×

ทำความรู้จักบัวบกโขด ไม้โขดที่เติบโตไม่ง้อเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19

07.06.2020
  • LOADING...

แม้เศรษฐกิจจะฝืดเคือง เรื่องงานก็ดูจะยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ สิ่งที่พอจะเยียวยาความหวังอันริบหรี่ก็มีแต่ต้นไม้พวกนี้ล่ะครับ เห็นได้ว่าความนิยมของไม้ใบอย่างมอนสเตอรา ไทรใบสัก หรือยางอินเดียนั้นมาแรงมากๆ ในช่วงนี้ แต่จะให้ไปกวาดซื้อไม้ใบทั้งหมดคงจะไม่ไหว ไหนจะราคาที่สูงวันสูงคืนจนพ่อค้าแม่ขายตัดชำกันแทบไม่ทัน ยังมีต้นไม้อีกหลากชนิดที่ได้รับผลพลอยได้ในช่วงโควิด-19 ไปด้วย แม้ไม่มีใบสวยเด่นเป็นสง่า แต่มีหัวและรากใหญ่โตอลังการ มีอายุยืนยาวมั่นคงยิ่งกว่าพืชใบ และพอจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้านหรือบนโต๊ะทำงานได้ไม่มากก็น้อย เราขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘ไม้โขด’ ไม้ที่เติบโตไม่ง้อเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19


นักวิชาการด้านพืชสวนและคนเล่นต้นไม้ช่วยกันบัญญัติคำใช้เรียกแทนพืชชนิดหนึ่งที่มีส่วนรากหรือลำต้นขนาดใหญ่ (บางชนิดก็เรียกหัว) เพื่อใช้สะสมน้ำและอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องมีใบมาสังเคราะห์แสง (มีหรือไม่มีก็ได้ เพราะพืชประเภทนี้มักจะทิ้งใบในช่วงหน้าร้อนอยู่ดี) ยิ่งมีอายุมาก ขนาดของลำต้นก็ยิ่งโตตามไปด้วย พืชพวกนี้จะเรียกกันในหมู่คนเล่นต้นไม้ว่า ‘ไม้โขด’ 


แต่เดิมไม้โขดเป็นไม้ป่า เติบโตผ่านกาลเวลาจนมีรากฐานขนาดใหญ่ พอคนเริ่มเห็นความงามจึงหาเมล็ดมาเพาะกัน นานวันเข้าไม้เหล่านี้ก็แฝงตัวอยู่ในชีวิตคนบางกลุ่มไปโดยปริยาย ไม้โขดมีเอกลักษณ์เด่นตรงหน้าตาที่ค่อนข้างแปลกประหลาด มีรากฐานขนาดใหญ่ แต่ใบกลับเล็ก ไม้โขดส่วนมากเติบโตแถบแอฟริกาใต้ ในที่ที่มีอากาศร้อน ทนแดดทนฝน บ้านเราเองก็มีไม้โขดเช่นกัน พืชชนิดนี้ใช้กาลเวลาพิสูจน์ตน หากเปรียบเป็นคนก็คงเป็นคนที่มีริ้วรอยเต็มใบหน้า โชกโชนประสบการณ์ก็ว่าได้ เรามาทำความรู้จักไม้โขดของไทยที่นับวันจะยิ่งมีคนสนใจมากขึ้น นั่นคือบัวบกโขด

 

