อีกไม่นานก็จะเข้าถึงช่วงการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อที่จะอนุมัติงบการเงินประจำปี การจ่ายเงินปันผล และเรื่องสำคัญอื่นๆ แต่สถานการณ์โควิด-19 ก็ยังไม่หมดไป ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มักจะมีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก จึงมีการพิจารณาจัดประชุมผู้ถือหุ้นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-AGM เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้เรามาเรียนรู้ที่มาที่ไป และข้อดีข้อเสียของการจัดประชุมในลักษณะนี้กันครับ
มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้การเข้าประชุมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการประชุมกับคนหมู่มากในสถานที่ปิดและเป็นระยะเวลานาน เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งทางรัฐบาลก็เข้าใจถึงปัญหานี้ จึงได้มีการออกพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ขึ้นมาทดแทนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีอยู่เดิม
การประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีข้อดีอีกมากมายดังนี้
- ให้โอกาสผู้ถือหุ้นที่ไม่สะดวกในการประชุมด้วยตนเอง เช่น อยู่ในต่างประเทศหรือต่างจังหวัด
- ลดการเดินทาง และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการประชุมผู้ถือหุ้น เช่น ลดการก่อก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณขยะ และลดการใช้พลังงาน
- ทำให้การนับคะแนนเสียงสะดวกและรวดเร็ว
- การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มักจะมีการบันทึกเสียงและภาพของการประชุม ทำให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่สะดวกจะมาประชุมเอง สามารถชมย้อนหลังได้สะดวกมากขึ้น
- ลดต้นทุนในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นมากๆ
แต่ก็มีปัญหาและความท้าทายอยู่บ้าง เช่น
- ในกรณีเกิดเหตุขัดข้อง เช่น มีปัญหากับระบบอินเทอร์เน็ต อาจจะทำให้การประชุมมีปัญหาได้ โดยเฉพาะประเด็นการนับองค์ประชุมและลงคะแนนเสียง
- ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยี (Digital Literacy) ของผู้ถือหุ้น ที่อาจจะทำให้มีความยุ่งยากในการลงทะเบียนหรือการเข้าประชุม เป็นต้น
- ผู้ถือหุ้นบางส่วนที่มักจะไปประชุมผู้ถือหุ้นด้วยตนเอง เพื่อรับของแจก ของฟรีทั้งหลาย คงจะมีโอกาสได้รับสิ่งเหล่านี้ลดลงไปมาก
แต่การประชุมในลักษณะนี้ก็จะต้องมีมาตรฐานในการดำเนินการ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมมั่นใจ และสามารถที่จะมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งในกฎหมายใหม่นี้ ทางผู้จัดต้อง
- จัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงตนก่อนร่วมประชุม
- จัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งแบบลงคะแนนโดยเปิดเผยและแบบลงคะแนนลับ
- จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ (สามารถจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้)
- จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคน ตลอดระยะเวลาที่ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ
- จัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน
- เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจกำหนด
ทั้งนี้ ในปีนี้ การประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์น่าจะได้รับความนิยมสูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจาก ศบค. และหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ประชุมในเขต กทม. และจังหวัดข้างเคียง ยังมีการห้ามการประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 300 คนอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคงจะทำให้การประชุมผู้ถือหุ้นในรูปแบบการสัมมนาแบบปกติแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ที่อาจจะพอเป็นไปได้ ก็เป็นการประชุมผู้ถือหุ้นแบบลูกผสม (Hybrid) คือ มีทั้งการประชุมแบบออนไลน์และออฟไลน์พร้อมๆ กัน ซึ่งทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ให้ความเห็นว่าน่าจะสามารถทำได้
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่สนใจจัดการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถติดต่อผู้ให้บริการระบบการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับมาตรฐาน ซึ่งทางกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็กำลังจะเปิดให้บริการดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ แต่ละผู้ให้บริการมีราคา และความสามารถ (Feature) ของระบบแตกต่างกันพอสมควร ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนจึงควรที่จะพิจารณาให้เหมาะสมกับลักษณะการประชุมผู้ถือหุ้นของตน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ
ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve
สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events