×

“ตอนมีหวังรู้สึกอย่างไร” บันทึกโดยพิธา จดจำโดยประชาชน The Almost Prime Minister

10.07.2025
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เล่าถึงที่มาของหนังสือ The Almost Prime Minister ซึ่งเป็นบันทึกทางการเมือง ผสมผสานระหว่างข้อเท็จจริงและความในใจของอดีตผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่ ‘เกือบ’ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
  • เขาหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นบันทึกผ่านมุมมองของเขา เพื่อให้ผู้อื่นได้เดินทางต่อ และจะช่วยย้ำเตือนให้ประชาชนไม่ลืมความหวัง ว่าประชาธิปไตยเดินทางมาได้ไกลแค่ไหนแล้ว
  • พิธาเสียดายโมเมนตัมที่เสียไปหลังปี 2566 รวมทั้งความกังวลต่อกระบวนการนิติสงครามที่แคนดิเดตของพรรคประชาชนต้องเผชิญ และอาจกลายเป็น Almost Prime Minister No.2

เส้นทางชีวิตล่าสุดของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล  คือการสวมหมวกอีกใบในฐานะนักเขียน ด้วยผลงานล่าสุด The Almost Prime Minister 

 

พิธาบอกกับ THE STANDARD ว่าการเขียนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเขา หนังสือเล่มนี้เองก็ก่อร่างขึ้นมาในลักษณะของไดอารี ก่อนจะกลายเป็น Political Memoir หรือบันทึกความทรงจำทางการเมือง ที่ผสานทั้งข้อเท็จจริง และความรู้สึกส่วนตัวตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ของบุคคลที่ ‘เกือบ’ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

‘29.5’ (เกือบ) นายกฯ ที่ถูกแขวน

 

เมื่อถามถึงชื่อหนังสือที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นความตั้งใจสื่อสารบางอย่างสู่สังคมโลกด้วยหรือไม่  พิธาอธิบายว่าชื่อนี้ไม่ได้มีนัยทางการเมืองที่ซับซ้อน แต่เป็นชื่อเล่นของเขาในช่วงที่อยู่บอสตันหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ และเขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 

 

ในรั้ว Harvard Kennedy School สถาบันที่ขึ้นชื่อด้านรัฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ นักศึกษาและอาจารย์ที่นั่นต่างสงสัยว่าเหตุใดว่าที่นายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง จึงมาใช้ชีวิตที่นี่ แทนที่จะอยู่ในทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภาไทย

 

“เมื่อผมไปถามเด็กๆ ว่าทำไมถึงเรียกผมแบบนี้ เขาบอกว่านึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Almost Famous (อีกนิด… ก็ดังแล้ว) เป็นเรื่องของนักข่าวที่ติดตามวงดนตรี คือ Soft Power เป็นวัฒนธรรมล้วนๆ เลย ไม่ได้ตั้งใจจะสื่อสารอะไรที่เป็นนัยทางการเมืองทั้งสิ้นเลย” พิธาเล่า

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เขาต้องอธิบายชาวต่างชาติถึงความซับซ้อนของการเมืองไทย ที่มีวุฒิสภาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร และการยึดอำนาจประชาธิปไตยด้วย ‘ตุลาการภิวัฒน์’ อีกชื่อเล่นหนึ่งของเขาจึงเกิดขึ้น เมื่อเขาเล่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ส่วน เศรษฐา ทวีสิน เป็นคนที่ 30 ตัวเขาเองคือ ‘29.5’ ที่ถูกแขวนอยู่ตรงกลาง

 

พิธาเล่าต่อไปว่า สำนักพิมพ์ Avocado Books เห็นด้วยว่าชื่อ The Almost Prime Minister นี้เข้าใจง่าย และเมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็ไม่มีคำที่ตรงใจเขา จึงตัดสินใจใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้จะมี ‘ตำรวจแกรมมา’ ออกมาวิจารณ์ แต่พิธามองว่า มันกลับทำให้คนตั้งคำถามได้ว่า ทำไมถึง ‘เกือบ’? และนอกจากจะไม่ได้อยู่เป็นนักการเมืองต่อ ยังต้องมาเป็นนักวิชาการอยู่ที่ Harvard

 

ผู้เขียนยังเผยว่า มีสำนักพิมพ์จากหลายประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อขอแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ จีน เกาหลี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะผู้ที่ติดตามการเมืองไทยเท่านั้น

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

การเขียนหนังสือกลางพายุ และบันทึกร่วมของทุกคน

 

พิธายืนยันว่าหนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวที่ไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน โดยเฉพาะความรู้สึกส่วนตัวของเขาในช่วงเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาลครั้งแรก ตลอดจน MOU ประธานสภาผู้แทนราษฎร เขาย้ำว่าไม่ได้ถึงกับนำเรื่องลับสุดยอดมาเปิดเผยในหนังสือ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในใจและไม่ได้เผยแพร่ผ่านสื่อในช่วงเวลานั้น

