ในปี 2022 ตลาดหลักทรัพย์หลัก เช่น ดัชนี Nasdaq Composite ปรับลดลงมากกว่า 20% ต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 60 วัน โดยนักลงทุนมีการเทขายหุ้นสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นยิ่งปรับลดลงและเกิดเป็นสภาวะตลาดหมี
สภาวะตลาดแบบหมีนี้เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง ซึ่งถ้ามองต่อมายังปี 2023 ก็นับเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยเกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องเตรียมปรับพอร์ตลงทุน เพื่อที่จะสามารถลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- การลงทุนปี 2023 ทรงอย่าง Good จะ Smooth หรือไม่?
หากเราพิจารณาวัฏจักรเศรษฐกิจถือว่าเรากำลังก้าวออกจากช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว (Slowdown) ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังอยู่สูง แม้ว่าจะแตะจุดสูงสุดแล้วและเริ่มปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) เพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดและเริ่มจะลดลง และกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งในช่วงต้นอัตราดอกเบี้ยจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง จนกระทั่งเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าระดับปกติ และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางจึงต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับลดลง เช่นเดียวกับ Bond Yield ที่จะยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตามการปรับลดลงของเงินเฟ้อ
การหาโอกาสลงทุนและปรับพอร์ตลงทุนในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ
ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำและมีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจในอนาคตของเศรษฐกิจ รวมถึงกำไรของกิจการที่มีแนวโน้มลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้จึงควรปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นลง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มวัฏจักร (Cyclical Stocks) ซึ่งผลกำไรของบริษัทมีความเชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ โรงแรม และสายการบิน
ขณะที่หุ้นกลุ่มที่มีความเหมาะสมสำหรับพอร์ตการลงทุนคือ หุ้นตั้งรับ (Defensive Stocks) เนื่องจากราคาหุ้นไม่ปรับขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ มีอัตราผลตอบแทนสม่ำเสมอ มั่นคง และมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซา (ในทางกลับกัน ช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว หุ้นตั้งรับมักจะให้ผลตอบแทนได้ไม่ดีเท่าตลาดเช่นเดียวกัน) ซึ่งหุ้น Defensives ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ (Healthcare) และกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer Staples)
อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วง Recession และอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ควรเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีความมั่นคง ไม่อ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจมากนัก เช่น กลุ่มซอฟต์แวร์ (Software and Services) จากนั้นเมื่อเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stocks) ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพสูงที่จะเติบโตในอนาคต บริษัทมียอดขาย กำไร และส่วนแบ่งตลาดที่เติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจโดยรวม และบริษัทเน้นความสำคัญของการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา มากกว่าเน้นจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น
จากนั้นจึงทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อเปลี่ยนไปสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery) ซึ่งช่วงดังกล่าวจะเหมาะสมกับการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี ได้แก่ หุ้นคุณค่า (Value Stocks) ที่ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับรายได้ เงินปันผล ยอดขาย และปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และกลับเข้าลงทุนใน Cyclical Stocks อีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนต่อเนื่องไปสู่ช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู (Boom)
นักลงทุนควรปรับเพิ่มน้ำหนักของตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจาก Bond Yield ได้เพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดและมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดยควรเพิ่มระยะเวลาเฉลี่ยในการถือครอง (Duration) ของตราสารหนี้ให้ยาวมากขึ้น
ส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชนควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) และหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่เป็น High Yield ซึ่งมี Credit Rating ต่ำกว่า BBB รวมทั้งตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bonds) เพราะจะมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงถดถอยสูงขึ้น
ทั้งนี้ ควรลดน้ำหนักการลงทุนของตราสารหนี้ลงในช่วงต้นระยะเศรษฐกิจฟื้นตัวและช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวเริ่มปรับตัวสูงขึ้น
ในส่วนของสินทรัพย์ทางเลือก สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมักจะให้ผลตอบแทนดีในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูจากการขยายตัวของภาคธุรกิจ ทำให้การลงทุนเพิ่มสูงขึ้นตามวัฏจักรของธุรกิจ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัวจนถึงขั้นถดถอย ผลตอบแทนจะปรับลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมมีความต้องการลงทุนลดลง ขณะที่ความต้องการโลหะมีค่า เช่น ทองคำ แร่เงิน ก็ปรับตัวลง เช่น ในปี 2022 จะเห็นว่าน้ำมันและทองคำสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากวิกฤตพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันและทองคำ ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาปรับลดลง เนื่องจากความต้องการอุปโภคบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ขณะที่ความจำเป็นในการถือสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมีน้อยลง ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว นักลงทุนไม่ควรมีน้ำหนักสินค้าโภคภัณฑ์ในพอร์ตการลงทุนมากเกินกว่าสัดส่วนตามเกณฑ์การลงทุนในระยะยาว (Strategic Asset Allocation)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ขอเน้นย้ำกับผู้ลงทุน สำหรับการจัดพอร์ตรับมือเศรษฐกิจถดถอยนั่นคือ ผู้ลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
โดยรวมแล้วความผันผวนกับการลงทุนนั้นเป็นของที่มาคู่กัน หากผู้ลงทุนเตรียมตัวอย่างดี จัดพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ก็จะเป็นเกราะป้องกันชั้นดีที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถก้าวผ่านความผันผวนได้ อีกประการสำคัญคือ อย่าหวั่นไหวกับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่ให้มองตรงไปที่เป้าหมายการลงทุน หากปัจจัยนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการลงทุนซึ่งมีระยะยาวกว่านั้น ผู้ลงทุนก็จงมุ่งมั่นตามหลักการของการลงทุนต่อไป