×

INTO THE WILD ถ่ายทอดความคิดของคนเมืองที่เลือกไปอยู่ป่า

14.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

13 Mins. Read
  • พ.ศ. 2534 ชาญชัย พินทุเสน อดีตผู้กำกับหนังโฆษณา ผู้กำลังรุ่งโรจน์ ตัดสินใจหันหลังเข้าป่า เพราะเต็มกลืนกับชีวิตที่ตอนเช้าไม่อยากตื่น และอาการเจ็บป่วยที่หมอวินิจฉัยไม่ได้ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในป่า 4 ปี ก็เลือกปฏิเสธชีวิตแบบคนเมือง และการบริโภคแบบวัตถุนิยมไปตลอดกาล
  • ความฝันอยากสร้างบ้านใต้ต้นไม้ใหญ่ เหมือนในวรรณกรรมคลาสสิก บ้านเล็กในป่าใหญ่ คือตัวอย่างของความเขลาแบบคนเมืองที่ไร้ประสบการณ์ในธรรมชาติ ชาญชัยเรียนรู้จากชาวบ้านในพื้นที่ว่า จุดที่ตนหมายตาในตอนแรกเป็นอันตรายถึงตาย จึงมาจบลงที่การสร้างกระต๊อบใกล้ๆ ดงวัชพืชแทน
  • พ.ศ. 2543 ‘ลุงอ๋อย’ ของเด็กๆ ก่อตั้งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ทำโครงการในชุมชนผาปกค้างคาว อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ปลูกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติให้เด็กในพื้นที่ ก่อนจะหันมาสู่เป้าหมายเด็กเมืองในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า เยาวชนเปิดรับเรื่องการอนุรักษ์ได้ดีกว่า

คนเรา ‘เดินเข้าป่า’ กันด้วยหลายสาเหตุ และรู้จักป่าในมิติที่ต่างกันออกไป ในชั่วโมงที่สังคมไทยกำลังทุรนและเจ็บแค้นกับการเข้าป่าอย่างอหังการ์ของคนกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งหวาดระแวงกับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กลายเป็นภัยเงียบอันน่ากลัวมากขึ้นตามการเติบโตของเมือง

 

THE STANDARD มีโอกาสได้สนทนากับ ชาญชัย พินทุเสน ประธานกรรมการมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ หรือลุงอ๋อยของเด็กๆ อดีตคนเมืองที่เลือกจะเดินเข้าป่าไปรู้จักชีวิต และทำความเข้าใจสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า ก่อนจะกลับออกมาเป็นครั้งคราว เพื่อนำกระแสเย็นฉ่ำจากราวป่ามาเผื่อแผ่หัวใจคนในเมือง ผ่านกิจกรรมและกระบวนการเข้าถึงธรรมชาติโดยมี ‘เด็กเมือง’ เป็นเป้าหมายหลัก ลุงอ๋อยไม่หวังให้ได้ผลทั้งหมด เพียงได้ส่วนน้อยเพื่อขยายผลต่อไปก็ดีที่สุดแล้ว สำหรับความพยายามจะเยียวยาธรรมชาติเพื่อพวกเราทุกคน  

 

เพราะอะไรลุงอ๋อยถึงเลือก ‘เด็กเมือง’ เป็นเป้าหมายหลักในการทำกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติ ทำไมไม่เลือกทำกับคนที่โตแล้ว

เวลาของคนโตแล้วไม่มี ถ้าไม่ใช่นายสั่งก็ไปไม่ได้ ใช่ไหมฮะ คนโตแล้วมีเงื่อนไขของงานว่า จะไปไหน ทำอะไร เรื่องเยอะไปหมด แต่กับเด็กเขายังไม่มีอะไรเยอะแยะ เพราะฉะนั้นการเปิดรับจะมากกว่า ผมโฟกัสเด็กเมือง เพราะผมเห็นว่า โลกของเด็กเมืองขับเคลื่อนด้วยตลาด นโยบายทางการตลาดนี่แหละเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมาย เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้เราใส่เสื้อตัวไหน แบรนด์อะไร เราถูกขับเคลื่อนด้วยตลาดตลอดเวลา

เราบอกว่า อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยเพียงแค่ 2 องศาเซลเซียส เนี่ยไม่กระทบหรอก แต่เวลาคนป่วยอุณหภูมิขึ้น 2 องศาเซลเซียส เราช็อกนะครับ เหมือนกับโลกเลย โลกป่วยกับเราป่วยเนี่ยเท่ากันเลย เรา 37 อุณหภูมิที่มัน Stable อยู่ 38 ต้องนอนกันแล้วล่ะ 39 มีช็อกใช่ไหม นี่ไง 2 องศาเซลเซียส ที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกันเลย

 

เป็นมุมมองจากการที่เราอยู่ในวงการการตลาดด้วยใช่ไหม

ถูกต้อง มันเป็นกลยุทธ์เลย พวกนี้เปลี่ยนเร็วมาก ดูสิ กฎหมายป่าไม้จะเป็นร้อยปีแล้วยังไม่ขยับเลย ตอนที่ทำงานโฆษณามันก็งานการตลาดนั่นแหละ วิ่งด้วยสปีด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่กฎหมายนี้ 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วจะทันกันอย่างไรล่ะ ทีนี้เด็กเมืองอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอย่างนี้ หลายคนก็ต้องเติบโตไปรับช่วงธุรกิจจากครอบครัว ถ้าเขามีโอกาสเข้าไปเห็นระบบธรรมชาติที่มันมีความประณีตละเอียดอ่อน ผมเชื่อว่า ประเด็นนี้ถ้าไปอยู่ในนโยบายทางการตลาด ก็จะทำให้ความรวดเร็วในการทำลายสิ่งแวดล้อมช้าลงนะครับ

 

ตัวอย่างง่ายๆ ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนเมืองเจออยู่ทุกวันแต่อาจไม่ค่อยรู้ตัว ลุงอ๋อยอยากอธิบายอย่างไร  

ในเมือง ผมตั้งข้อสังเกตง่ายๆ จำนวนโรงพยาบาลกับจำนวนโรงเรียนที่เกิดขึ้นต่อปี อันไหนมากกว่ากัน เราจะเห็นว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพวกหมวดยาที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจมันขายได้เร็วมากนะครับ จนกระทั่งวันนี้เรามาพูดเรื่อง Global Warming หรือปรากฏการณ์โลกร้อน เราบอกว่า อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยเพียงแค่ 2 องศาเซลเซียส ไม่กระทบหรอก แต่เวลาคนป่วยอุณหภูมิขึ้น 2 องศาเซลเซียส เราช็อกนะครับ เหมือนกับโลกเลย อุณหภูมิค่าเฉลี่ยเหมือนกันเป๊ะเลย โลกป่วยกับเราป่วยเนี่ยเท่ากันเลย เรา 37 อุณหภูมิที่มัน Stable อยู่ 38 ต้องนอนกันแล้วล่ะ 39 มีช็อกใช่ไหม นี่ไง 2 องศาเซลเซียส ที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกันเลย

 

เปรียบเทียบแบบนี้แล้วเห็นภาพทันที

โลกกับเราคือสิ่งเดียวกัน ทำให้ผมวางเป้าหมายในการทำงานว่า จะต้องโฟกัสที่เด็กเมือง ระหว่างการเติบโตของเขา เราก็ใส่นโยบายด้านนี้เข้าไปในนโยบายการตลาดของเขาบ้าง ให้เป็นห่วงเรื่องเหล่านี้บ้างก็ยังดี ไม่ใช่ทิ้งไปเลย

 

ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าป่า ชีวิตลุงอ๋อยเป็นอย่างไร

ความจริงคือ ต้องการหาที่ทำงานในสิ่งที่ตัวเองเรียนมาคือ การวาดภาพ นั่นก็ปัจจัยหนึ่ง อีกปัจจัยหนึ่งคือ เรากดดันจากงานบริการที่ทำอยู่ งานโฆษณาคือ งานบริการทำให้คนชอบ บางทีเราคิดว่าเราชอบแล้ว แต่เวลาทำงานออกไป ลูกค้าจะชอบหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องต้องเดาใจกัน เป็นเรื่องเครียดเลยล่ะครับ แล้วถ้าคนที่จะมาตัดสินมากกว่าหนึ่งคน จะเดาใจกันอย่างไร 15 ปี กับงานบริการ มันก็เลยเป็นอะไรที่…

 

ความรู้สึกเรา กลางวันมันแสนจะยาวมาก มันเป็นบริบทที่กดดันเรา ที่เข้าป่าไม่ใช่เพราะเราเรียนหรือเราชอบธรรมชาติอย่างเดียวหรอก มันมีแรงกดดันอย่างอื่น

 

ทราบว่าก่อนจะเข้าไปอยู่ในป่า ลุงมีอาการป่วยบางอย่างด้วย

ร่างกายมันมีอาการป่วย เป็นภูมิแพ้ หมอไม่สามารถบอกได้ว่าแพ้อะไร แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น แพ้อะไรไม่รู้เต็มไปหมด เป็นจุดๆ พอผมเกา มันก็เป็นรอยแดงขึ้นมาเลย แล้วอยู่เป็นอาทิตย์ ก็ตกใจสิฮะ มันทำให้เรามีความหวาดกลัวอยู่ในใจตลอด เฮ้ย มันจะเป็นอะไรหรือเปล่า

 

พอไปหาหมอ เขาก็เทสต์ด้วยการเอาแผ่นกระจกเล็กๆ มาวางใต้จมูก แล้วให้เราหายใจออก ปรากฏว่า เราหายใจออกอยู่รูเดียว อีกรูหนึ่งไม่มีลมหายใจออกมา เขาบอกว่า รูนี้มันตันแล้วล่ะ คือพังผืดมันอักเสบเรื้อรังจนกระทั่งมันตัน ทีนี้พอหายใจไม่สะดวก ตอนนอนเราไม่รู้ เราก็อ้าปากหายใจ อากาศที่เข้าไปมันก็ไม่ผ่านจมูกที่เป็นตัวกรอง แล้วสภาพห้องหับของเราล่ะ ฝุ่นเอยอะไรเอย เป็น 5 ปี 10 ปี มันก็ต้องแสดงผลอะไรสักอย่าง ก็ปรากฏมาทางกาย

 

แต่พอผมไปอยู่ป่าได้ 3 เดือน ทำโน่นทำนี่ไปแล้วก็ลืมกินยา เอ๊ะ ทำไมอาการคันตามข้อพับนี่มันไม่เป็นแล้ว เราก็นึกขึ้นได้เขาให้ยาเรามากิน ถุงยายังอยู่ครบหมดเลย เราไม่ได้กิน แต่ที่คันตามข้อพับ เป็นตุ่มเม็ดๆ ที่ขาหรือหัวเข่ามันก็หายไป ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราเองประสบกับตัวเอง เพราะฉะนั้นเรามีความเชื่อว่า ธรรมชาติช่วย การที่เราได้เดินได้เหงื่อออก มันก็เป็นตัวช่วย อาหารที่เรากินก็เป็นอาหารที่เก็บเอา บางทีเราไม่รู้เลยว่ากินได้ แต่เขาก็เก็บมาให้เรากินคือ คะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง ตัดออกไปก่อนเลย ไม่มีในนั้นแน่นอน มีแต่ใบแซะ ใบอะไรไม่รู้ เขาก็เก็บมา เราก็กิน

 

ช่วงแรกที่เข้าป่าเป็นอย่างไรบ้าง

เริ่มเข้าป่าตอน พ.ศ. 2534 ช่วงแรกก็ยังมีออกมาบ้าง ยังไม่ได้อยู่ยาวนะครับ ตอนที่ตัดสินใจไปอยู่เลยคือ ประมาณ พ.ศ. 2535 สร้างบ้านในนั้นแล้ว แต่ก็มีต้องกลับเข้ามาบ้าง เพราะคุณแม่อยู่กรุงเทพฯ แล้วช่วงแรกๆ เรายังมีเงินฝากในธนาคาร พอพ้น 2 ปีไปแล้ว ไม่ยุ่งเรื่องพวกนี้แล้ว ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในธนาคารแล้ว เราไม่ต้องมาทำธุรกรรมอะไรต่างๆ หลังจากนั้นเรื่องอาหารการกินก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เรากินอย่างที่เขากิน ก็ง่ายขึ้นเยอะ  

 

