×

การฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ทางเลือกการลงทุนท่ามกลางความผันผวน

17.05.2024
  • LOADING...

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Deposit (FCD) ถือเป็นหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินที่ให้บริการผู้ที่มีธุรกรรมในรูปเงินตราต่างประเทศ สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรายรับรายจ่าย สภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้สะดวกและเหมาะสมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทิศทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การฝากเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศทั้งแบบออมทรัพย์และเงินฝากประจำมีผลตอบแทนสูงใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกรรมของบัญชี FCD ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โดยยอดคงค้างของบัญชี FCD ล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 45% จากสิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นการเติบโตของเงินฝากในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่ามีนักลงทุนรายย่อยใช้บริการบัญชี FCD เพิ่มสูงขึ้นถึง 85% ขณะที่ยอดคงค้างในบัญชี FCD ของภาคธุรกิจก็เพิ่มขึ้นมากถึง 42% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

ด้วยจำนวนบัญชี FCD ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยและค่าเงินที่ผันผวน บัญชี FCD จึงกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากที่สุดของผู้ที่เปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น เป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นเงินหมุนเวียนภาคธุรกิจที่มีเงินอยู่ในบัญชี FCD อยู่แล้ว รวมถึงผู้ที่ต้องการผลตอบแทนจากการฝากเงินด้วยเช่นกัน

 

ด้วยความต้องการถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในบัญชีเงินฝากที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยสำคัญดังนี้

 

ประการแรก เรื่องผลตอบแทนสูง ได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 4-5% ต่อปี เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยในไทยที่ตอนนี้อยู่เพียง 1-2% ต่อปี จึงมีส่วนต่างของดอกเบี้ย 2-3% ต่อปี แม้ว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกได้สิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ (Fed) และยูโรโซน (ECB) ก็ได้ส่งสัญญาณพร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ทว่าด้วยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูงกว่าคาด จึงทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะเป็นสาเหตุให้ Fed อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 1-2 ครั้งจากเดิมที่ 3 ครั้งตลอดทั้งปี 2567 และจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2567 จากเดิมที่เคยประเมินในช่วงครึ่งปีแรก 

 

ปัจจัยที่สอง เรื่องความต้องการลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากมุมมองต่อค่าเงินที่เป็น Safe Haven เนื่องจากเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นสกุลเงินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดสำหรับการค้าและธุรกรรมระหว่างประเทศ ธนาคารกลางทั่วโลกถือเงินสำรองประมาณ 60% เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีความมั่นคงและความเชื่อมั่นสูงอยู่ในระยะยาว อีกทั้งด้วยเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ที่มีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก ช่วยให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะสามารถซื้อและถือสกุลเงินดังกล่าวได้ในระยะยาว ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index: DXY) ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4.7% เทียบกับสิ้นปีที่แล้ว 

 

ปัจจัยที่สาม เรื่องการแสวงหา ‘Risk-Free Return’ ที่สูงขึ้น การฝากเงินยังถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและผันผวนน้อยกว่าสินทรัพย์อื่นๆ จึงเหมาะสมกับสภาวะการเงินปัจจุบัน ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ปรับเพิ่มขึ้นในแถบตะวันออกกลางที่ยังเป็นสภาวะที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมากขึ้น ตลาดเงินมีความกังวลหรือความกลัวสูงขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีวัดความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ หรือ Volatility Index (VIX) ที่ปรับสูงขึ้นถึง 18% ในเดือนเมษายน 2567 เทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือหากพิจารณาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย พบว่า SET Index ในปัจจุบันปรับลดลงกว่า 40 จุด หรือคิดเป็นเกือบ 4% เทียบกับสิ้นปี 2566 

 

ด้วยแนวโน้มการเงินในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศอยู่ในระดับสูง รวมถึงความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น ทำให้การลงทุนในเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศบัญชี FCD เติบโต โดยเฉพาะสำหรับรายย่อยที่สามารถลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศนั้นมีโอกาสที่จะได้รับอัตราผลตอบแทนที่น้อยลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะในปัจจุบันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีทิศทางชะลอตัวลง ในขณะที่เงินบาทยังมีความผันผวน จึงอาจทำให้ผลตอบแทนในสกุลเงินบาทมีมูลค่าน้อยลงกว่าที่คาดไว้ได้ นอกจากนี้การคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝากของไทยก็ไม่ครอบคลุมถึงเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศในบัญชี FCD ด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนควรติดตามข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X