วันนี้ (7 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาวาระกรณีกรมราชทัณฑ์ให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
รังสิมันต์ระบุว่า เบื้องต้นบุคคลที่เชิญไปแล้วไม่มาอย่าง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวของทักษิณ แต่ไม่ว่าจะมาหรือไม่มาคงไม่สามารถหยุดคณะกรรมาธิการฯ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม ในกรณีของทักษิณที่มีฝ่ายต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทักษิณทำทั้งหมดด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ ก็มีความชอบธรรมในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้วางกรอบการแสวงหาข้อเท็จจริงไว้ แต่อยู่ที่ข้อมูลที่ได้รับมาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 คณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่และอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง ดังนั้นยืนยันที่จะทำต่อถ้าทุกฝ่ายมาให้ข้อชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานเอง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง
“ผมยืนยันว่าอยากให้บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายทำหน้าที่ในการชี้แจงและตอบคำถามคณะกรรมาธิการฯ ผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะปกป้องตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อครหา หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในข้อกฎหมายด้วย” รังสิมันต์กล่าว
ส่วนประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ จะสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องมี 2 ประเด็นหลักคือ
- ทักษิณมีอาการป่วยจริงหรือไม่ และการป่วยเข้าข้อกฎหมายอะไรได้บ้างที่ทำให้ทักษิณต้องพักอยู่ที่ชั้น 14
- เรื่องของการพบปะบุคคลต่างๆ ตกลงแล้วการอยู่ชั้น 14 คือการถูกควบคุมตัวเสมือนอยู่ในเรือนจำใช่หรือไม่ แต่ที่มีการพบปะกันราวกับว่าเหมือนพักอยู่บ้าน จึงต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร
รังสิมันต์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ชี้แจงว่า การรักษาตัวที่ชั้น 14 ของทักษิณเป็นการคุมขังที่ไม่เคยปล่อยตัวออกมาสักวินาที โดยระบุว่า หากจะโต้แย้งแบบนั้นก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เคยอ้างเรื่องเข้าพบทักษิณก็ไม่เป็นความจริง หรือ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ มีความสามารถพิเศษที่จะฝ่าการรักษาความปลอดภัยเพื่อเข้าพบได้
“สิ่งที่ พ.ต.อ. ทวี พูดออกมาก็ต้องดูพยานหลักฐานต่างๆ ว่าใครจะโกหก หรือใครจะพูดความจริง วันนี้เราจะค้นหาข้อเท็จจริงกันว่าตกลงแล้วที่ฝ่ายต่างๆ พูดเกี่ยวกับเรื่องชั้น 14 นั้นเป็นอย่างไร นี่คือบทบาทของคณะกรรมาธิการฯ ที่ต้องแสวงหาข้อมูล” รังสิมันต์กล่าว
ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องอะไรกับความมั่นคง รังสิมันต์ยืนยันว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศชาติมาก และถือเป็นกระดูกสันหลังของเรื่องต่างๆ เรามีภารกิจในการปฏิรูปประเทศด้วยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพยายามแสวงหาข้อเท็จจริง
รังสิมันต์ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดข้อมูลจากโรงพยาบาลตำรวจ แต่วันนี้เราจะสอบถามตามที่คณะกรรมาธิการฯ เตรียมไว้ประมาณ 20-30 คำถาม หากข้อมูลยังไม่เพียงพอก็จะต้องแสวงหาเพิ่มเติม หรือเรียกเอกสารจากหน่วยงานนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่หน่วยงานจะให้หรือไม่ให้ก็เป็นอีกเรื่อง
ทั้งนี้ รังสิมันต์มองว่าเป็นเรื่องน่าคิดว่า หากมั่นใจว่าทำหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ต้องกลัวอะไร ให้ฝ่ายตรวจสอบเข้าถึงพยานหลักฐานได้เต็มที่และเป็นประโยชน์ที่สุด
ส่วนจะอ้าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA นั้น คงไม่สามารถทำได้ เพราะคณะกรรมาธิการฯ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด เราสามารถเข้าถึงเอกสารหลักฐานต่างๆ ได้อยู่แล้ว กฎหมาย PDPA ไม่มีข้อยกเว้นในการทำหน้าที่ของสภาหรือคณะกรรมาธิการฯ
สำหรับกรณีที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ไม่มาให้ข้อมูลในวันนี้จะขอให้ทำเป็นหนังสือชี้แจงเข้ามาทีหลังหรือไม่ รังสิมันต์กล่าวว่า ต้องดูสถานะปัจจุบันของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งน้ำหนักจะต่างกับการเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 การเชิญเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการให้มา ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็อาจมีความผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้มาชี้แจงที่เดินทางมาประกอบด้วย วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, พล.ต.ต. สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ และ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้การยืนยันว่าจะมา แต่ยังไม่ได้ประสานมายังคณะกรรมาธิการฯ ในวันนี้