×

เลือกตั้ง 2566 : นรุตม์ชัย บุนนาค พรรคไทยสร้างไทย ‘ชายมีรอยสัก ทายาทตระกูลดังนักกฎหมายไทย’

โดย THE STANDARD TEAM
02.05.2023
  • LOADING...
นรุตม์ชัย บุนนาค

ชื่อ นามสกุล: นรุตม์ชัย บุนนาค

 

อายุ: 32 ปี

 

สังกัดพรรค: ไทยสร้างไทย

 

เขตการเลือกตั้ง: กรุงเทพมหานคร เขต 3 เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา

 

การศึกษา: นิติศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

 

สมาชิกในครอบครัว: หลาน มารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

 

การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรไทย ปี 2566 มีการเปิดตัว ‘ผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่า’ จากหลายพรรคการเมือง สร้างความคึกคักให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นทางเลือกสดใหม่ให้หลุดพ้นจากความจำเจด้านการเมือง

 

ขณะที่อีกด้านของเหรียญ ผู้สมัครเหล่านี้คล้ายว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘การเปลี่ยนมือ’ ของตระกูลนักการเมือง ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือว่าท้องถิ่น เพราะต่อให้เป็นคนหน้าใหม่ แต่ ‘นามสกุล’ ที่คุ้นเคยยังคงติดอยู่บนป้ายหาเสียงไม่เลือนหายไปไหน

 

อย่างไรก็ตาม การพิพากษาตัดสินไปก่อนล่วงหน้าว่าผู้สมัครหน้าใหม่เป็นเพียงตัวแทนรุ่นถัดไปของครอบครัวบ้านเก่าก็คงไม่ยุติธรรมมากนัก หากยังไม่ได้ทำความรู้จักกับผู้สมัคร ศึกษาทัศนคติ ทำความเข้าใจเลนส์ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการเมืองของพวกเขาและเธอ

 

การลงสนามการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่าเป็นเช่นไร มีความคิดเห็นอย่างไรกับการต่อสู้บนสนามเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็งมายาวนานนับทศวรรษ

 

 

ชีวิตในครอบครัวนักกฎหมาย

ชีวิตของ ป๋อม-นรุตม์ชัย บุนนาค อาจเรียกได้ว่าดำเนินตามเส้นทางคลาสสิกของผู้ที่เติบโตในตระกูลนักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกศึกษาในคณะนิติศาสตร์ทั้งระดับชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท เมื่อเรียนจบแล้วก็เข้าทำงานในสำนักงานกฎหมายมารุต บุนนาค อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์ ออฟฟิศ ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว

 

การทำงานใต้สำนักงานกฎหมายที่ก่อตั้งโดยคุณปู่ (มารุต บุนนาค) นรุตม์ชัยรับผิดชอบในส่วนของการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายที่ตนเชี่ยวชาญ หากเมื่อชีวิตการทำงานเข้าสู่ปีที่ 3 เขาก็ให้คำตอบกับตัวเองได้ว่าการทำงานเป็นทนายความในสำนักงานกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังไม่ตอบโจทย์ความปรารถนาในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

 

“ตอนเป็นทนายความที่ลอว์เฟิร์ม (สำนักงานกฎหมายมารุต บุนนาค) มีหลายคนที่เข้ามาติดต่อขอความช่วยเหลือ แต่ว่าเราคนเดียวกับลอว์เฟิร์มก็ช่วยเหลือได้แค่บางคนเท่านั้น หลักสิบคน…พอทำลอว์เฟิร์มมา 2-3 ปีก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว มันชี้ชัดแล้วว่ามันช่วยได้ไม่เยอะ”

 

นรุตม์ชัยให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของการช่วยเหลือประชาชนว่า ในส่วนของลูกค้าของสำนักงานกฎหมายของตนเองนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความมั่นคงทางด้านการเงิน พร้อมที่จะจ่ายค่าดำเนินการทางกฎหมายให้กับทางสำนักงาน กลุ่มคนเหล่านั้นไม่มีข้อขัดข้องในการเข้าถึงบริการทางกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้รับรู้ว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์ ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย แต่กำลังเดือดร้อนจากระบบกฎหมาย

 

เขาและกลุ่มคนที่เห็นพ้องต้องกันว่าอยากช่วยเหลือผู้คน อยากทำงานจิตอาสาด้านกฎหมาย จึงเริ่มสร้างเพจบนเฟซบุ๊กชื่อ LAW 2 YOU ปรึกษากฎหมายฟรี เป็นเพจส่วนตัวที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

 

 

