ช่วงปลายสัปดาห์ก่อน ความกังวลต่อการลงทุนในหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากการปรับฐานของดัชนีหุ้นในหลายประเทศ อย่างดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ที่ร่วงลงจาก 3,925 จุด มาอยู่ที่ 3,811 จุด หรือลดลง 2.9% ภายในเวลาเพียงสองวัน รวมถึง ‘ดัชนีความกลัว’ หรือ VIX Index ก็พุ่งขึ้นจากราว 21 จุด ไปแตะระดับ 30 จุด
ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 0.93% เมื่อปลายปี 2563 มาแตะระดับ 1.6% เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเริ่มพูดถึงความไม่แน่นอนในเรื่องของเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นเร็ว หรือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจตัดสินใจลดวงเงินอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ
อย่างไรก็ตาม บอนด์ยีลด์ที่วิ่งขึ้นแรงในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน กลับหักหัวลงมาอยู่ที่บริเวณ 1.4% ซึ่งถือเป็นการลดลงที่ค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้ตลาดหุ้นในฝั่งตะวันตกส่วนมาก พุ่งกลับขึ้นมาได้ในระดับ 1.5-3%
เดวิด คอสติน หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสหรัฐฯ ของ Goldman Sachs ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์ก่อนหน้านี้ยังไม่ถึงระดับที่น่ากังวลสำหรับตลาดหุ้น แต่กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจจะเปลี่ยนไปจากช่วงก่อนหน้านี้
หุ้นวัฏจักรซึ่งยังคงมีกำไรอ่อนแอ แต่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวแข็งแกร่งจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นกว่าหุ้น Defensive ซึ่งโดดเด่นในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ธุรกิจอย่างพลังงานและอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะโดดเด่นกว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์จะยังไม่น่ากังวลต่อหุ้นจนกว่าตัวเลขจะขยับขึ้นไปถึง 2.1%
“แม้ว่าหุ้นเติบโต (Growth Stock) ยังคงน่าดึงดูดที่สุดสำหรับการลงทุนระยะยาว แต่หุ้นในระยะสั้นที่เศรษฐกิจกำลังเร่งตัวขึ้น และเงินเฟ้อมากระตุ้นให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้หุ้นเติบโต Underperform หุ้นกลุ่มวัฏจักรในระยะสั้น” คอสตินกล่าว
ความเห็นดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ซึ่งมองว่า บอนด์ยีลด์ที่อาจจะปรับตัวขึ้นต่อจะยังไม่น่ากังวลต่อตลาดหุ้นจนกว่าจะไปแตะระดับ 2% เนื่องจาก Earning Yield Gap ของสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2% ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ปรับขึ้นไป จะทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นลดลง
“หากบอนด์ยีลด์ปรับขึ้นแรงต่ออาจกระทบกับหุ้น เพราะต้นทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบคงไม่เท่ากับรอบที่ผ่านมา หลังจากที่ตลาดเริ่มรับรู้ไปมากแล้ว ในระยะสั้นเรามองว่าบอนด์ยีลด์จะนิ่งอยู่ในบริเวณนี้ จนกว่าจะทราบผลการประชุมเฟดวันที่ 16-17 มีนาคม 2564”
อย่างไรดี ความผันผวนของบอนด์ยีลด์ล่าสุด ซึ่งทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกผันผวนตามไปด้วย ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศพยายามเข้าแทรกแซงโดยการเพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรอายุยาว และลดการถือครองพันธบัตรอายุสั้น หรือที่เรียกว่า Operation Twist
“การประชุมเฟดที่จะถึงนี้อาจเห็นการส่งสัญญาณสำหรับการนำ Operation Twist มาใช้ เพื่อลดภาวะการเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ และเป็นการกระตุ้นการบริโภค รวมถึงกระตุ้นการลงทุนให้ยังเร่งตัวขึ้น ทำให้ความชันของ Yield Curve ลดลงเช่นกัน แต่ไม่ได้เติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ”
ขณะเดียวกันผลกระทบจาก Operation Twist ไม่ได้ทำให้ดอลลาร์ (Dollar Index) และบอนด์ยีลด์อ่อนตัวลง เพราะไม่ได้เพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่จะทำให้ดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่ได้รบกวนการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกมากนัก
โดยภาพรวมในภาวะเช่นนี้ กลุ่มหุ้นที่จะได้ประโยชน์คือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน และหุ้นที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย เพราะมีน้ำหนักของกลุ่มหุ้นเหล่านี้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยอาจจะ Outperform ได้
ในมุมกลับกันสำหรับหุ้นเติบโตสูงอย่างกลุ่มเทคโนโลยี มีโอกาสที่จะผันผวนค่อนข้างมาก หากบอนด์ยีลด์ยังคงปรับตัวขึ้น ทำให้การเติบโตของหุ้นกลุ่มนี้อาจจะทำได้ต่ำกว่าที่คาดหวังกันไว้ เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น
ด้าน ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่า ตลาดหุ้นช่วงนี้จะยังคงผันผวนสูงในลักษณะแกว่งตัวออกข้างต่อไป แม้ว่าตลาดจะได้ปัจจัยบวกสำคัญจากการกระจายวัคซีนที่เร็วกว่าคาด ทำให้เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวเร็วขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บอนด์ยีลด์ดีดตัวขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนตัวมองว่าบอนด์ยีลด์มีโอกาสปรับขึ้นต่อไป แต่การที่ธนาคารกลางต่างๆ เข้ามาแทรกแซง ทำให้อัตราเร่งของการปรับขึ้นจะลดลง สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้นักลงทุนควรมองหาหุ้น Value มากขึ้น โดยเน้นไปยังกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการที่โควิด-19 จบลง และเป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบหนักก่อนหน้านี้
“หลายกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมากเมื่อปีก่อน หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าราคาหุ้นยังคงติดลบจากช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในกลุ่มที่น่าสนใจคือ ธนาคาร แม้ว่าจะปรับขึ้นมาพอสมควร แต่ราคาก็ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด”
นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว โรงพยาบาล และการบริโภคในประเทศ ก็มีโอกาสจะฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วตลาดหุ้นจะตอบรับกับความคาดหวังล่วงหน้า
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2021/03/01/goldman-says-that-investors-shouldnt-worry-about-interest-rates-at-these-levels-.html
- https://www.cnbc.com/2021/03/01/us-bonds-treasury-yields-soften-after-global-stock-markets-rally.html
โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ
ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve
สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events