 

“แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าข้างในหัวผมคิดอะไรอยู่” เขาบอก

 

เขายังมองว่า คุณค่าอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือการเรียบเรียงประวัติศาสตร์ เขาเปรียบกระบวนการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น “การเขียนหนังสือกลางพายุ” คือพายุข่าวสารของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องรายวัน 

 

ทีมงานของเขาต้องช่วยเรียงลำดับเหตุการณ์เพื่อให้เขานึกออกว่า วันนั้นเกิดอะไรขึ้น ใครพูดอะไรไว้บ้าง เช่นวันที่อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เคยสัญญาว่าจะรีบตั้งรัฐบาล แก้รัฐธรรมนูญ และยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ดังนั้น เขาจึงหวังว่า อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้จะบันทึกไว้ทั้งประวัติศาสตร์ และความรู้สึกของเขาเอง อย่างละครึ่ง

 

ผมก็ยังหวังว่า เรื่องนี้จะเป็นบันทึกการเดินทางของผมที่จะให้คนอื่นสามารถเดินทางต่อได้ ผมเล่าผ่านมุมมองของผม แต่ก็เป็นบันทึกร่วมของคนอีกหลายๆ คนทั่วประเทศไทย หรือว่าทั่วโลก และถ้าสักวันเราจะนำหนังสือเล่มนี้มาเป็นบันทึกการเดินทางให้คนอื่นได้เดินทางต่อ ก็จะทำให้ผมมีความสุขมาก

 

หากมี ‘ตำรวจแกรมมา’ แล้ว จึงขอถามด้วยเลนส์ ‘ตำรวจหนังสือ’ บ้างว่า Political Memoir ที่ผู้เขียนเองก็มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง จะทำให้เกิดข้อสงสัยในคุณภาพเนื้อหาหรือไม่ 

 

พิธาตอบทันทีว่า The Almost Prime Minister ไม่ใช่อัตชีวประวัติ หรือวิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัย แต่เขียนด้วยน้ำเสียงที่เป็นตัวตนของเขาเอง ซึ่งเป็นสิทธิในการเขียนการอ่านที่ทุกคนมี ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็สามารถเขียน Political Memoir ของตัวเองโต้ได้ 

 

เขามองว่านี่เป็นเรื่องปกติของการสื่อสาร การเขียน Memoir เป็นเพียงช่องทางหนึ่ง และไม่ได้ต้องการขุดคุ้ยเพื่อแบล็กเมลใคร 

 

“ถ้าชอบหรือสนับสนุนการเดินทางมาโดยตลอด ก็อ่าน แต่ถ้าอยากจะลองเปลี่ยนมุมมอง หรือเปิดใจให้ผมได้บ้างก็ยินดีเช่นเดียวกัน ถ้าชอบก็อ่าน ไม่ชอบก็อ่านได้ครับ”

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

การเขียนหนังสือในมุมมองของอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นการสื่อสารที่ละเอียดกว่าการพูด เมื่อเขียนออกมาเป็นหนังสือแล้ว จะเห็นที่มาที่ไปให้ผู้อ่านเข้าใจครบ เพราะรูปแบบการพูด อาจถูกหั่นเฉพาะบางคำบางประโยคมาใช้ในทางการเมือง เช่น ปราศรัย 40 นาที ตัดเอามา 40 วินาที มาโจมตีกัน เขาเรียกเทคนิคนี้ว่า Quote-Mining

 

“ช่องทางหนังสือจะเป็นการส่งข้อความในใจผมไปอยู่ในสมอง หรือในใจของท่านผู้อ่านได้อย่างครบถ้วนกระบวนความมากกว่า ไม่เป็น Context-free หรือขาดจากบริบท”

 

พิธาย้ำด้วยว่า เขาเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างสนุกๆ ไม่ได้เป็นการเมืองจ๋า มีการพูดถึงเรื่องราวส่วนตัว อย่างวัฒนธรรมเร็กเก้ (Rasta Culture) หรือเพลงของวง Srirajah Rockers ที่เชื่อมโยงกับการหาเสียงของเขาที่ชลบุรีและระยอง ทำให้หนังสือมีความเป็นตัวตนของเขาอย่างมาก เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้ที่อาจจะสนใจการเมืองแบบปานกลาง จะอ่านแล้วสนุกไปกับมันได้

 

จาก Almost ที่อาจเป็น Already

 

