สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า นักลงทุนชาวอเมริกันในห้วงเวลานี้ต่างให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าเดิม เห็นได้จากบรรดาเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ขณะที่เหล่าเฮดจ์ฟันด์ต่างก็เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดก็ไม่น้อยหน้า ก้าวเข้ามาเป็นผู้ซื้อคืนหุ้นรายใหญ่ด้วยสัดส่วนการซื้อคืนที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า
แม้ว่าความเคลื่อนไหวของทิศทางการลงทุนดังกล่าวจะแสดงให้เห็นสัญญาณความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลและความหวังในเรื่องวัคซีน แต่ขณะเดียวกัน การแห่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในลักษณะดังกล่าว ยังเป็นสัญญาณเตือนอันตรายถึงสภาวะฟองสบู่อีกทางหนึ่งด้วย
บลูมเบิร์ก Bloomberg รายงานว่า ดัชนี S&P 500 ขณะนี้ขยับปรับขึ้นถึง 75% จากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว กลายเป็นการขยับปรับขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในวงจรของตลาดกระทิง (ตลาดขาขึ้น) นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 หรือราวๆ 90 ปี
ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดของภาวะตลาดหมีครั้งล่าสุด วงจรขาขึ้นในขณะนี้เพิ่งมีอายุเพียง 11 เดือนเท่านั้น แต่อัตราความเร็วในการขยับขึ้นกลับแซงหน้าวงจรตลาดกระทิงครั้งก่อนหน้า อย่างน้อยก็ 3 ครั้ง ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะที่นักลงทุนมองว่าตลาดจะยังคงขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ อัตราความเร็วดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ภาวะขาขึ้นน่าจะเข้าสู่ช่วงตอนปลายและใกล้ขยับลงได้แล้ว ซึ่งบางรายเห็นว่าอาจไม่รุนแรงถึงระดับที่จะเกิดฟองสบู่ แต่ก็เป็นธงแดงที่สมควรต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน
กระนั้น ข้อมูลจากสถาบันการเงินช้้นนำหลายแห่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับแสดงให้เห็นตัวเลขปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในระดับสูงสุดทุบสถิติ เป็นการเข้ามาเก็งกำไรในปริมาณที่มากกว่าช่วงวิกฤตดอตคอม แถมสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงมากขึ้น เมื่อบริษัทเอกชนในตลาดทำตัวเป็นนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทตนเอง โดยใน Earning Season นี้ มีการประกาศซื้อคืนหุ้นเฉลี่ย 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ทำสถิติสูงสดนับตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งบริษัทเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มักจะเข้ามาในช่วงตอนปลายของตลาดกระทิง ที่จะทำให้ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะการปรับฐานอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: