เมื่อโลกเดินมาสู่ยุคที่การเชื่อมต่อไร้ขีดจำกัด อินเทอร์เน็ตกำลังเร่งสปีดความแรงขึ้นเรื่อยๆ และ 5G กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างฉับไวมากขึ้น เทรนด์เทคโนโลยีที่เตรียมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้คือ IoT หรือ Internet of Things ที่เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราจะสามารถส่งข้อมูลถึงกันได้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รถยนต์บนท้องถนน ไปจนถึงเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม
แม้ IoT จะไม่ใช่เรื่องใหม่ และกำลังค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราในหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ยังถือเป็นเทรนด์ที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2020 ที่คาดว่าจะมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ IoT สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 30% ต่อปีจนถึงปี 2023 นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากถึง 5 หมื่นล้านชิ้น สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสอีกมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้
IoT จะมีบทบาทกับชีวิตเราอย่างไร และอะไรคือโอกาสที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีนี้ THE STANDARD ชวนคุยกับ ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผู้นำด้านโครงข่ายดิจิทัล ที่จะฉายภาพอนาคตของประเทศไทยในวันที่ IoT กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
IoT อาวุธทรงพลังของโลกธุรกิจ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา IoT เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ Smart Wearable ที่เก็บข้อมูลในชีวิตประจำวันของผู้สวมใส่ เช่น Smart Watch หรืออุปกรณ์ Smart Home เช่น Smart Lighting ดวงไฟที่สามารถเปิด-ปิดได้จากการสั่งงานทางไกล แม้ตัวจะไม่อยู่บ้าน รวมไปถึงเซนเซอร์ตรวจวัดค่าต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิตของเราเป็นเรื่องง่ายขึ้น
แต่เมื่อมองภาพใหญ่กว่านั้น ดร.ณัฏฐวิทย์ เชื่อว่า IoT จะช่วยยกระดับขีดการแข่งขันทางธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และอาจเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยบนพื้นฐานของข้อมูลมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาจากอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือการใช้ IoT กับองค์กรขนาดใหญ่อย่างการประปานครหลวง ที่นำสมาร์ทมิเตอร์ไปติดตั้งแทนมิเตอร์แบบเดิม จากที่เคยต้องใช้พนักงานจดมิเตอร์จำนวนมากตระเวนไปจดปริมาณการใช้น้ำตามบ้านต่างๆ ก็เปลี่ยนเป็นการรอรับข้อมูลอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางภายในเสี้ยววินาที ทั้งลดจำนวนคน ทั้งประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งนี่ถือเป็น Use Case ที่เกิดขึ้นจริงแล้วจากเทคโนโลยีที่เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง CAT และองค์กรต่างๆ
“IoT คืออะไรก็ตามที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ และมีขีดความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลจากตัวมันเอง เข้าไปที่ระบบประมวลผลกลาง หรือรับคำสั่งจากระบบประมวลผลกลางให้ทำงานตามที่ผู้ใช้งานต้องการ ผลที่ได้รับก็คือประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้นจากการที่เรานำ IoT ไปประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตามผมมองว่าเทคโนโลยีนี้ยังช่วยทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น ช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งเวลา งบประมาณ รวมถึงบุคลากรในการทำงาน ปัจจุบันลูกค้าเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ IoT ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มลูกค้าที่เราให้บริการมีอยู่ด้วยกันหลายส่วน ทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เราสามารถเติมเต็มความต้องการในการทำ Digital Transformation ด้วยบริการ IoT และบริการดิจิทัลอื่นๆ ของเราได้อีกมาก” ดร.ณัฏฐวิทย์ กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ IoT ในโลกธุรกิจ
แต่ IoT ไม่ใช่เรื่องของอุปกรณ์เท่านั้น เพราะการจะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสารถึงกันได้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพที่ออกแบบมาสำหรับเทคโนโลยี IoT โดยเฉพาะ นั่นจึงทำให้ CAT เร่งพัฒนาเครือข่าย LoRaWAN ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้งาน IoT ในอนาคตของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
LoRaWAN เครือข่ายอัจฉริยะ เชื่อมต่อฉับไว สำหรับโลก IoT
ถ้าขุมพลังสำคัญสำหรับสมาร์ทโฟนคือเครือข่าย 5G ที่จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น แรงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เครือข่าย LoRaWAN ของ CAT ก็คือขุมพลังของ IoT ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อแบบไร้สายของอุปกรณ์ต่างๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยจุดเด่นในเรื่องของระยะทางการสื่อสารที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ในระยะไกล 5-15 กิโลเมตร ที่สำคัญคือใช้พลังงานต่ำ และสามารถกำหนดให้อุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่โหมดประหยัดพลังงานในกรณีที่ไม่ได้รับส่งข้อมูลได้ ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ IoT ให้นานยิ่งขึ้นสำหรับอุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่ที่ทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่
“พูดง่ายๆ คือ LoRaWAN เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อ IoT โดยเฉพาะ เพราะหลักการทำงานของมันคือ เมื่อถึงเวลาส่งข้อมูลมันก็จะตื่นขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน เช่น เราอาจจะตั้งค่าให้อุปกรณ์นั้นส่งข้อมูลทุก 5 นาที หรือ 6 ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมงก็ตาม เมื่อส่งข้อมูลเสร็จแล้วมันก็จะเข้าสู่โหมดพัก ทำให้ประหยัดพลังงาน สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนานแม้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบางเคสอาจอยู่ได้นานถึง 5 ปีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ เหมาะสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล
“อีกจุดเด่นที่สำคัญคือ LoRaWAN จะมีรัศมีการรับ-ส่งข้อมูลที่ครอบคลุมได้กว้างไกล โดยเฉพาะถ้าเป็นภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรมาบดบังเลย คลื่นสัญญาณ LoRa สามารถส่งข้อมูลได้ไกลถึง 20 กิโลเมตรจากสถานีรับส่งสัญญาณเลยทีเดียว ตอบโจทย์เรื่องความครอบคลุมของพื้นที่ใช้งานในพื้นที่ห่างไกล เราพัฒนาเครือข่าย LoRaWAN บนโครงสร้างพื้นฐานเช่นเสาโทรคมนาคมและระบบสื่อสัญญาณเดิมของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เราให้บริการอยู่ ทำให้เราสามารถขยายบริการได้อย่างรวดเร็วบนต้นทุนที่ต่ำ สะท้อนไปยังค่าบริการที่คุ้มค่าต่อผู้บริโภคปลายทาง ปัจจุบันเราให้บริการ IoT บนเครือข่าย LoRaWAN มาแล้วกว่า 2 ปี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่รัฐบาลมุ่งเน้นให้เป็น Smart City อย่างเช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น รวมถึงจังหวัดในเขตพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่เป็นต้น”
ปัจจุบันเครือข่าย LoRaWAN ครอบคลุมแล้วทั่วประเทศ นั่นหมายถึงโอกาสมหาศาลที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนจะนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ ทั้งในแง่การบริหารจัดการจราจร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม การเก็บข้อมูลการท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากจะเร่งพัฒนาเครือข่าย LoRaWAN ให้รองรับการใช้งาน IoT ทั่วประเทศแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายของ CAT คือการให้บริการ Cloud Data Hosting ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาจากอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับลูกค้าซึ่งต้องอาศัยทักษะ Data Analytics ที่ทาง CAT กำลังเร่งสร้างทีมงานเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในยุคที่ว่ากันว่าเป็นยุค ‘Data is a New Oil’ เพื่อสามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทยได้อย่างครบวงจร
แม้ IoT จะเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีองค์กรอีกจำนวนมากที่ยังปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงซึ่ง ดร.ณัฏฐวิทย์ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า
“โจทย์สำคัญคือทุกวันนี้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงาน และการดำเนินธุรกิจ ไม่ช้าก็เร็วมันก็จะเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งแรกที่ทุกองค์กรต้องทำคือ การถามตัวเองก่อนว่าในอนาคตอันใกล้นี้ โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรกับการทำธุรกิจ เป้าหมายของการทำ Digital Transformation ของตัวเองคืออะไร ใครที่ตระหนักก่อน ลงมือทำก่อนจะเป็นผู้ได้เปรียบ และมีโอกาสที่จะอยู่รอดในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้มากยิ่งขึ้น
“ถ้าไม่เลือกจะเปลี่ยนในวันนี้ คุณก็อาจจะโดนบังคับให้เปลี่ยนในอนาคต”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์