ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มีโอกาสที่กระแสของเม็ดเงินลงทุนจะกลับทิศจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งตลาดหุ้นที่โดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรกคือกลุ่มหุ้นในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น สวนทางกับหุ้นจีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่ค่อนข้างย่ำแย่
ข้อมูลจาก Morningstar Thailand สะท้อนให้เห็นว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นนับแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 คือ กองทุนเทคโนโลยี เพิ่มขึ้น 30% กองทุนหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20% กองทุนหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 18% สวนทางกับกองทุนหุ้นจีน ติดลบ 9%
ส่วนไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้ากองทุนประเภท Bond Fix Term ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชน และกองทุนประเภท Capital Protected Fix Term โดยทั้งสองกลุ่มมีเงินทุนไหลเข้ารวมกันกว่า 1.3 แสนล้านบาท
“ครึ่งปีหลังจะเป็นหนังคนละม้วน” ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย กล่าวถึงแนวโน้มผลตอบแทนของตลาดหุ้นและการลงทุนทางเลือกที่มีโอกาสจะกลับด้านกับช่วงครึ่งปีแรก
“ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นักลงทุนอยู่ในโหมด Risk Off ชัดเจน จากความกังวลต่อเนื่องจากวิกฤตแบงก์ล้ม และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด พร้อมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ช่วงไตรมาส 3 Fed กำลังจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน”
ณัฏฐะกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจและการลงทุนเป็นวัฏจักร เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะกลับมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ขึ้นดอกเบี้ยมาตลอด ถึงจุดหนึ่งก็ต้องหยุด ขณะที่การลงทุนในจีน ล่าสุดข้อมูลการซื้อขายหุ้นจีนผ่าน Stock Connect Northbound ที่เชื่อมการลงทุนจากฮ่องกงไปยังตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น ก็เป็นการซื้อสุทธิมากสุดในรอบกว่าครึ่งปี
โดยข้อมูลจาก BNP Paribas ระบุว่า เป็นการซื้อสุทธิในตลาดเซี่ยงไฮ้ 9.1 พันล้านดอลลาร์ และตลาดเซินเจิ้น 9.9 พันล้านดอลลาร์
นักลงทุนเชื่ออย่างมากว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาลจีนจะทำได้จริง โดยเฉพาะในสองใจความสำคัญจากการแถลงล่าสุด ได้แก่ 1. ข้อความที่เคยระบุว่า “บ้านมีไว้อยู่ไม่ได้มีไว้เก็งกำไร” ถูกนำออกไปจากแถลงการณ์ ทำให้นักลงทุนตีความได้ว่า รัฐบาลจะเอื้อให้กลับมาเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้อีกครั้ง และ 2. รัฐบาลจีนประกาศชัดเจนว่าต้องการจะยกระดับดัชนีหุ้นให้สูงกว่านี้
นอกจากหุ้นจีนแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าสนใจ จากปัจจัยหนุน 4 ด้าน ได้แก่
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจพร้อมทั้งการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และเงินหยวนที่แข็งค่า
- เงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังจากที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกับการแข็งค่าของเงินสกุลอื่นๆ ทำให้อำนาจการซื้อของประเทศต่างๆ สูงขึ้น
- การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือ 1. ความต้องการที่สูงขึ้นต่อเนื่องของแร่ธาตุต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม EV และพลังงานสะอาด อย่าง ทองแดง ซึ่ง Goldman Sachs เคยระบุไว้ว่า ‘Copper is the New Oil’ ในขณะที่สินค้าคงคลังของทองแดงกำลังลดระดับลงมาต่ำมาก และ 2. ความต้องการพลังงานฟอสซิลที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากพลังงานสะอาดยังไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการ และที่ผ่านมาการลงทุนในพลังงานฟอสซิลค่อนข้างต่ำกว่าที่ควร ทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวขึ้น
- ราคาหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยค้างอยู่ในระดับสูง ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ซึ่งมี P/E ต่ำ และเงินปันผลสูง อาจฟื้นตัวได้แรง
“เมื่อปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนไป สินทรัพย์ที่เคย Outperform อย่างหุ้นเทคสหรัฐฯ หุ้นญี่ปุ่น รวมถึงยุโรปจะกลับมา Underperform แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะเป็นบริษัทที่ดี แต่เป็นการลงทุนที่แย่สำหรับราคานี้ อย่างหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven”
ส่วนมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลัง อภิวัฒน์ น้าประทานสุข ผู้บริหารกลยุทธ์ด้านการลงทุน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า หุ้นไทยน่าจะยังคงแกว่งตัวแบบไร้ทิศทาง (Sideway) ต่อไป จากแรงกดดันจากปัจจัยการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาต้องเลื่อนออกไปจริง
“เศรษฐกิจไทยอาจไม่ฟื้นตัวดีอย่างที่คาด ฟันด์โฟลวอาจไม่ไหลกลับเข้ามาในไทย และทำให้จีดีพีปีนี้อาจฟื้นตัวได้ไม่ถึงกว่า 3% อย่างที่หวังไว้ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติอาจเลือกไปลงทุนในประเทศที่การเมืองนิ่งกว่านี้”