“กระจายอำนาจนี่ตกลงจะแบ่งแยกดินแดนใช่ไหม?” “จบที่ Harvard เนี่ยใช้เงินของ CIA ใช่ไหม?” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลยกตัวอย่างคำถามบางส่วนที่ได้รับฟัง จากการสนทนากับกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะเป็น ‘คู่อริ’ ทางการเมือง อย่าง สว. แต่งตั้ง ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

เราถามพิธาว่า หากย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่เหตุการณ์ในหนังสือเกิดขึ้น หรือหลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา เขาจะแก้ไขอะไรหรือไม่

 

พิธาตอบโดยทันทีว่า จะทำทุกอย่างเหมือนเดิม แต่จะทำให้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการสื่อสารให้คนส่วนมากเข้าใจความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มากขึ้น อย่างบรรดา สว. ที่ยังค้างคาใจ บางคำถามแม้จะตอบผ่านสื่อ แต่ก็ไม่ได้เห็นแววตาหรือความตั้งใจจริง

 

เขาเล่าย้อนว่า เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยและอธิบายโดยตรงกับผู้คนเหล่านั้น ก็ทำให้เข้าใจกันมากขึ้นว่าต่างก็รักบ้านเมืองเหมือนกัน และมีหลายเรื่องที่คิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปราชการ การต่อสู้กับการคอร์รัปชัน หรือการปฏิรูปการศึกษา

 

เขาพูดถึงวันที่เลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่ง สว. หายไปกว่า 50 คน ในจำนวนนั้นมี สว. ที่เคยสัญญากับเขาไว้ว่าจะมา 

 

พิธาเชื่อว่าหากพวกเขามาเป็นองค์ประชุม ตัวเลขก็จะสูงกว่าที่เป็นอยู่มาก และจะส่งผลให้โมเมนตัมในการเลือกครั้งที่ 2 และ 3 ไม่ขาดหายไป

 

“จริงๆ แล้วต้องมีโอกาสที่จะทำได้มากกว่านั้น แต่ผมก็เชื่อว่า ถ้ามีครั้งที่ 2-3 นี้ Almost จะกลายเป็น Already Prime Minister ได้ แต่ก็โดนตัดจบไป ถ้าที่อเมริกาก็จะบอกว่า ประชาธิปไตยไทยตายด้วยองค์ประชุม” เขากล่าวติดตลก 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เกือบนายกฯ : บาดแผลหรือภูมิคุ้มกันของประชาธิปไตยไทย?

 

พิธาตอบว่า “เป็นทั้งคู่” และขึ้นอยู่กับ “คนไข้” หากมองว่าการที่คนส่วนน้อยสามารถควบคุมประชาธิปไตยและทำให้ถดถอยได้ จนประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง ไม่สนใจการเลือกตั้งอีกต่อไป นี่จะเป็นบาดแผลของประชาธิปไตยไทยไปอีกนาน เพราะโอกาสที่จะมีคนสนใจการเมืองมากถึงขนาดปี 2566 ไม่อาจรู้ได้ว่าจะกลับมาอีกเมื่อไร

 

ภูมิคุ้มกันที่แรงกล้าในทัศนะของพิธานั้น เขามั่นใจว่า ถ้าประชาชนไม่ยอมแพ้และยังมีความหวัง ถ้าประชาชนอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วยังจำได้ว่า ‘ตอนที่เรามีความหวัง ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร’ 

 

แน่นอนว่าเขาต้องการที่จะให้มีแรงเฉื่อยและประวิงเวลา ทำให้พวกเราลืม อะไรที่เขาอยากทำให้เราลืม เรากลับจำได้ผ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วกลับมาใช้สิทธิกันให้ถล่มทลายมากกว่าเดิม

 

“คุณจะโกงเลือกตั้ง คุณจะซื้อเสียง คุณจะทำอะไร แต่ว่าถ้าคนออกมาใช้สิทธิเยอะ แบบนี้ อะไรที่คุณพยายามจะทำก็เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่มีประโยชน์หรอก” 

 

พิธาระบุว่า หากเป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นภูมิคุ้มกัน และเป็นความตั้งใจหนึ่งของเขาในการใช้หนังสือเล่มนี้เพื่อคอยเตือน เปลี่ยนอดีตให้เป็นการเดินทางสู่อนาคต

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“คำว่า Almost ไม่ใช่บาดแผล คำว่า Almost คือภูมิคุ้มกัน คือสะพานที่บอกว่า คุณดูสิ เรามาไกลถึงขนาดไหน 93 ปี ประชาธิปไตยไทย เรามากันได้ไกลขนาดไหน อย่าไปมองว่ายังเหลือเท่าไหร่จะถึงฝั่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ถึงจะมีหรือไม่มีผมอยู่ แต่ยังมีความหวัง” เขากล่าว 

 