ป่าคือโลกใหม่อย่างสิ้นเชิงในช่วงแรก

ทุกอย่างเป็นสิ่งแปลกที่เราต้องปรับตัว ไม่ใช่ง่ายเลย เพราะในรายละเอียดเชิงลึกมันพิเศษ มีความแตกต่างกัน ตอนเข้าไปใหม่ๆ เราคิดแบบคนเมือง ความปลอดภัย ความสะดวก เราบรรทุกทุกอย่างใส่รถหมด กล้องถ่ายรูป กล้องจุลทรรศน์ กล้องอะไรก็ตามที่อยากจะศึกษา แต่พอเข้าไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ เราไม่ได้ไปนั่งอยู่ข้างรถนะ เราก็ชอบที่จะเดินดู ทีนี้เวลาต้องเดินเนี่ย มันต้องเบา อย่างเช่นที่สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี พื้นที่นั้นกะเหรี่ยงเขาอยู่มาแต่โบร่ำโบราณ เป็นกลุ่มคนที่ปรับตัวอยู่กับป่าได้แล้ว เราก็ต้องให้เขาเป็นพี่เลี้ยง ตัวเราเข้าไปพร้อมเป้ รองเท้า อุปกรณ์ต่างๆ เต็มไปหมด ที่เราเห็นตามโฆษณา เราคิดว่า สวรรค์แล้วที่เราจะได้ใช้เครื่องมือ แต่พอผ่านไปเราก็โยนสิ่งเหล่านี้ให้เขาช่วยแบก เราต้องค่อยๆ ปลดทีละชิ้น

 

ค่อยๆ เรียนรู้ไปเองว่า ยิ่งเอาไปเยอะเท่าไรมันก็ยิ่งหนัก

หนักครับ หนักจริงๆ

ตอนที่เขาชวนเราไปอยู่ในป่า เรายังเลือกทำกระต๊อบใต้ต้นไม้ใหญ่ แต่คนพาไปบอกไม่ได้ อย่างไรก็ให้อยู่ตรงนี้ไม่ได้ ‘ตายนะ’ เขาบอก เราไม่รู้เลย ทำไมในนิยายมันไม่เห็นตาย แต่พออยู่ไปปีหนึ่งแล้วรู้ฮะ ตายได้จริงๆ เพราะเวลาต้นไม้ต้องทิ้งกิ่งหักลงมา 40-50 เมตร โอ้โห เหมือนถังน้ำมัน 200 ลิตรตกใส่ เหล็กหนาๆ มันยังย่นเลย สิ่งที่เขาแนะนำคือ ความรู้ที่เขารู้กันจริงๆ ไม่ใช่รู้แบบเรา ที่เอานิยายมาประกอบ

 

จริงๆ ก็มีหลายสถานที่ที่คนเราเลือกไปอยู่เพื่อหาความสงบ แต่ทำไมลุงอ๋อยถึงเลือกไปอยู่ในป่าที่สวนผึ้ง  

มันน่าจะมีผลมาจากเด็กๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด วันเสาร์-วันอาทิตย์ก็ชวนเพื่อนฝูงยิงนกตกปลาตามประสาเด็กลูกทุ่งนะครับ แม่ผมเป็นครู เด็กๆ เพื่อนกันเนี่ยเขาก็เป็นลูกชาวบ้าน จะสมบุกสมบันมากกว่า ทีนี้เวลาเขาไปว่ายน้ำ ปีนต้นไม้ เราก็พยายามทำอย่างเขา รองเท้าแตะนี่ผมไม่ได้ใส่เลยนะ ผมวิ่งเหยียบหนามได้นะตอนเด็กๆ ภูมิใจมาก แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะเราใส่รองเท้ามานานแล้ว ถนนยางมะตอยที่เป็นฝุ่นๆ ร้อนๆ สนุกมาก เด็กๆ วิ่งไล่เหยียบแป๊ะๆ

 

พื้นฐานจากวัยเด็กเป็นตัวกระตุ้นส่วนหนึ่งให้เราเข้าป่า

มันเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง เวลาเราเจอภาวะบีบคั้น กดดัน ความรู้สึกเราก็คงจะวิ่งหาอะไรสักอย่างหนึ่ง วิ่งไปหาสิ่งที่เคย แล้วการไปอยู่ตรงนั้น (บริเวณพื้นที่เขากระโจม ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี) ก็ไม่ใช่ว่าตัวเองเลือกนะ แต่มีคนตรงนั้นเขาชวนว่า มาอยู่ด้วยกันไหม

 

ทีนี้ตอนผมเล็กๆ สักชั้นประถมสี่ ผมเคยอ่านนิยายฝรั่ง บ้านเล็กในป่าใหญ่ ของลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ ทำให้เราฝันมาตลอด ตอนที่เขาชวนเราไปอยู่ในป่า เรายังเลือกทำกระต๊อบใต้ต้นไม้ใหญ่ แต่คนพาไปบอกว่า ไม่ได้ อย่างไรก็ให้อยู่ตรงนี้ไม่ได้ ตายนะ เขาบอก เราก็ไม่รู้เลย ทำไมในนิยายมันไม่เห็นตาย แต่พออยู่ไปปีหนึ่งแล้วรู้ฮะ ตายได้จริงๆ เพราะเวลาต้นไม้ต้องทิ้งกิ่งหักลงมา 40-50 เมตร โอ้โห เหมือนถังน้ำมัน 200 ลิตร ตกใส่ เหล็กหนาๆ ยังย่นเลย สิ่งที่เขาแนะนำคือ ความรู้ที่เขารู้กันจริงๆ ไม่ใช่รู้แบบเราที่เอานิยายมาประกอบ

 

สุดท้ายเขาก็พาเดินหาที่ ไปเจอที่ที่มันร่มหน่อยหนึ่ง เป็นเหมือนพวกวัชพืช ก็เลยถามเขาเล่นๆ ว่า ตรงนี้ได้ไหม เขาบอกว่า ได้ ก็เริ่มปรับให้เป็นพื้นที่ราบ

 

อยู่ดีๆ ก็มีคนเมืองเข้าไปอยู่ในป่า ชาวบ้านตรงนั้นเขามองเราอย่างไร

ถ้าเรามองชาวบ้านตอนนั้นจากมุมทั่วๆ ไปคือ เขายากจน เมื่อเราเข้าไปพร้อมกับของอะไรต่างๆ เขาก็มองเราเป็นที่พึ่ง เขาอยากได้ไฟฉายเราก็หาไปให้ อยากได้ยาก็หาไปให้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวัตถุ   

 

ขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้เรื่องป่าจากชาวบ้านเป็นการแลกเปลี่ยน

แลกเปลี่ยนกันสักปีหนึ่ง จากที่อยู่กับคนไทย เราก็เริ่มอยู่กับกะเหรี่ยง ผมเอาหนังสือพิมพ์ไปอ่าน ในโฆษณามีเครื่องดูดฝุ่น กะเหรี่ยงเขาไม่รู้จักเลยนะฮะ เขาบอกว่า รถยนต์มันเป็นแบบนี้เหรอ เราก็เลยรู้ว่า อธิบายอย่างไรก็คงไม่รู้ เครื่องดูดฝุ่นคืออะไร จะดูดทำไมฝุ่น หรือบางวันพาเขาไปตลาดข้างล่าง เขาเห็นหัวปลีวางขาย เขาตกใจนะ โอ้โห เขาบอกเขาอยู่ไม่ได้นะ ขนาดหัวปลียังต้องซื้อ คือ 6-7 เดือน นี่ผมไม่เห็นเขาพูดถึงเรื่องเงินเลยนะ

 

ช่วงแรกที่เข้าไปอยู่ในป่ามีอะไรที่ทำให้ตกใจหรือตระหนักขึ้นมาเลยไหมว่า จริงๆ แล้วเราไม่มีองค์ความรู้เรื่องการยังชีพเลย

เหมือนเป็นเด็กใหม่เลยครับ ดูง่ายๆ จากปัจจัยสี่พื้นฐาน เราสร้างบ้าน ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์เต็มไปหมด แต่ชาวบ้านมีแค่มีดเล่มหนึ่งกับไม้ไผ่ เขาจะรู้เลยว่า ลำไหนควรเอามาเป็นเสา เอามาทำฝา ลำไหนพื้น ลำไหนจะเป็นตอกสำหรับมัด แล้วหลังคาจะอยู่ตรงไหน จะขึ้นอย่างไร เขาสร้างกระต๊อบเสร็จได้ในหนึ่งวัน สิ่งที่เราเรียนรู้ตรงนั้นมันก็ดีเหลือเกิน มันทำให้เราลงลึกไปกับการใช้ชีวิต เรารู้วิธีสร้างบ้าน รู้วิธีปลูกข้าวบนภูเขาตั้งแต่หยอดจนกระทั่งเกี่ยว นวด ตำ ทำได้หมด

 

กว่าจะเรียนรู้ได้เต็มกระบวนการใช้เวลานานแค่ไหน

เรื่องปลูกข้าวก็เป็นปีครับ ตั้งแต่เตรียมพื้นที่ แต่เราไม่ได้ทำคนเดียวนะ เป็นลูกมือเขา เพราะเขาแข็งแรงกว่าเรามาก เราเรียนรู้ในวิธีของเรา เราถูกฝึกในวิธีทางวิชาการ แต่เขาเรียนรู้โดยวิถีชีวิต ลูกเรียนจากพ่อแม่ สิ่งที่ยังต้องพึ่งข้างนอกคือ เรื่องยากับเสื้อผ้า ส่วนเรื่องอาหารกับที่พักอาศัยเป็นศาสตร์ที่เราเข้าถึงได้

 

หลังเข้าไปอยู่ป่าแล้ว มีช่วงที่นึกอยากกลับเข้าเมืองไหม

ไม่ ภาพเมืองเราปฏิเสธแล้ว

 

ไปอยู่ป่ากี่ปีถึงรู้สึกว่าเราปฏิเสธเมืองเลย

ผมใช้ชีวิตอยู่ในป่าจริงๆ 4 ปี สาเหตุที่ 4 ปี เพราะพม่าเขาปราบปรามชนกลุ่มน้อย มันเป็นเหตุการณ์สงคราม เราก็เลยอยู่ไม่ได้ ต้องออกมา ไม่อย่างนั้นคงต้องไหลเข้าไปกับเขาเรื่อยแล้ว แล้วเวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เราทั้งนั้นเลย แบกกันร่อแร่มาให้เราพาไปหาหมอ ทีนี้ถ้าเรายังอยู่ มันกลายเป็นอุปสรรคกับเจ้าหน้าที่เวลาปฏิบัติงาน ก็เลยต้องออกมา แต่ออกมาก็คือ มาอยู่ตีนเขานะ ตอนแรกอยู่บนเขาซึ่งการติดต่อสื่อสารแทบเป็นศูนย์

 

ก่อนเข้าไปอยู่ในป่า ลุงอ๋อยเคยเห็นความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับเมืองในแง่ที่ว่า ถ้าไม่มีป่าแล้ว คนเมืองจะได้รับผลกระทบบ้างไหม

ไม่มีชุดความรู้นี้เลย แต่พอไปอยู่แล้ว เราเหมือนได้รู้เรื่อยๆ ซึ่งสอนเราจากความจริงพวกนั้นหมดเลย

มนุษย์เราปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเอง มันกลับกัน เราร้อน เราก็สร้างสิ่งที่ช่วยให้เราคลายร้อน แต่คนอยู่ในป่า ทำงานในไร่ สักสี่โมงเย็นต้องกลับบ้านนะครับ เพราะไม่มีไฟแล้ว พอถึงตอนกิน คำถามมีอย่างเดียวเลย มีข้าวกินหรือยัง ขณะที่คนเมืองถามว่า เย็นนี้กินอะไรดี ตัวเลือกมันเยอะมาก

 

ถ้าให้ลุงอ๋อยอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับป่า พูดกับคนที่อาจจะนั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์กลางเมือง แล้วนึกไม่ออกเลยว่า ป่าที่ห่างไกลมันเกี่ยวกับเขาอย่างไร

จะพยายาม เพราะตัวเองก็ใช้เวลา ไม่ใช่แค่ข้ามคืนแล้วเราจะ Enlighten นะฮะ ชีวิตมันต้องปรับตัวตลอด เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว แต่เราสร้างเครื่องมือช่วยให้เราปรับตัวได้ดีมากๆ จนเหมือนเราไม่ปรับตัวเลยนะ คือถ้าในเส้นวิวัฒนาการ Evolution นะ ไม่ใช่ Develop เส้นวิวัฒนาการบอกว่า สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่ต่อไปคือ ชีวิตที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม เช่น พวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพวกนี้เปลี่ยนสีบ้าง ปรับอุณหภูมิภายในบ้าง นี่คือชีวิตที่วิวัฒนาการต่อไปได้ แต่มนุษย์เราปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเอง มันกลับกัน เราร้อนก็สร้างสิ่งที่ช่วยคลายร้อน แต่คนที่อยู่ในป่า ทำงานในไร่ สักสี่โมงเย็นต้องกลับบ้านนะครับ เพราะไม่มีไฟแล้ว พอถึงตอนกิน คำถามมีอย่างเดียวเลย มีข้าวกินหรือยัง ขณะที่คนเมืองถามว่า เย็นนี้จะกินอะไรกันดี ตัวเลือกมันเยอะมาก ลาบ ส้มตำ พิซซ่า เยอะแยะไปหมด แต่ของเขานี่บางทีข้าวไม่มี หรือบางทีเดินผ่านบ้านใครแล้วหิวข้าว แต่ในบ้านนั้นไม่มีคนอยู่ ซึ่งในครัวมีข้าว เขาก็กินเลย ผมว่ามันประชาธิปไตย ไม่มากีดกันหวงอะไร

 

สิ่งที่อยากจะพูดกับคนเมืองคือคำว่า ‘ปรับตัว’ ผมว่าสำคัญ เป็นประเด็นที่ต้องใช้สติให้ดี ปรับตัวอย่างไรไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น และจะไปบอกว่า ควรทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ ผมว่ามันยาก เพราะบริบทของแต่ละคนมันต่างกัน จิ้งจกปรับตัว เสือปรับตัวต่างกัน ศัพท์ทางวิชาการเขาใช้ว่า Ecological Niche คือความเฉพาะในระบบ ปรับตัวแล้วต้องไปต่อได้ด้วย

 

ลุงอ๋อยมองว่า ประเด็นเรื่องการปรับตัวสำคัญมาก ได้นำมาถ่ายทอดให้เด็กๆ อย่างไรบ้าง

การปรับตัวมันโยงกับเรื่องการจัดระบบชุดความคิด ความรู้ทางกายภาพ และความรู้ทางจิตใจ วิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมดเป็นกายภาพ เพราะมันชั่ง ตวง วัดได้ แต่เรื่องจิตสุนทรียะมันคนละตรรกะกัน ถามว่า สวยกี่กิโลกรัม วัดไม่ได้ แต่หนักกี่กิโลกรัม รู้ได้ ถูกไหมครับ ฉะนั้นชุดความรู้ของผมก็เลยแยกออกเป็น 2 ลักษณะ แต่ประกอบกัน ลองสังเกตจากช่องทางที่เรารับรู้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ แล้วเราตกผลึกไปเป็นความรู้ บางอย่างที่เราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น อาจยังไม่ใช่ความรู้ จนกระทั่งเราแปลความมันแล้ว เป็นที่มาของกิจกรรมที่ให้เด็กทำ ถ้าเก็บใบไม้ใบหนึ่ง ปกติแล้วคือ ใบไม้ธรรมดา แต่พอเราเอามาพิจารณา ให้ความหมายใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะเห็นได้ชัดว่า เด็กๆ ไม่ทิ้งใบไม้ใบนั้นแล้ว เขาจะเก็บ มันไม่เหมือนตอนที่ถูกทิ้งอยู่

 

นี่คือเบื้องต้นก่อนจะเกิดตัวความรู้ ความรู้ผมก็แยกเป็นว่า รู้สึก มันก็จะเกิดคำว่า Appreciation ความชอบ ความประทับใจ แต่ถ้าวางไว้เฉยๆ แค่ความเข้าใจ ใบไม้ ประทับใจไหม ไม่รู้จะประทับใจอย่างไร ใช่ไหมฮะ มันคือการให้ความหมายในธรรมชาติ แล้วก็ใส่มูลค่าเข้าไป กระบวนการมันง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ ช่องทางรับรู้ที่เรามี เราเคยใช้มันจริงๆ ไหม ใช้มันอย่างประณีตไหม อย่างสัตว์ป่านี่จมูกสำคัญมาก เพราะต้องได้กลิ่นไกลๆ ไม่อย่างนั้นอันตราย ตาแทบไม่ได้ประโยชน์เท่าไรเลย เพราะในป่ามันมีสิ่งบัง จมูกกับหูใช้ประโยชน์มาก ไม่เหมือนแอฟริกาที่โล่ง นั่นตาเขาได้ประโยชน์มาก เพราะไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือกรณีของเสือเนี่ย เสือบ้านเราเงียบมาก ต้องย่องแล้วตะครุบ ต้องรู้ว่าเหยื่ออยู่ตรงโน้น ต้นลมหรือปลายลม แต่แอฟริกาเขาควบเลย ชีตาห์นี่ความเร็วเท่าไร

 

หลักใหญ่ของเราไม่ใช่เรื่องปลูกป่า หลักของเราทำเรื่องการศึกษา ให้ความรู้ พยายามเอาประเด็นเรื่องพืชหรือสัตว์เข้าไปให้เด็กเข้าใจและรู้จัก และสูงสุดคือ เมตตาธรรมที่ควรจะเกิด อันนั้นไกลที่สุด แต่ระหว่างนี้ก็เอาเป็นว่า รู้จักแล้วให้เขาเห็น ให้เขาเกิด Appreciation เรื่องธรรมชาติ ส่วนเรื่องความรู้วิทยาศาสตร์ทางกายภาพ โรงเรียนเขาทำอยู่แล้ว เราก็อาจจะเอามาช่วยกระตุ้น ท้ายที่สุด ระหว่างนี้เราก็เห็นพฤติกรรมของเด็กในชุดความคิดของเขา ที่บางอันก็น่ารัก บางอันก็ฉลาด

 

เมื่อปีที่แล้วเราพาเด็กๆ ไปรู้จักแมลง ซึ่งแมลงก็ต้องมีพิษภัยบางอย่างที่ใช้ป้องกันตัวเอง ก็มีเด็กคนหนึ่งไปเจอด้วงชนิดที่มันปล่อยกรดออกมา แล้วทำให้ปวดแสบปวดร้อนได้ เขาโดนเข้าก็ตกใจ พอดีผมอยู่ตรงนั้น ก็อธิบายให้เขาฟังว่า มันคือด้วงนะลูก มันป้องกันตัวเอง เด็กก็บอกว่า เขาอดทนได้ๆ ต่อมาตอนประชุมผู้ปกครอง เด็กคนนั้นก็บอกว่า ต่อไปผมจะไม่ทำร้ายแมลงอีกแล้ว นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ เด็ก 30-40 คน ไม่ใช่จะได้เหมือนกันหมด เรื่องของการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เราหวังส่วนมากไม่ได้ เราต้องหวังส่วนน้อย แล้วค่อยขยายผล ถ้าวันหนึ่งเขาเกิดไปเป็นผู้บริหารบริษัทแบรนด์ต่างๆ ด้านอุปโภคบริโภคอย่างนี้นะฮะ

 

ลุงอ๋อยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ทุกวันนี้คนไม่ได้ใช้ความรู้สำหรับการดำรงชีวิต แต่ใช้ตัณหาเพื่อการดำรงชีวิต ทุกวันนี้ยังเห็นเป็นอย่างนั้นอยู่ไหม

ผมมีที่พึ่งคือ พุทธศาสนา โอกาสที่เราจะเข้าใจชีวิตก็จากการเรียนรู้ในพุทธศาสตร์ เอาเป็นศาสตร์ก่อนแล้วกัน พุทธศาสตร์แจกแจงให้เราเห็นว่า องค์ประกอบของมนุษย์เป็นอย่างไร แล้วอะไรคือส่วนที่ผลักดันให้เราทำโน่นทำนี่ ความอยากเป็นตัวตั้ง ทีนี้อยากที่ไม่ดีเขาก็เรียก ตัณหา เช่น อยากเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ความอยากที่ไม่ใช่ของที่ตัวเองได้มาโดยพละกำลัง โดยน้ำพักน้ำแรง เราก็คิดว่า มันอยู่ในข่ายนั้น หรือไปขโมย ไปหยิบของเขาเฉยๆ อะไรอย่างนี้

 

แต่ถ้าอยากทำอะไรสักอย่างให้มันก้าวหน้าและสำเร็จ ก็เป็นความอยากที่ต่างกันแล้ว อยากอย่างนี้มีศัพท์เรียกว่า ฉันทะ ทีนี้เราก็มาดูตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาเราเจอหนังสือเรื่องการตลาด การศึกษา Consumer Behavior ก็ศึกษาเพื่อที่จะเอาประโยชน์จาก Consumer ไม่ใช่จะเอาประโยชน์ไปให้ Consumer นี่ก็เข้าข่าย ส่วนตัวเลยเรียกว่า เป็นอำนาจของตัณหาที่พาไป

 

เงินเป็นตัวที่เหวี่ยงเราไปในทิศทางนั้นได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะทำให้เราได้สิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องลงมือ อย่างจะทำบ้านเนี่ย ซื้อได้หมดเลย ถูกไหม ตัวเองไม่ต้องทำ เมื่อเทียบกับที่ผมไปอยู่ อยากมีบ้านคือต้องทำ อยากมีข้าวกินต้องทำ เลยเป็นภาพที่แตกต่าง เราก็เลยนิยามเมืองว่า มันเป็นกระแสของตัณหา

 

 

เราไม่ได้ต่อต้านวิถีมัน แต่เราไม่รู้สึกว่าเหมาะกับเราแล้ว

เราต่อต้านไม่ได้ด้วยนะ เพราะภาพใหญ่มันเป็นอย่างนั้นหมดแล้ว แต่เราจะอยู่กันอย่างไร มีโศลกของท่านพุทธทาส บอกว่า เหมือนลิ้นงูกับเขี้ยวงู คือเขี้ยวงูมีพิษนะ โดนก็ตาย แต่ลิ้นที่มันอยู่ระหว่างพิษเนี่ย มันอยู่อย่างไร มันก็เลยคล้ายๆ เป็นคติให้เรา เออ มันปฏิเสธไม่ได้ ก็ต้องอยู่ให้ได้ แต่อยู่อย่างไรเท่านั้นเอง

 

ทำอย่างไรคนเมืองถึงจะมีภูมิต้านทานพอที่จะไม่หลงไปกับกิเลสและตัณหา ต้องหนีไปอยู่ในป่าไหม

ผมว่าไม่ใช่นะ คือถ้าเอาศาสตร์ทางพุทธศาสนามาวาง ก็ต้องเริ่มต้นด้วยปัญญาคือ สัมมาทิฐิ พุทธศาสนาแบ่งศีลสำหรับผู้ครองเรือนและผู้ที่ต้องการพ้นไปโลกุตระเลย ผู้ครองเรือนจะอยู่ด้วยศรัทธา ศรัทธาที่ถูกต้องนะฮะ ไม่ใช่ศรัทธาที่ทำให้เดือดร้อน เช่น เราเชื่อคำสอนของครูคนนี้ คือเรายังพึ่งปัญญาของครูใช่ไหม เหมือนเราดูคู่มือสูตรที่บอกว่า ถ้าอยากจะทำตะโก้อร่อย เราก็ต้องทำตามสูตรนั้น เราก็ทำจนเชี่ยวชาญ แล้วจึงทิ้งสูตรนั้นไป ศรัทธาเราหมดไป เหลือเป็นความรู้หรือเป็นปัญญาของเราแล้ว ทีนี้ชีวิตมันละเอียด ประณีตกว่านั้น ฉะนั้นเราจะไปรู้จักชีวิตดีแล้วเนี่ย ผมว่ายัง คือหลายครั้งที่เราตัดสินใจอะไรไปแล้วมันผิดพลาด ทั้งๆ ที่เราคิดใคร่ครวญรอบคอบ เอ๊ะ ทำไมยังผิดพลาด นี่ก็แสดงว่า เรายังไม่รู้จักอะไรต่างๆ มากพอ

 

น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนเมืองในปัจจุบันที่จะหาจุดสมดุลได้อย่างลุงอ๋อย

มันยากนะ ถ้าไม่อยากสู้กับไอ้พวกนี้ เหมือนตกไปในกระแสน้ำ และข้ามฝั่งไม่ได้ มันก็ลอยตามน้ำไปง่ายกว่า ถ้าอยากจะข้ามฝั่งให้ได้ก็ต้องออกแรง

 

หลังจากเข้าไปอยู่ป่าจนได้องค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งนำมาถ่ายทอดต่อให้ผู้อื่น และร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ผลักดันให้เกิดพื้นที่สีเขียวมากขึ้นในประเทศไทย ที่ผ่านมาลุงอ๋อยมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวอย่างไรบ้าง