หากต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เส้นทางการเมืองคือคำตอบ

ถึงอย่างไรความตั้งใจดีก็ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดหลายอย่าง เขาพบว่าการทำงานในส่วนของการให้คำปรึกษาในเพจเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถบรรเทาความทุกข์ของคนขอคำปรึกษาทางกฎหมายอย่างที่ตั้งใจไว้ หลานชายตระกูลนักกฎหมายจึงเข้าไปปรึกษากับคนใกล้ชิดในครอบครัวอย่างคุณปู่มารุต บุนนาค เกี่ยวกับเส้นทางในอนาคตที่ตอบโจทย์กับความต้องการในชีวิต

 

โดยมารุตผู้คร่ำหวอดในวงการการเมืองมาอย่างยาวนานได้ให้ความเห็นว่า ถ้าหากนรุตม์ชัยมีไฟและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เส้นทางที่เขาควรเดินต่อไปคือการลงสนามการเมือง เข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง เพื่อเสนอตัวเข้าไปเป็นผู้แทนให้กับประชาชนต่อไป

 

“ก็คุยกับคุณปู่ (มารุต บุนนาค) ว่าถ้าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างเป็นวงกว้าง ต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชาติ เปลี่ยนแปลงประเทศก็ต้องมาลงการเมือง วันหนึ่งเราก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการนำประเทศ เราก็จะขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงได้”

 

นรุตม์ชัยจึงตัดสินใจขยับเส้นทางการดำเนินชีวิต จากทนายความอาวุโสมาสู่ตำแหน่งสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2564 โดยมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจเลือกพรรค ณ เวลานั้นคือเป็นพรรคที่ครอบครัวโดยเฉพาะคุณปู่มีความผูกพันมาอย่างยาวนาน

 

หลังจากก้าวเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่นานนัก การตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกเส้นทางชีวิตครั้งใหม่ก็มาถึง นรุตม์ชัยอธิบายให้ฟังว่า นโยบายการบริหารประเทศของพรรคการเมืองคือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น สืบเนื่องจากความเชื่อของตนเองว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศจะเกิดขึ้นได้จากนโยบายที่ชัดเจน จับต้องได้ ดังนั้นในวันที่เขาพิจารณาเห็นแล้วว่าแผนเส้นทางการบริหารประเทศพรรคประชาธิปัตย์ยัง ‘ไม่ตอบโจทย์’ ในการทำงานของตัวเอง จึงเริ่มมีการศึกษาพรรคการเมืองอื่นที่เขาเล็งเห็นแล้วว่าสอดคล้องกับความต้องการ

 

 

การทำงานไม่หยุดพักตลอด 30 ปี คือสิ่งที่ประทับใจ

ผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีจุดจดจำคือรอยสักเต็มสองแขนเล่าให้ฟังว่า ไอดอลในทางการเมืองของตนเองมี 2 คน คนแรกคือคุณปู่ มารุต บุนนาค เพราะตั้งแต่จำความได้ชายคนนี้คือคนที่ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากี่สมัยก็ไม่เคยลืมตัวตน ยังคงยึดมั่นในคำว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ อยู่เสมอ มีการลงพื้นที่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดตอน

 

“คุณปู่ผมเป็น ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ไม่รู้กี่สมัย เชื่อไหมว่าตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรี ท่านยังมาลงพื้นที่อยู่เลย คือไม่นั่งอยู่ในห้องแอร์อย่างเดียว นั่งห้องแอร์ก็ใช่เพราะต้องนั่งทำเอกสาร แต่ว่ายังมาลงพื้นที่เสมอ ไม่เคยทิ้งพื้นที่เลย คุณปู่ทำเพื่อพี่น้องประชาชนจริงๆ มีความตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลงชาติจริงๆ”

 

ส่วนรายที่สองคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์เป็นตัวอย่างที่น่าประทับใจในการทำงานด้านการเมืองโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อย่างที่เขาเห็นมาตลอด 30 ปีว่าคุณหญิงสุดารัตน์ไม่เคยหยุดที่จะทำงานเพื่อประชาชนเลยแม้แต่น้อย

 

“ผมเห็นท่านทำการเมืองมา 30 ปี ท่านไม่เหน็ดเหนื่อย ท่านไม่หยุดของจริง ท่านทำเพื่อประชาชนจริงๆ ทุกนโยบายที่ท่านคิดมา คือไม่ได้คิดมาฉาบฉวย ไม่ได้คิดมาเพื่อเอาความนิยม คือคิดนโยบายมาเพราะรู้ว่าทำแล้วจะทำให้ความเป็นอยู่ของพวกเราดีขึ้น”

