เมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา กลายเป็นช่วงที่ตลาดการเงินมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย และหนึ่งเทรนด์ที่นักลงทุนสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัดคือ การขายหุ้นจีน เข้าซื้อหุ้นอินเดียและญี่ปุ่น
เรียกว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีที่นักลงทุนลดการลงทุนในหุ้นจีนลง ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ตลาดหุ้นอินเดียมีขนาด Market Capitalization สูงขึ้นจนเท่ากับตลาดฮ่องกง ขณะเดียวกันก็ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังเห็นหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในที่สุด
แค่เพียงเดือนเดียว เงินทุนเคลื่อนย้ายทำให้หุ้นญี่ปุ่นบวกไปแล้วกว่า 7% และหุ้นจีนลบ 10% จนนักลงทุนหลายท่านอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า เทรนด์สำคัญนี้จะอยู่กับตลาดไปอีกนานไหม และสายเกินไปที่จะปรับพอร์ตแล้วหรือเปล่า
ผมจึงนำข้อมูลของทั้ง 3 ตลาดในปัจจุบัน (MSCI Japan, China และ India) มาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพและสามารถวางกลยุทธ์ตามไปพร้อมกัน
ศึกแรก เปรียบเทียบการเติบโตทั้ง 3 ตลาดมีจุดแข็ง-จุดอ่อนที่ต่างกัน
ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่ารายได้ของทั้ง 3 ตลาดเติบโตไม่เท่ากัน วัดจากยอดขาย (Forward Sales) อินเดียเป็นตลาดที่เติบโตดีที่สุดเฉลี่ย 9% ต่อปี จีนเป็นอันดับ 2 ที่ราว 5% ขณะที่ญี่ปุ่นเติบโตเฉลี่ยแค่ 1% ต่ำกว่าหุ้นโลก (MSCI ACWI)
อย่างไรก็ดี ถ้ามองที่รายได้ (Forward EPS) หุ้นญี่ปุ่นจะขยับขึ้นมาเป็นตลาดที่มี Net Profit Margin ดีที่สุด เพราะ EPS เติบโตเฉลี่ย 4% ส่วนจีนและอินเดียจะมีการเติบโตของรายได้ใกล้เคียงกับยอดขาย
สำหรับมุมมองอนาคต แม้ตลาดยังคงมองว่าอินเดียจะมียอดขายเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มราว 10-15% ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่จีนพลิกกลับมาเป็นตลาดที่นักลงทุนให้มุมมองดีที่สุดด้านรายได้ จากการรวบรวมประมาณการโดย Bloomberg คาดว่าจีนจะมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 5-15% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ดีกว่าทั้งญี่ปุ่นและอินเดียที่ตลาดคาดว่ารายได้จะเติบโตเฉลี่ย 3-9%
สรุปประเด็นด้านเติบโตจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อินเดียชนะด้านยอดขาย ญี่ปุ่นชนะด้านการทำกำไร ส่วนจีนมีมุมมองการเติบโตต่อจากนี้สูงที่สุด
ศึกที่ 2 คือ ระดับมูลค่า หรือ Valuation ทั้ง 3 ตลาดมีโครงสร้างของความถูก-แพงที่แตกต่างเช่นกัน
เริ่มจากถูกที่สุดต้องยกให้หุ้นจีน ปัจจุบันซื้อ-ขายที่ระดับ Forward P/E เพียงราว 10x ถูกกว่าทั้งค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 12x และถูกกว่าหุ้นโลกตอนนี้ที่ 15x แต่ความถูกของหุ้นจีนมีสาเหตุจากโครงสร้างที่ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยถึง 30% ตามมาด้วยกลุ่มสื่อสารและการเงินอีก 33% ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจในประเทศสูง ถ้าการบริโภคไม่ฟื้นตัว โอกาสที่จะถูกแล้วถูกอีกก็มี
ฝั่งหุ้นญี่ปุ่นปัจจุบันถือว่าไม่ถูก เพราะซื้อกันในระดับ 15x เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีตและใกล้เคียงกับหุ้นทั่วโลก จุดเด่นคือประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเติบโตสูงรวมกันกว่า 35% ตามด้วยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย 15% และการเงิน 12% ที่ปัจจุบันซื้อ-ขายบน Valuation ระดับ Developed Markets (DM) แม้ราคาแพง แต่มีคุณภาพพอที่จะสามารถแพงขึ้นได้อีก
หุ้นอินเดียคือตลาดที่ซื้อ-ขายในระดับแพงกว่าที่อื่นมาโดยตลอด ปัจจุบันถือว่ายิ่งแพงมาก เพราะซื้อ-ขายกันอยู่ที่ระดับ 26x แพงกว่าทุกที่และแพงกว่าค่าเฉลี่ย P/E ในอดีตของตัวเองที่ 19x ถึงกว่า 37% ยิ่งถ้ามององค์ประกอบของตลาดที่อุดมไปด้วยกลุ่มการเงินและพลังงานกว่า 34% Valuation ไม่ควรแพง แต่กลุ่มเทคโนโลยีและสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีสัดส่วนราว 23% คือกลุ่มดึงตลาด แบกรับความหวังด้านการเติบโตของอินเดียเอาไว้
โดยสรุปผมมองว่า จีนมีส่วนลดบน Valuation มากที่สุด ญี่ปุ่นมีจุดเด่นที่ซื้อ-ขายในระดับราคา DM ได้ ส่วนระดับราคาของอินเดียนั้นสูงอยู่แล้ว ต้องลุ้นให้รายได้เติบโตแบบนี้ได้ตลอด
ศึกที่ 3 เปรียบเทียบความสัมพันธ์กับตลาดการเงิน ทั้ง 3 ตลาดจะถูกตีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนอีกครั้ง
หุ้นญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์หลักกับทิศทางของนโยบายทางการเงินโลกมากที่สุดเมื่อวัดจากความเคลื่อนไหวไปพร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดฝั่งเอเชียที่ปรับตัวขึ้นได้พร้อมกับบอนด์ยีลด์ เพราะเงินเยนมักอ่อนค่าช่วยประคอง ขณะที่เมื่อยีลด์ลง ถ้าเงินเยนไม่แข็งค่ามาก หุ้นก็สามารถเข้าโหมด Risk-on ตามตลาดอื่นได้
ส่วนหุ้นอินเดียเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ (Correlation) กับตลาดหุ้นโลกและหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ มากที่สุด ความสัมพันธ์นี้เด่นชัดมากขึ้นในช่วงหลังจากสหรัฐฯ และจีนมีความขัดแย้งด้านเทคโนโลยี (Tech War) จนทำให้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ในสหรัฐฯ เลือกย้ายฐานการผลิตและการบริการมาที่อินเดีย
หุ้นจีนเป็นตลาดเดียวที่คงความเป็นผู้นำเศรษฐกิจเอเชียดั้งเดิม การเคลื่อนไหวจะไปในทิศทางเดียวกับภาพเศรษฐกิจโลก ทิศทางราคาทองแดง ราคาทองคำ และสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดในทั้ง 3 ตลาด
ไม่น่าแปลกใจที่ช่วงนี้การปรับตัวขึ้นของดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ และหุ้นเทคโนโลยี ที่ดูจะเป็นบวกกับหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นอินเดีย แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โอกาสของหุ้นจีนก็จะกลับมาบ้าง
ศึกสุดท้ายคือ นโยบายเศรษฐกิจและการเมือง ตลาดกำลังมองว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญของหุ้นจีน
เพราะแม้ทางการจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุดในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าช่วยภาคอสังหา เพิ่มงบประมาณด้านการคลัง ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หรือล่าสุดมีการตั้งกองทุนพยุงตลาดหุ้น
แต่นโยบายเหล่านี้กลับถูกตลาดตีความว่าเป็นนโยบายเชิงตั้งรับ เพราะจีนใช้เฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา ส่วนสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นกลับเป็นนโยบายระหว่างประเทศ เช่น การกลับไปประนีประนอมกับสหรัฐฯ แต่อาจเกิดขึ้นได้ยากในปีที่สหรัฐฯ มีเลือกตั้งใหญ่รออยู่
ด้านญี่ปุ่นและอินเดียไม่ได้มีนโยบายกระตุ้นทางการคลังหรือนโยบายการเงินชุดใหญ่แบบจีน และอินเดียจะมีการเลือกตั้งทั่วไปกลางปีที่อาจสร้างความผันผวน แต่ตลาดกลับเลือกมองว่าทั้งคู่ไม่มีจุดอ่อนด้าน Geo-Economics แบบจีน กลับกันคือได้ความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสหรัฐฯ และเงินทุนที่เคลื่อนย้ายจากจีนเข้ามาแทนที่
ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่านักลงทุนทุกท่านน่าจะเข้าใจเทรนด์ ‘ขายหุ้นจีน ซื้อหุ้นอินเดียและญี่ปุ่น’ ชัดเจนมากขึ้น เชิงกลยุทธ์สามารถสรุปเป็นแนวทางปรับพอร์ตทั้งระยะสั้นและระยะยาวตามเหตุผลของแต่ละตลาดได้
ในช่วง 3-12 เดือน ญี่ปุ่นและอินเดียได้เปรียบจากแนวโน้มการเมือง
นักลงทุนอาจเลือกจังหวะและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในญี่ปุ่นและอินเดียก่อน และสำหรับจีนควรจับจังหวะเก็งกำไรในช่วงสั้นเมื่อตลาดปรับฐาน เพราะปีนี้จีนต้องมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจแน่ๆ นอกจากนั้นรายได้ก็คาดว่าจะฟื้นตัวจากปีก่อนดีที่สุด
ส่วนในระยะยาว สิ่งสำคัญของการลงทุนคือ กำไรและ Valuation
เพราะไม่ว่าการเมืองจะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ทำรายได้หรือจ่ายแพงเกินไป ก็ไม่ใช่การลงทุนที่ดีสำหรับอนาคต
ถ้าจะลงทุนถือ 5-10 ปี ผมเชื่อว่าหุ้นจีนและหุ้นญี่ปุ่นมีความได้เปรียบมากกว่า เพราะซื้อ-ขายในระดับราคาที่ไม่ได้แพงผิดปกติ รายได้เติบโตไม่จำเป็นต้องหวือหวา แต่ต้องสม่ำเสมอ ส่วนอินเดียผมมองว่าถ้าอยากถือระยะยาวควรลงทุนในช่วงเศรษฐกิจไม่ร้อนแรงหรือจังหวะที่ราคาไม่แพงจนเกินไป
แค่เดือนแรกของปีก็ตื่นเต้นขนาดนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเทรนด์ตลาดการเงินและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จะมีให้เห็นอีกมาก ปี 2024 จะเป็นปีที่ลงทุนสนุกอย่างแน่นอนครับ