ผลสำรวจ Fed Survey ฉบับล่าสุด พบมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ห่วงเงินเฟ้อพุ่งแรง ทำ Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยยิ่งฉุดเศรษฐกิจ ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ปรับพอร์ตเน้นสินค้าโภคภัณฑ์และถือเงินสดเพิ่ม
สถานีโทรทัศน์ CNBC เปิดเผยผลสำรวจ Fed Survey ฉบับล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า ผู้เชี่ยวชาญได้เพิ่มแนวโน้มความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ จากตัวเลขเดิม 10% ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33% ขณะที่ภูมิภาคยุโรปมีโอกาสเผชิญกับภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นถึง 50%
กาย เลอบาส (Guy LeBas) หัวหน้านักกลยุทธ์ตราสารหนี้ของ Janney Montgomery Scott) กล่าวว่า แนวโน้มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยเพิ่มขึ้น เพราะภาวะเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้น จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในหลายประเทศ นำโดย Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บวกกับปัจจัยไม่แน่นอนจากกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามต่างกำลังถกเถียงกันว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้จะทำให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นหรือไม่ เพราะเกรงว่าการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้อจะส่งผลขัดขวางการเติบโต
ด้าน ร็อบ มอร์แกน รองประธานอาวุโสบริษัท Mosaic คาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ภายในปี 2022 แต่หากว่าดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 9% ในเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายนนี้ ก็อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพฤษภาคมนี้
ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 33 คนนี้ ซึ่งประกอบด้วยผู้จัดการกองทุน นักกลยุทธ์ และนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันต่างๆ ระบุว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย 4.7 ครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 1.4% ก่อนขยับแตะ 2% ภายในปี 2023
นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือราว 48.4% มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 5-7 ครั้งในปีนี้ และอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นจนแตะระดับสูงสุดไม่เกิน 2.4% กระนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่งเชื่อว่า Fed อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหนือกว่าค่าเฉลี่ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะผลักดันให้มีการเพิ่มระดับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed คือตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 8.5% ในเดือนมีนาคม ก่อนค่อยๆ ลดลงจนแตะระดับ 5.2% ในช่วงสิ้นปี 2022 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.3% ในปี 2023
ปีเตอร์ บุ๊ควาร์ (Peter Boockvar) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Bleakley Advisory Group กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจมาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และ Fed ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องกัดฟันเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเรื่อยๆ จนกว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจความเห็นบรรดาผู้จัดการกองทุนรายเดือนของ Bank of America (BofA) พบว่า เหล่านักลงทุนในตลาดขณะนี้มีความระมัดระวังต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากกว่าครั้งไหนๆ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 2008 อีกทั้งยังเพิ่มการถือครองเงินสดในระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี
ทั้งนี้ บรรดาผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ ซึ่งบริหารจัดการสินทรัพย์มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเข้าร่วมการสำรวจความเห็นที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-10 มีนาคมที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปีนี้ตลาดมีโอกาสเผชิญภาวะตลาดซบเซา หรือตลาดหมียาวนาน ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจะลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2020
ในส่วนของระดับการถือครองเงินสดของนักลงทุนล่าสุดเพิ่มขึ้นเกือบ 6% และส่วนใหญ่ปรับพอร์ตเพิ่มสัดส่วนในการเข้าไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 33% และสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผู้เทรดอย่างหนาแน่นที่สุดก็คือน้ำมัน
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/03/15/forecasters-sees-growing-chance-of-a-recession-as-fed-hikes-rates-this-year-to-fight-inflation.html
- https://www.channelnewsasia.com/business/investors-dump-stocks-flee-cash-growth-outlook-hits-weakest-2008-bofa-2565621
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP