โกมุนยองพูดประโยคหนึ่งในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ระหว่างสอนการเขียนเทพนิยายในโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ “นิทานไม่ใช่ยากดประสาทที่ช่วยมอบความหวังและความฝัน แต่เป็นยากระตุ้นให้เผชิญกับความจริง”
แปลกแต่จริง ระหว่างที่ดูซีรีส์เรื่องนี้ เรากลับพบความจริงบางอย่างซุกซ่อนในนิทานที่เราต่างเคยรับรู้ และถ้าหากมองมันอย่างพินิจพิเคราะห์อีกที ภายใต้ความสวยงามของตัวการ์ตูน เจ้าหญิง เจ้าชาย ปราสาทแสนสวย เราอาจเห็นซากปรักหักพังและความเจ็บปวดซ่อนอยู่ในนั้น
It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์โรแมนติกแฟนตาซีว่าด้วยความแหว่งเว้าของ โกมุนยอง นักเขียนหนังสือเด็กชื่อดัง กับ มุนคังแท เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจิตเวช ที่มีพี่ชายออทิสติก ปมเรื่องที่ผูกโยงตัวละครในซีรีส์เข้าด้วยกันมีความลึกซึ้งและมีน้ำหนักพอที่จะเชื่อ กับการที่คนทั้งคู่ต่างมองเห็นตัวตนภายในของกันและกัน จนกลายเป็นความรักแสนดราม่าที่ต้องใช้เวลาเยียวยาซึ่งกันและกัน
ความน่าสนใจอีกอย่างคือการที่ทุกอีพีของ It’s Okay to Not Be Okay ตั้งชื่อเป็นนิทาน ทั้งที่เป็นเรื่องดังและนิทานที่โกมุนยองเขียนขึ้นมา อย่างเช่นใน 6 อีพีแรก – อีพี 1 The Boy Who Fed on Nightmares, อีพี 2 The Lady in Red Shoes, อีพี 3 Sleeping Witch, อีพี 4 Zombie Kid, อีพี 5 Rapunzel and the Cursed Castle, อีพี 6 Bluebeard’s Secret โดยในครั้งนี้เราจะมาดูนิทานที่เด็กๆ น่าจะรู้จักกันดีก่อน
The Red Shoes หรือ รองเท้าแดง นิยายในปี 1845 ผลงานการเขียนของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน นักเขียนนิยายสุดคลาสสิก รวมทั้ง เด็กหญิงไม้ขีดไฟ, เงือกน้อย, ไนติงเกล, ลูกเป็ดขี้เหร่ เป็นต้น
ในเรื่อง The Red Shoes เล่าถึง คาเร็น เด็กหญิงกำพร้าที่เศรษฐีรับไปเลี้ยง เธอถูกสปอยล์จากการเลี้ยงดูที่ตามใจทุกอย่าง นิสัยเย่อหยิ่งเอาแต่ใจของคาเร็นเริ่มชัดเจนเมื่อแม่บุญธรรมซื้อรองเท้าสีแดงมาให้ และเธอจะดื้อดึงใส่มันไปโบสถ์ (ซึ่งในยุคนั้นความเหมาะสมคือการใส่รองเท้าสีดำ) แต่วันอาทิตย์ถัดมา คาเร็นก็ไม่อาจห้ามใจตัวเอง เธอใส่รองเท้าสีแดงไปโบสถ์ และเสพติดการใส่รองเท้าแดงคู่นั้นออกไปเต้นรำ แม้ในวันที่แม่บุญธรรมป่วยและเสียชีวิตไป คาเร็นก็ไม่เคยสนใจ จนนางฟ้าปรากฏตัวและสาปให้รองเท้าสีแดงเต้นรำไม่หยุด จนถึงจุดจบของคาเร็นที่แสนเศร้าและโหดร้าย
ถ้าหากใช้กรอบการสอนของโกมุนยอง เราอาจมองเห็นการจัดระเบียบสังคมจากนิทานเรื่องนี้ การทำตามจารีตประเพณี การเป็นคนดีมีคุณธรรม คือสิ่งที่ได้รับการยอมรับ เพราะหากไม่ทำตามจะถูกลงโทษ
“ในที่สุดฉันก็ได้พบรองเท้าสีแดงของฉันแล้ว” โกมุนยองพูดขึ้นมาหลังจากได้พบ มุนคังแท เธอเปรียบเขาเป็นสิ่งของที่อยากได้และต้องการมาตลอด ซึ่งในความหมายจริงคือความอบอุ่นที่เธอโหยหามาโดยตลอด และเมื่อได้รับมาแล้ว มันคือสิ่งที่เธอจะไม่ปล่อยไป