 

เมื่อประกอบเข้ากับนโยบายและแนวทางการบริหารประเทศของพรรคไทยสร้างไทย ที่มีลักษณะเป็นนโยบายที่ครบวงจร มีการบริหารงานที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สร้างความมั่นใจได้ว่าถ้าพรรคไทยสร้างไทยมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศ ทุกชีวิตในประเทศไทยจะดีขึ้นได้จริง นรุตม์ชัยจึงตัดสินใจย้ายมาสังกัดพรรคไทยสร้างไทยในช่วงปี 2565 และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพื้นที่กรุงเทพมหานครในเป็นครั้งแรกในปี 2566

 

 

ชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ไม่เคยเปลี่ยนใจ

จากการให้คำปรึกษาลูกความในห้องทำงานติดเครื่องปรับอากาศภายในสำนักงานกฎหมาย ก็กลายมาเป็นพูดคุยกับประชาชนตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบ จากการนอนดึกเพื่อจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับคดีความทางกฎหมาย ก็กลายเป็นการตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเข้าร่วมงานบวชหรืองานประเพณีของชุมชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นรุตม์ชัยจะบอกว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อสลับบทบาทจากตำแหน่งทนายความอาวุโสมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

แต่เขาก็ยืนยันหนักแน่นว่าไม่เคยท้อแท้หรือว่าท้อถอยกับการพลิกเปลี่ยนชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้ นรุตม์ชัยยังคงตั้งใจลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนในเขตการเลือกตั้งอย่างไม่หยุดยั้ง ในช่วงหนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง ตารางการลงพื้นที่ของเขาเรียกได้ว่าไม่มีวันหยุดพัก มีการเตรียมแผนการลงไปแนะนำตัวกับประชาชนทุกวัน

 

และการที่เป็น ‘หน้าใหม่’ ในสนามการเมืองสำหรับนรุตม์ชัยมีข้อดีคือ เป็นจุดดึงดูดความสนใจจากพี่น้องประชาชนที่อยากจะเข้ามารู้จักคนใหม่หลังจากที่เห็นนักการเมืองหน้าเดิมในพื้นที่ แต่ไม่ว่าผู้สมัครจะลงสมัครเป็นครั้งแรกหรือว่าผ่านสนามการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง เขาก็มองว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาไปพร้อมกันคือเรื่องของความตั้งใจในการทำงาน เพราะเขาก็เชื่อว่ามีคนหน้าเก่าหลายคนที่ยังคงตั้งใจทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่สม่ำเสมอ

 

“แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะเป็นหน้าใหม่หน้าเก่ามันไม่ต่างกัน สำคัญที่ว่าเราตั้งใจขนาดไหน เราทำงานแล้วเป็นอย่างไร คือต่อให้เป็นหน้าเก่าถ้าเป้าหมายยังเหมือนเดิม ความมุ่งมั่นยังเหมือนเดิม จะลงมาแล้ว 10 ปี 20 ปี ก็ยังทุ่มเทเหมือนอย่างที่คุณหญิงสุดารัตน์ทุ่มเทที่จะทำให้ประเทศนี้ดีที่สุด ส่งทอดให้กับลูกหลาน พอท่านมีเป้าหมายอย่างนี้ท่านก็ไม่หยุด จนตอนนี้ท่านก็ยังลุยอยู่เพื่อพี่น้องประชาชน”

 

 

นามสกุลไม่สำคัญเท่าตัวตนของเราเอง

ระหว่างที่รถกระบะสำหรับหาเสียงเคลื่อนตัวไปตามเส้นทางภายในซอยประดู่ เสียงประกาศจากลำโพงบนรถก็ทำหน้าที่ในการกระจายเสียงแนะนำตัวผู้สมัครอย่างนรุตม์ชัยไปพร้อมกัน มีทั้งการบอกชื่อ นามสกุล พรรคการเมือง เบอร์ของผู้สมัคร รวมไปถึงนโยบาย และหนึ่งสิ่งที่ดึงความสนใจคือการที่นรุตม์ชัยเลือกกล่าวถึงคุณปู่ผู้ล่วงลับอย่าง มารุต บุนนาค ว่าตนเองนั้นเป็นหลานของชายผู้คร่ำหวอดในวงการการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน

 

แน่นอนว่าเรื่องนามสกุล ชาติตระกูล เป็นเรื่องที่เลือกรับหรือเลือกปฏิเสธกันไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วในมุมมองของผู้สมัครหน้าใหม่ คนรุ่นใหม่ การนำเอาบุคคลในตระกูลมาใช้เป็นจุดแนะนำตัว นรุตม์ชัยมองอย่างไรบ้าง