จุดเด่นอยู่ที่หัว

บัวบกโขด หรือบัวบกหัว เป็นหนึ่งในไม้โขดของไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Stephania erecta craib จัดอยู่ในวงศ์ Menispermaceae เป็นไม้ล้มลุกที่ขึ้นอยู่ตามป่าเขา ฝังหัวอยู่ใต้ดิน และโผล่ก้านพ้นดินขึ้นมา แตกใบเป็นลักษณะทรงกลม บางใบมีขนเล็กๆ บัวบกโขดชอบแสงแดดรำไรไปจนถึงแดดจัด แต่ไม่ชอบน้ำ หากขุดหัวขึ้นมาจะมีลักษณะเหมือนก้อนดิน มีขนาดตั้งแต่นิ้วหัวแม่มือจนถึงกำปั้น แล้วแต่ความสมบูรณ์และอายุของหัวนั้นๆ ยิ่งอายุมากยิ่งมีราคาสูง หลายคนหาคำนิยามว่าไม้โขดต่างจากไม้อวบน้ำทั่วไปอย่างไร แต่ก็ไม่ได้มีคำอธิบายชัดเจนว่าเป็นไม้วงศ์ใด อาจบอกได้ว่าไม้โขดนั้นคือพืชที่มีลักษณะภายนอกร่วมกันกับไม้อวบน้ำ คือใช้รากหรือลำต้นสะสมน้ำและอาหารจนมีขนาดใหญ่ อย่างสบู่เลือด (Stephania), มะยมเงิน มะยมทอง (Phyllanthus mirabilis) หรือบอระเพ็ดพุงช้าง (Stephania Suberosa) จัดเป็นไม้โขดท้องถิ่นของบ้านเราที่สวยงามไม่แพ้พันธุ์ต่างประเทศเลยทีเดียว

 

บอระเพ็ดพุงช้าง (Stephania Suberosa)

 

เลี้ยงง่าย โตไว 

บัวบกโขดเป็นพืชที่เลี้ยงง่ายแม้จะอยู่ในป่าหรือจับมาใส่ลงกระถาง โดยเริ่มจากการเลือกวัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดีอย่างใบก้ามปูผสมกาบมะพร้าวสับ (ใช้ขุยมะพร้าวยิ่งดี) ผสมเข้ากับทรายและหินภูเขาไฟในอัตราส่วนเท่าๆ กัน หรือบ้านใครปลูกกระบองเพชรอยู่แล้วก็สามารถใช้ดินร่วมกันได้เลย


บัวบกโขดไม่ชอบน้ำ จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อย แค่ 2-3 วันต่อครั้งก็ได้ หรือสังเกตเมื่อหน้าดินเริ่มแห้งจึงค่อยรด จากนั้นนำบัวบกโขดมาวางไว้บนวัสดุปลูกประมาณครึ่งหัว ให้อีกครึ่งโผล่ขึ้นมารับอากาศ หรือฝังกลบไว้ทั้งหัวเลยก็ได้ เพื่อให้ขนาดหัวใหญ่ขึ้นเช่นเดียวกับไม้โขดชนิดอื่นๆ แต่กว่าจะโตย่อมใช้เวลาหลายปี ปิดท้ายด้วยหินโรยหน้าดินเพื่อเก็บความชุ่มชื้น และยังได้ความสวยงามไปอีกแบบ

 

มะยมเงิน มะยมทอง (Phyllanthus mirabilis)

 

สร้างฟอร์มได้ตามแสงแดด

บัวบกโขดไม่กลัวแดด แรกปลูกอาจยังวางไว้ในตำแหน่งที่แสงแดดรำไรอยู่ จนเมื่อรากงอกเริ่มแข็งแรงแล้วสามารถนำออกมาวางรับแสงโดยตรงได้เลย แสงมีผลกับฟอร์มและขนาดใบของบัวบกโขดโดยตรง หากนำต้นไปวางไว้กลางแดดตลอดทั้งวันจะทำให้ลำต้นที่ออกมาสั้น มีใบใหญ่เป็นกระจุก แต่หากโดนแค่แสงเช้า ฟอร์มของต้นจะมีขนาดและจำนวนใบพอดี ต้นที่โดนแสงรำไรมักจะมีกิ่งก้านยืดสูงขึ้นไปหาแสงจนกว่าจะได้ตำแหน่งที่เหมาะสม รวมถึงจำนวนใบก็จะไม่ถี่เท่ากับตั้งไว้โดนแสง และหากตั้งทิ้งไว้ในร่ม ไม่โดนแสงเลย นอกจากกิ่งก้านจะยืดสูงแล้ว ขนาดของใบยังเล็กลงตามไปด้วย เพราะได้รับแสงไม่เพียงพอ ต้นบ้านใครสมบูรณ์อาจติดดอกสีเหลืองให้เห็นด้วย ก้านของบัวบกโขดค่อนข้างบอบบางและหักง่าย แม้จะหักร่วงไปก็ไม่ต้องเสียใจ (โดยเฉพาะใครที่สั่งทางอินเทอร์เน็ต) เพราะเขาจะงอกก้านใหม่ทุก 2-3 สัปดาห์อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสารอาหารในแต่ละหัว นับเป็นความสนุกไปอีกแบบของคนปลูกว่าอยากได้ฟอร์มของต้นเป็นแบบไหน อย่าลืมเช็กให้ดีๆ ว่าด้านไหนราก ด้านไหนหัว เดี๋ยวจะงงว่าทำไมปลูกเป็นเดือนแล้วก้านยังไม่งอกสักที