Rapunzel เทพนิยายเยอรมนีของพี่น้องตระกูลกริมม์ ในปี 1812 เกี่ยวกับสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ฝ่ายสามีเข้าไปขโมยดอกไม้กินได้ชื่อ Rapunculus เมื่อแม่มดเจ้าของสวนนั้นจับได้ ฝ่ายสามีก็ร้องขอความเมตตา แม่มดจึงให้เขาเอาดอกไม้ไปเท่าไรก็ได้เพื่อแลกกับลูกที่จะเกิดมา ดังนั้นเด็กหญิงราพันเซลจึงอยู่ในการเลี้ยงดูของแม่มด เมื่อเติบโตเป็นหญิงสาวแสนสวยมีผมสีทองยาว แม่มดจึงจับเธอขังไว้บนหอคอยกลางป่าที่ไม่มีประตูหรือบันได มีเพียงหน้าต่างบานหนึ่งที่ราพันเซลจะโยนผมเปียยาวลงมาให้แม่มดปีนขึ้นไปหา จนกระทั่งเจ้าชายรูปงามได้ผ่านมาพบหอคอยหลังนี้เข้า เรื่องราวของราพันเซลหลังจากนี้แตกต่างออกเป็นเวอร์ชันต่างๆ ทั้งที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง หรือจบแบบโหดกว่าเนื้อข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสี
สิ่งที่เราเรียนรู้จากนิทานเรื่องนี้มีมากมายหลายมุม แต่อย่างหนึ่งคือข้อควรระวังในการเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ถูกปกป้องจากโลกภายนอก อย่างเช่นราพันเซลที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิตนอกจากห้องเล็กๆ บนหอคอย เธออาจถูกโปรแกรมมาอย่างผิดพลาด เพราะไม่มีใครมาบอกว่าสิ่งที่ถูกต้องหรือพึงกระทำคืออะไร เช่นเดียวกับโกมุนยองที่เติบโตมาอย่างบิดเบี้ยว และเฝ้ารอวันที่จะมีใครสักคนมาช่วยเหลือ
Bluebeard ปรากฏในอีพี 6 ซึ่งทางผู้กำกับได้ใส่นิทานสั้นไว้ต่อท้ายเครดิตจบด้วย นิทานพื้นบ้านของฝรั่งเศส เล่าเรื่องของผู้ชายร่ำรวยที่แปลกประหลาด เขาแต่งงานกับผู้หญิงสวยหลายคน แต่แล้วผู้หญิงเหล่านั้นก็หายตัวไปอย่างลึกลับ จนวันหนึ่งเขาได้แต่งงานอีกครั้งกับหญิงสาวคนใหม่ และพาเธอมาใช้ชีวิตในบ้านหลังใหญ่กลางป่า เขา ย้ำกับหญิงสาวว่าเธอจะไปไหนในบ้านนี้ก็ได้ แต่ห้ามลงไปที่ห้องใต้ดินเด็ดขาด จากนั้นเขาเดินทางไปต่างแดนและมอบกุญแจบ้านทั้งหลังไว้กับเธอ แต่ความอยากรู้อยากเห็นทำให้เธอไม่อาจหักห้ามใจได้ เธอเปิดประตูลงไปในห้องนั้น และพบความลับที่ดำมืดอย่างไม่คาดคิด
คติสอนใจจากนิทานเรื่องนี้คือความอยากรู้อยากเห็น ความซื่อสัตย์ และรักษาสัญญา เพราะตามประวัติของเคราสีน้ำเงิน จุดเริ่มต้นของการฆาตกรรมก็เพราะต้องการพิสูจน์ว่าผู้หญิงที่มาเป็นภรรยานั้นรักษาสัญญากับเขาได้แค่ไหน
“นิทานคือโลกแฟนตาซีที่แสนโหดร้าย ที่วาดให้ขัดกับความป่าเถื่อนรุนแรงของโลกความเป็นจริง” โกมุนยองเริ่มต้นการสอนคลาสเทพนิยายในแบบของเธอ ทั้งยังแสดงให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างจากความเข้าใจของผู้คนทั่วไปเกี่ยวกับนิยายเรื่องนั้นๆ “คติสอนใจของนิทานเจ้าหญิงเงือกน้อยคือ ถ้าหมายตาชายที่มีคู่หมั้นแล้ว จะได้รับโทษจากสวรรค์… ลูกเป็ดขี้เหร่ เลี้ยงลูกคนอื่นเสียเวลาเปล่า เลี้ยงลูกตัวเองให้ดีเถอะ”
โกมุนยองทำให้เทพนิยายที่เป็นความหวัง-ความฝันเกี่ยวกับเจ้าชายเจ้าหญิงและชีวิตแสนสวยงามยืนอยู่บนพื้นฐานความจริง เพราะเรื่องราวแฮปปี้เอนดิ้งคงไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตใครง่ายๆ ถ้าหากอยากได้มันมาก็ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง “นิทานไม่ใช่ยากดประสาทที่ช่วยมอบความหวังและความฝัน แต่เป็นยากระตุ้นให้เผชิญความจริง”
อ่านต่อ
ซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ที่จะมาเยียวยาทุกความเจ็บปวดในหัวใจ https://thestandard.co/its-okay-to-not-be-okay-2/
สัมภาษณ์คิมซูฮยอน ซอเยจี และโอจองเซ กับสามตัวละครแหว่งเว้าจากซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay
https://thestandard.co/its-okay-to-not-be-okay-characters/
ภาพ: tvN, Netflix
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า