เห็นมีความพยายาม แต่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ลองอุปมานะครับว่า เราป่วย เราปวดหัว เรานอนพัก พออีกวันเราบอก เออ วันนี้เราไม่ปวดหัว แต่ไม่ใช่ว่าเราหายป่วย มันเป็นอาการแบบนี้ คือมันยังไม่ฟื้น ยังใช้คำว่า Recovery ไม่ได้นะ สัดส่วนระหว่างคนกับพื้นที่สีเขียวเนี่ยยังไม่ดี

 

พื้นที่สีเขียวในความหมายของความเป็นระบบ ไม่ใช่แค่ต้นไม้ หลายพื้นที่ที่อยากจะเป็นพื้นที่สีเขียวเลือกจะเอาต้นไม้มาวาง

 

โดยพฤติกรรม คนเมืองเองก็ไม่ค่อยเข้าหาพื้นที่สีเขียว พอถึงสุดสัปดาห์เราก็ไปเดินห้าง โดยลืมนึกไปว่า มันมีพื้นที่อื่นๆ ที่เราสามารถใช้เวลาได้

อันนี้ยังเป็นพฤติกรรมของคนเมือง มีความอยากจะไปหาที่สักแห่งที่ไม่ต้องคิดถึงการงานที่ต้องรับผิดชอบ จะเห็นได้ว่า สถานบันเทิงต่างๆ ก็จะเป็นที่ที่เขาไป ผมไม่ได้หมายความว่า คุณไม่ดีเลยที่ทำแบบนั้น แต่เราควรถามมากกว่าว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณมีพฤติกรรมแบบนั้น  

 

ต้องหาเวลาไปอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติหรือเปล่า ถึงจะตระหนักรู้ว่า ตอนนี้เราอาจจะอยู่ในกรอบของสังคมเมืองมากเกินไป

ไม่ต้องหาหรอก ต้องกำหนดมาเลย แล้วก็เตรียมทำ คนป่าเขาไม่เรียนรู้นะครับ คนป่าก็อยู่เฉยๆ เราอยู่ฝ่ายเมือง เราเรียนวิชาการต่างๆ มันทำให้เราเกิดรูปแบบของการเรียนรู้ แต่ของเขาเนี่ยใช้ชีวิตเลย เวลาเขาจะวิเคราะห์หรือแยกแยะ แล้วทำให้เป็นชุดความรู้เนี่ย เขาทำไม่ได้ ก็เอาสองอันนี้มาเจอกัน

มีเด็กคนหนึ่งไปเจอด้วงชนิดที่มันปล่อยกรดออกมา แล้วทำให้ปวดแสบปวดร้อนได้ เขาโดนเข้าก็ตกใจ พอดีผมอยู่ตรงนั้น ก็อธิบายให้เขาฟังว่า มันคือด้วงนะลูก มันป้องกันตัวเอง เด็กก็บอกว่า เขาอดทนได้ๆ ต่อมาตอนประชุมผู้ปกครอง เด็กคนนั้นก็บอกว่า ต่อไปผมจะไม่ทำร้ายแมลงอีกแล้ว นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ เด็ก 30-40 คน ไม่ใช่จะได้เหมือนกันหมด ในเรื่องของการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เราหวังส่วนมากไม่ได้ เราต้องหวังส่วนน้อยแล้วค่อยขยายผล

 

นี่คือข้อได้เปรียบของคนเมืองไหม

ข้อได้เปรียบของคนเมืองคือ มีวิธีการเรียนรู้ แต่ขาดความรู้ คนอยู่ป่ารู้แบบใช้ชีวิตรอด ไม่ไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ชุดความรู้เมืองจะพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดการรู้มากขึ้น เราทำกล้องจุลทรรศน์ เราก็ได้เห็นอะไรมากขึ้น แต่ของเขาจะไม่สามารถเห็นอย่างนี้ได้ ทีนี้การมีความรู้มากขึ้นก็ทำให้เกิดการเข้าถึงความประณีต เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโลกมันร้อนหรือโอโซนมันโหว่ เรามองทะลุด้วยตาไม่เห็น ไอ้ชุดความรู้เหล่านี้มันทำให้เราวางแผนอนาคตได้ดี แต่ของเขาจะไม่ได้ คือถ้าป่วยปั๊บวิ่งเข้าหาผีใช่ไหม ปวดท้องขึ้นมาก็บอกว่า มีจระเข้อยู่ในท้อง ซึ่งอันนี้เขาอยู่กับธรรมชาตินะ แต่เขาคิดแบบนี้ ใช่ไหม ฉะนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่เราบาลานซ์ส่วนนี้กันได้นะฮะ ชุดความรู้ที่เป็นเชิงลึกเป็นตัวที่ทำให้คุณค่าของเขาเปลี่ยน

 

ลุงอ๋อยยังเชื่อว่า คนเมืองก็สามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เข้าใจอะไรได้ดีขึ้น ถ้าเรามีเวลาปลีกตัวออกไปอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติใช่ไหม

คือการปลีกตัวมันต้องมีเจตนาสักอย่างหนึ่งเพื่อซึมซับ อย่างน้อยการเข้าหาธรรมชาติต้องมีความรู้ถึงจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานบางอย่าง เข้าไปก็ไม่ได้ประโยชน์ จริงไหม สมมติว่า มีพื้นที่หนึ่งดีมากเลยถ้าไปเรียน เราอยากเป็นผู้มีความรู้ เราเข้าไปเลย แต่ไม่มีชุดความรู้พร้อมที่จะเข้าไป หรือบางทีอาจสูญเปล่าเรื่องทรัพย์สินไปอีก คือไปแล้วไปเมา กลับมายังไม่รู้เลยว่าไป อะไรอย่างนี้

 

สิ่งที่ลุงอ๋อยจะแนะนำ ถ้าคนเมืองอยากเข้าหาธรรมชาติ ก็ต้องมีวัตถุประสงค์ว่า อยากเรียนรู้อะไร

ถ้ามีเป้าหมายว่า อยากจะรู้จักธรรมชาติ เราก็ต้องจัดเวลาให้ ทีนี้เราพูดว่า ธรรมชาติมันกว้างมาก บางทีมันจับต้องยาก เรากลับมาพูดถึงตัวเรานี่แหละ ตัวเราคือธรรมชาติ ระบบเลือดไม่เคยรู้จักระบบประสาทเลย แต่มันอยู่ด้วยกันได้ ตับกับไตไม่รู้จักกันเลย แต่ใครมีปัญหาฉันเดือดร้อนด้วย อุปมาอุปไมยนะครับ คือระบบมันเป็นเรื่องของกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างในธรรมชาติมันก็จะมีระบบที่เราเข้าใจกัน แล้วเรียกว่า ระบบนิเวศ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย ผู้ผลิตก็พืช พวกนี้ทำอาหารให้ตัวเองได้ ผู้บริโภคคือ ผู้ที่ทำอาหารให้ตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยผู้ผลิตนี่แหละ แล้วก็มาดูในระบบอุตสาหกรรม ผู้ผลิต ผู้บริโภค เหมือนกัน ทีนี้เราขาด Decomposer ผู้ย่อยสลาย มันเลยมีขยะ ฉะนั้นระบบของมนุษย์ยังเป็นระบบไม่ได้ เพราะผู้ย่อยสลายไม่มี เรามีขยะหลายร้อยตันต่อวันที่กลับเข้าสู่ระบบไม่ได้ แต่ในป่ามันกลับได้หมดเลยนะ สัตว์ไปกินพืช พืชได้อาหารจากซากสัตว์ ตัวที่ทำหน้าที่ย่อยสลายตัวจิ๋วตัวจ้อย พวกแบคทีเรียต่างๆ ทำให้ธาตุหลักๆ แปรสภาพสู่การใช้ใหม่

 

เป็นวงจรที่สมบูรณ์ในตัวเอง

น่าจะใช้เป็นตัวเทียบเคียง ถ้าเราพูดถึงระบบที่สมบูรณ์คือ ไม่มีส่วนเสียหลุดออกจากระบบไป ถ้าผิดจากนั้นก็ไม่น่าจะใช่ระบบ มนุษย์เป็นสปีชีส์เดียวที่สามารถเรียนรู้เหล่านี้ได้ ฝึกได้ ถ้ามันบรรลัยก็เพราะมนุษย์ และถ้ามันจะดีก็ดีเพราะมนุษย์นี่แหละ

 

 

เราเป็นผู้สร้างสรรค์และผู้ทำลายที่น่ากลัวที่สุด

ผมว่า ณ วันนี้ บทบาทที่จะต้องแข็งแรงมากๆ คือสื่อ เพราะตัวเชื่อมระหว่างผู้รู้กับผู้ไม่รู้สำคัญมาก สื่อสามารถทำให้เข้าใจระบบของธรรมชาติที่ประณีต ละเอียดอ่อน มันมีความจำเป็นมาก แต่เราก็ยังขาด อย่างสื่อหลักก็ยิ่งทำให้ตัณหามาก ดูแล้วโกรธ เกลียด อิจฉาไปด้วย คนจะโกรธได้ง่ายขึ้นใช่ไหมฮะ อันนี้ถ้าในพุทธธรรมนี่มันคือ ตัวเลวเลย พอโกรธง่ายขึ้น มันจะสุขง่ายขึ้นได้อย่างไร มันก็ต้องสุขยากขึ้นสิ แล้วถูกตอกย้ำอยู่บ่อยๆ เขาไม่ตอกย้ำ เราก็ตอกย้ำตัวเองได้อีกด้วย

 

เข้าใจว่า คนเมืองทั่วๆ ไป เข้าหาธรรมชาติ ก็จะได้ความสุขทางใจระดับหนึ่ง จะได้ความรู้กลับมาไหม ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน แต่อย่างน้อยคือผ่อนคลาย

ใช่ แต่ต้องเข้าให้ถึงนะครับ ไม่ใช่ไปถึงตรงนั้นแล้วยังพูดถึงเมืองอยู่เลย ไปถึงตรงโน้นแต่รู้เหตุการณ์ตรงนี้ จิตยังผูกอยู่ตรงนี้ ไปนั่งอยู่ตรงนั้นแต่ไม่อยู่ตรงนั้น ตัวรู้คืออะไร ตาลืมเฉยๆ ไม่ใช่จะรู้ได้ ส่วนรู้คือ ตัวจิตที่ทำหน้าที่ ฉะนั้นชุดความรู้ไม่ได้อยู่ที่กาย แต่อยู่ที่ตัวจิตนะ

 

ถ้าอย่างนั้นลุงอ๋อยจะแนะนำคนเมืองอย่างไรให้อยู่ได้โดยที่ใจมีความสุข

คนเมืองเหลืออย่างเดียวคือ งาน เพราะเวลาส่วนใหญ่เราให้กับงาน แต่ดันเป็นเวลาที่ไม่มีความสุข ก็ย่อยยับสิถ้าอย่างนั้น วันหนึ่ง 4-5 ชั่วโมง ไม่มีความสุขเลย ไปมีความสุขตอนโน้น อยู่ร้านเหล้านิดหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ เราก็เป็นตัวธรรมชาติใช่ไหมครับ แล้วเราพัฒนาได้ ซึ่งการพัฒนาในหลักของพุทธศาสตร์ได้ชี้ไว้ชัดเจนว่า เป้าหมายคือ ปัญญา ความรู้นั่นแหละ ที่จะมาทำให้เกิดการพัฒนา เขาก็แจกแจงให้เห็นว่า อาหารของปัญญาคือ ความสุข อาหารของความสุขคือ สมาธิ สมาธิกับสุขอยู่ใกล้กัน ถ้ามีตรงนี้แล้วมันก็จะอยู่ได้นาน แปลว่าอะไร งานก็ก้าวหน้า ใช่ไหม ไม่ใช่ โอย ธุระเยอะจัง เดี๋ยวต้องโน่นนี่นั่น งานไม่เสร็จสักที ติดโน่นนี่เยอะแยะไปหมด พองานไม่เสร็จ อันนี้โหดเลย ดินพอกหางหมูเข้าไป ฉะนั้นความสุขจากงานไม่มีแล้ว เราทนต่ออารมณ์ได้แค่ไหน เราทนต่องานได้แค่ไหน เราทนต่อโรคได้แค่ไหน ถ้าพวกนี้มีขีดความทนสูง สมการมันจะเท่ากับความสุขนะฮะ ก็ชี้วัดดูได้

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X