 

สรรพคุณดีที่หัว

หัวของบัวบกโขดมีสรรพคุณมากมาย คนสมัยก่อนนิยมนำมาใช้เป็นยาแก้ลม แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ไปจนถึงกินบำรุงกำลังเช่นเดียวกับสบู่เลือด หลังจากขุดขึ้นมาแล้วนำมาล้างหัวให้สะอาด ฝานบางๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วจึงนำมาบดหรือตำให้ละเอียด หัวบัวบกโขดเปล่าๆ มีรสขม จึงนิยมผสมกับน้ำผึ้งและปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานก่อนอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ 2-3 เม็ด บำรุงกำลังได้ดีเชียวล่ะ

 

 

หัวไม่แรง แต่แพงเมื่ออยู่ในกระถาง

เรามักจะเห็นบัวบกโขดตามตลาดต้นไม้เป็นโขดกลมๆ เหมือนก้อนดิน แต่ก่อนขายกันกิโลกรัมละไม่กี่บาท วางแบอยู่ในตะกร้าจนแทบไม่เห็นราคา แต่เมื่อบัวบกโขดเปลี่ยนสถานะจากใต้ดินขึ้นมาสู่บนกระถางดินเผาสวยๆ โชว์ความงามผ่านสรีระและร่องรอยจากความหยาบของพื้นผิว ราคาของมันกลับพุ่งทะยานกว่าที่เคยเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่หลายคนต้องการพื้นที่สีเขียวเล็กๆ บนโต๊ะทำงาน ประตูบานนั้นจึงเปิดมาสู่พืชไม้โขดที่มีรากและลำต้นเป็นเอกลักษณ์ แถมยังดูแลง่าย เหมาะกับคนไม่ค่อยมีเวลา แม้ราคาต่อหัวจะไม่กี่สิบบาท แต่ต้นที่ฟอร์มสวยๆ แล้วจัดอยู่บนกระถางอาจมีราคาสูงถึง 400-500 บาท โดยเฉพาะไม้โขดบางพันธุ์อย่างบัวบกเงินที่อาจมีราคาสูงถึงหลักพันเลยทีเดียว

 

อย่าเพิ่งตกใจ หากเห็นราคาไม้โขดสูงเป็นพัน

ไม้โขดนั้นมีทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่าของไทยมาก เนื่องจากต้องใช้เวลาเติบโตค่อนข้างนาน ไม่สามารถเพาะพันธุ์ภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้ ฉะนั้นเงินหลักพันจึงเปรียบเสมือนการซื้อเวลาและร่องรอยประสบการณ์ที่ต้นไม้แต่ละต้นมีให้ ก่อนซื้อควรถามพ่อค้าแม่ค้าให้ดีๆ ว่าต้นนี้มาจากไหน เติบโตอย่างไร เหมาะกับอากาศบ้านเราไหม แต่ส่วนใหญ่แล้วไม้โขดค่อนข้างชอบอากาศร้อนแบบบ้านเราอยู่แล้วล่ะ ถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไป เขาสามารถอยู่กับเราได้จนแก่เลยนะครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X