ก่อนเน้นย้ำว่า หากยังมีความหวัง คนออกมาใช้สิทธิกันมากมาย สักวันผู้มีอำนาจก็ต้องฟัง เพราะเราจะไม่ถอย แต่หากเราเบื่อการเมือง นี่คือช่วงที่ผู้มีอำนาจจะได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชันมากที่สุด เพราะประชาชนไม่สนใจแล้ว 

 

เขาต้องการจะทำให้มันยากที่สุด น่ารำคาญมากที่สุด และทำให้เราเลิกสนใจมากที่สุด แล้วเราก็จะเอาประเทศของเราใส่พานมอบให้เขา นี่เป็นบาดแผลแน่นอน

 

ความเสี่ยง The Almost Prime Minister No.2

 

มองไปยังการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าในปี 2570 หรืออาจเร็วกว่านั้น เราถามพิธาถึงความกังวลว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาชน – ไม่ว่าจะเป็นใคร อาจมีความเสี่ยงจะกลายเป็น The Almost Prime Minister No.2 เหมือนเขาหรือไม่

 

พิธายอมรับว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เขาไม่ได้กังวลในศักยภาพของผู้จะเป็นแคนดิเดต แต่กังวลถึงกระบวนการนิติสงคราม หรือการทำลายตัวตน (Character Assassination) ที่อาจมีขึ้นผ่านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร เขาบอกว่า “ได้กลิ่น” กระบวนการต่างๆ เพื่อสร้างเครื่องมือหรือเชือกกระตุกให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ซึ่งต้องระวังให้เต็มที่

 

เมื่อถามต่อเนื่องไปว่า หาก The Almost Prime Minister No.2 เกิดขึ้นจริง The Almost Prime Minister จะพูดอะไรกับคนคนนั้น?

 

พิธานิ่งคิดชั่วครู่ ก่อนตอบว่า “ผมก็ยังหวังว่าจะจบที่ผมนะ” 

 

เขาจำได้ว่าเคยตอบคำถามคล้ายกันนี้เมื่อครั้งแถลงข่าวยุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคม 2567 เขาหวังให้ตัวเองเป็นพรรคสุดท้าย และคนสุดท้ายที่ต้องโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองในลักษณะนี้ หากเป็นความผิดพลาดจริง โทษที่ได้ควรได้สัดส่วนกับความผิดที่มี เขาไม่เชื่อว่าได้ทำผิดอะไร และยังยืนยันในเจตนารมณ์ที่ต้องการทำ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

พิธายังหวังให้การใช้นิติสงคราม และกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยุติลง แต่สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้มาจากการวิงวอนหรือขอร้อง ทว่าจะต้องไปถึงการกำหนดกติกาที่ทำให้การเมืองเข้มแข็ง ไม่ใช่ทำให้การเมืองอ่อนแออย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งน่าเสียดายที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เกิดขึ้น แม้เคยมีโมเมนตัมที่ดี

 

คำว่า Almost ที่ผมไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนี่ย เรื่องเล็ก เรื่องที่ใหญ่กว่าคือการสูญเสียโมเมนตัมหลายๆ อย่าง ที่ประเทศเราจะพลิกฟื้นในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

 

เขามองว่าหากเป็นไปตามแผน 2 ปีที่แล้ว ประเทศไทยอาจได้ทำประชามติหรือคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไปแล้วด้วยซ้ำ และเมื่อกติกาไม่เละเทะ ผลก็จะไม่ออกมาเละเทะอย่างที่เห็น

 

“การที่ผมไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว เป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายที่ประเทศไทยกำลังเจออยู่แล้ว เมื่อปี 2566 เป็นโมเมนตัมสูงมากถึงมากที่สุด ที่เรากำลังจะผ่าตัดใหญ่รักษาโรคร้ายในประเทศไทยได้แล้ว”

 

อย่างไรก็ตาม 2 ปีผ่านไป เขามองว่าหลายอย่างที่เราสามารถบรรลุร่วมกันเพื่อให้ประเทศเข้มแข็งพอที่จะเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่รุนแรงและบ่อยขึ้นเรื่อยๆ กลับสูญเสียไป 

 

“ไม่รู้ว่าโมเมนตัมนั้นจะกลับมาอีกเมื่อไร ไม่ใช่แค่ว่าเราชนะเลือกตั้งนะ แต่คือความพร้อมใจของคนทั้งประเทศที่อยากจะเห็นบ้านเมืองได้รับการเขย่าโครงสร้าง เพื่อที่จะพร้อมกับโลกในศตวรรษที่ 21 เสียที”

 

เราทิ้งท้ายบทสนทนาโดยขมวดกลับมาที่หนังสือ The Almost Prime Minister ว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภูมิคุ้มกัน’ ให้ประเทศไทยได้หรือไม่

 

“อืม ใช่ ใช่” ผู้เขียนตอบด้วยรอยยิ้ม

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising