หากคุณไม่ได้มีทองคำแท่งเก็บไว้เต็มห้องใต้ดิน อาจรู้สึกเหมือนตกรถไฟขบวนใหญ่ไปแล้ว เพราะราคาทองคำทะยานขึ้นถึง 43% ในปีที่ผ่านมา เฉพาะปีนี้ก็พุ่งไปแล้ว 26% และเฉพาะเดือนล่าสุดก็เพิ่มอีก 10% ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก แต่ก็สมเหตุสมผลอย่างยิ่งในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่มองว่าทองคำคือ ‘สินทรัพย์ป้องกันภัย’ ที่ดีที่สุดในพอร์ตลงทุน ซึ่งควรมีไว้
กระนั้นก็ไม่ควรหวังให้ราคาสูงเกินไป เพราะนั่นมักเป็นสัญญาณว่ามีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ภัยพิบัติทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่มั่นคงของค่าเงิน ปัญหาหนี้สาธารณะ หรือสงครามการค้า ทองคำเปรียบเสมือน ‘สินทรัพย์แห่งความกลัว’ อย่างแท้จริง
สถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนภาพนั้นชัดเจน ราคาทองคำกำลังไต่ระดับขึ้นเพราะปัจจัยลบต่างๆ ดูเหมือนจะถาโถมเข้ามาพร้อมกัน การรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบของรัสเซียในปี 2022 และท่าทีของรัฐบาล Biden ในช่วงเวลานั้นที่ตอบโต้ด้วยการอายัดทรัพย์สินรัสเซียมูลค่าราว 2.8 แสนล้านดอลลาร์ ยิ่งเร่งให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องการลดการถือครองเงินดอลลาร์
เพราะหากสหรัฐฯ และยุโรปสามารถยึดสินทรัพย์ดอลลาร์ได้ง่ายๆ การถือครองสินทรัพย์สกุลนี้ก็ดูจะเสี่ยงเกินไป และการหันไปหาสินทรัพย์ที่ไม่มีประเทศใดควบคุมได้อย่างทองคำจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
จีนดูจะเป็นหนึ่งในประเทศที่คิดเช่นนั้น เมื่อสามปีก่อน จีนมีสัดส่วนทองคำในทุนสำรองเพียง 3.5% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 7.1% แล้ว
อย่างไรก็ตาม ความต้องการทองคำไม่ได้มาจากความกังวลของธนาคารกลางเท่านั้น แต่ทุกคนในปัจจุบันต่างมีเรื่องให้ต้องกังวล ทั้งสงครามร้อน สงครามเย็น สงครามอวกาศ สงครามการค้า นโยบายที่คาดเดาไม่ได้ในสหรัฐฯ กระแส Deglobalization ที่ดำเนินต่อไป
และที่สำคัญคือความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่ารัฐสวัสดิการตะวันตกทั้งหลายกำลังมีหนี้สินท่วมท้น จน John Gumpel จาก Aubrey Capital Management ถึงกับกล่าวว่า “มีความมั่นคงทางการเงินที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก”
หากประเทศส่วนใหญ่พยายาม ‘ใช้เงินเฟ้อลดภาระหนี้’ (ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด) ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่เงินเฟ้อระยะยาวจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ทำให้ทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง ไม่ขึ้นกับการกำหนดของรัฐ ดูจะเป็น ‘หลุมหลบภัย’ ที่ปลอดภัยที่สุด คำถามคือทำไมถึงจะไม่ถือครองทองคำ?
เหตุผลเดียวที่อาจทำให้ลังเลในตอนนี้คือความเร็วในการปรับขึ้นของราคา จนกระทั่งไม่นานมานี้ ตลาดกระทิงของทองคำยังค่อนข้างเงียบ นักลงทุนรายย่อยหรือสถาบันส่วนใหญ่ดูจะไม่สนใจนัก แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ราคาทองคำได้ขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งของ Financial Times เมื่อสัปดาห์ก่อน
และผลสำรวจชี้ว่าทองคำกลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ผู้จัดการกองทุนชื่นชอบ นักลงทุนยุโรปและสหรัฐฯ ได้เข้าซื้อทองคำไปแล้วอย่างน้อย 240 ตันในปี 2025 นี้ หลังจากเมินเฉยมา 3 ปีเต็ม ขณะที่นักลงทุนรายย่อยในจีนก็กำลังซื้ออย่างคึกคัก
แต่หากเทียบกับตลาดกระทิงของทองคำในอดีตภายใต้สถานการณ์คล้ายกัน ครั้งนี้ถือว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ระหว่างสิงหาคม 1970 ถึงมกราคม 1980 ราคาทองคำพุ่งขึ้นถึง 20 เท่า และในตลาดกระทิงช่วงปี 2000-2011 ก็เพิ่มขึ้น 7 เท่า
การพุ่งขึ้น 40% ในปีนี้จึงดูเล็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับการทะยานกว่า 120% ในปี 1979 และยากที่จะจินตนาการว่าปัจจัยหนุนต่างๆ ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า สงครามเย็น ปัญหาหนี้สาธารณะ หรือเงินเฟ้อ จะหายไปในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการพักฐานหรือปรับฐานในระยะสั้น ยังมีข่าวดีคือ ‘ตัวแทนทองคำ’ อื่นๆ ยังคงมีราคาถูกอย่างมาก
สินทรัพย์แรกคือ โลหะเงิน (Silver) ซึ่ง John Stepek ชื่นชอบเป็นพิเศษ James Fergusson จาก Macro Strategy ชี้ว่า มีเพียงครั้งเดียวในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา ที่โลหะเงินมีราคา ‘ถูกเมื่อเทียบกับทอง’ ขนาดนี้ และนั่นก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ราวสองเดือนในปี 2020 เท่านั้น
นอกจากนี้ ราคาโลหะเงินเคยพุ่งไปแตะระดับสูงสุดที่กว่า 50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในตลาดกระทิงทองคำสองครั้งล่าสุด แต่ปัจจุบันอยู่ที่เพียง 33 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ถัดมาคือ บริษัทเหมืองทองคำ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่เพิ่มทั้งโอกาสกำไรและความ
เสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ราคาหุ้นกลุ่มนี้มักไม่ได้เคลื่อนไหวตามทองคำทันที แต่ขึ้นอยู่กับว่าราคาทองคำจะยืนอยู่ในระดับสูงได้นานแค่ไหน
Ferguson กล่าวว่า ปัจจุบัน หุ้นเหมืองทองคำยังปรับตัวขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มาก หากต้องการดูแนวโน้ม ลองย้อนไปดูเดือนตุลาคม 2000 ซึ่งตอนนั้นหุ้นเหมืองทองคำไม่เป็นที่นิยมและมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 เหมือนในตอนนี้ แต่พอถึงเดือนตุลาคม 2010 หุ้นกลุ่มนี้กลับให้ผลตอบแทนสูงกว่าถึง 10 เท่า
Ferguson แนะนำว่า “ดังนั้น หากคุณพลาดรอบการขึ้นขบวนรถไฟของทองคำรอบนี้ และต้องการประกันพอร์ตลงทุน หรือแค่ชอบทองคำ คุณควรเปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นเหมืองทองคำ” และคุณไม่ได้คิดเช่นนี้คนเดียว Ben Whitmore นักลงทุนเน้นคุณค่าระดับโลก ก็ถือหุ้นเหมืองทองคำไว้ในพอร์ตของเขาเช่นกัน
ภาพ: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD
อ้างอิง: