขายใน SET และ mai ภายในไตรมาส 1/65 พบว่ามี 6 บริษัทที่เป็นตัวเต็ง ประกอบด้วย 

 

  1. บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น หรือ TKC เตรียมขายหุ้น IPO จำนวน 78 ล้านหุ้น คิดเป็น 26% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO 

 

โดย TKC เป็นผู้ให้บริการ รับเหมาโครงการแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) โดยออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ พัฒนาซอฟต์แวร์ และบำรุงรักษาในสายงานวิศวกรรมระบบโทรคมนาคม (Telecommunications) ระบบสื่อสารข้อมูล (Data Communications) และระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) รวมถึงให้บริการงานวิศวกรรมและบำรุงรักษา และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

 

2. บมจ.ฑีฆาก่อสร้าง หรือ TEKA เตรียมขายหุ้น IPO ไม่เกิน 75 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO 

 

ทั้งนี้ TEKA เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเป็นผู้รับเหมาหลักของโครงการ ซึ่งครอบคลุมงานตั้งแต่งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบประกอบอาคาร 

 

3. บมจ.พีซแอนด์ลีฟวิ่ง หรือ PEACE เตรียมขายหุ้น IPO ไม่เกิน 84 ล้านหุ้น คิดเป็น 20% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO 

 

PEACE ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบ พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้แบรนด์ ‘Cher’, ‘Cordiz’ และ ‘The Glamor’

 

4. บมจ.โชติวัฒน์อุตสาหกรรม หรือ CMCF เตรียมขายหุ้น IPO จำนวน 187.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO

 

CMCF เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสุญญากาศ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

 

5. บมจ.พรีเมียร์ แทงค์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PTC เตรียมขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 110 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.83% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO

 

ทั้งนี้ PTC ประกอบธุรกิจคลังน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรับ เก็บ ผสม และจ่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง

 

6. บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป หรือ ACOM เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 1,942.42 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 40% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO

 

โดย ACOM เป็น Holding Company ลงทุนในบริษัทย่อยทั้งในและต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) อย่างครบวงจรรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X