 

ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทยให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า เรื่องของนามสกุลอาจเป็นส่วนหนึ่งในการชูความแตกต่างหรือจุดจดจำของผู้สมัครก็จริง แต่นามสกุลก็เป็นเพียงเปลือกนอกที่ทำให้ประชาชนรู้จักตัวเขาในเบื้องต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าที่ทำให้ตัวตนของนรุตม์ชัยโดดเด่นคือเรื่องของความทุ่มเท ความตั้งใจจริงในการทำงานมากกว่า

 

“ผมว่านามสกุลเป็นแค่ส่วนหนึ่ง นามสกุลบุนนาคเป็นนามสกุลที่หลายคนรู้จัก เป็นนามสกุลดัง บางคนรู้จักคุณปู่ รู้จักดีมาก มารุต บุนนาค เห็นบ่อย แต่ผมมองว่าพวกนั้นเป็นแค่ภายนอก เป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น สุดท้ายก็กลับไปอยู่ที่ว่าเราเป็นคนอย่างไร ทุ่มเทไหม ตั้งใจไหม มีความจริงใจไหม สุดท้ายถ้าหลักตั้งนั้นของเราไม่มี ต่อให้เรานามสกุลอะไร เป็นญาติใคร เป็นลูกหลานใครก็เท่านั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรทั้งนั้นเลย”

 

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ นรุตม์ชัยมองว่าการที่มีนามสกุลนักการเมืองเป็นสิ่งติดตัว ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเขาต้องรับผิดชอบและทำทุกอย่างให้ดี ในท้ายที่สุดความจริงใจในการอาสาเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศก็จะลบเรื่องของนามสกุลไปทีละน้อย

 

“ก็มีบ้างแหละ คนที่คอยปรามาสเรา โอ๊ย เด็กใหม่ หน้าตาเด็กมากเลย จะไหวไหม แต่ว่าเราไม่สนตรงนั้นเลย เราเชื่อว่าเราเป็นคนอย่างไรเดี๋ยวเขาก็เห็น เพราะหลายปีที่ผ่านมาผมลงต่อเนื่อง ผมไม่เคยหยุดเลย ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) จนกระทั่งเลือกตั้ง ส.ก. กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมก็ทำต่อ ไม่เคยหยุดเลยจริงๆ ลุยอย่างต่อเนื่องมากๆ”

 

 

จากก้าวแรกสู่ความช่ำชอง

ภาพนรุตม์ชัยยกมือไหว้สวัสดีผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน แนะนำตัวด้วยเสียงดังฟังชัดไม่มีติดขัด คอยแนะนำนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยอย่างคล่องแคล่ว มีการตบมุกกับประชาชนที่ทักเรื่องรอยสักของเขาในบางครั้ง ทุกกิริยาเป็นธรรมชาติราวกับว่าได้รับการฝึกฝนมาอย่างยาวนาน ถึงอย่างนั้นเขาก็ยอมรับว่าตนเองมีความสับสนไม่น้อยในวันแรกของการลงพื้นที่

 

“วันแรกจะงงๆ เพราะเป็นอะไรที่เราไม่คุ้นเคยกับการต้องมาเดินชุมชน เจอคนแปลกหน้าแล้วก็ต้องยกมือไหว้ ทักทาย พูดคุย แต่ก็มึนงงแค่สองสัปดาห์แรก ตอนนี้ก็ชินแล้ว รู้แล้วว่าเราต้องทำอย่างไร ก็คล่องแล้ว เจอพี่น้องหลากหลาย”

 

เขามองว่าตัวเองมีจุดเด่นแรกที่ทำให้ประชาชนจดจำได้ทันทีคือเรื่องของรอยสัก ส่วนต่อมาคือเรื่องของความอ่อนน้อมถ่อมตน ประกอบกับนิสัยส่วนตัวที่ไม่เกร็งหรืองุ่มง่ามยามเข้าหาผู้คนต่างวัย อย่างเมื่อเจอเหล่าคุณป้า คุณยาย หรือผู้สูงวัย เขาก็พร้อมที่จะโน้มตัวเข้าไปแนะนำชื่อ พรรคการเมือง เบอร์ผู้สมัคร และรายละเอียดของนโยบายไม่มีบ่ายเบี่ยง

 

“ธรรมชาติของผมเป็นคนนอบน้อม อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่แล้ว การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ คุณป้า หรือว่าเป็นผู้สูงวัย ผมทำได้ง่ายมาก ผมเข้าไปบอกคุณยายครับ วันนี้ผมมากับพรรคนี้ ผมมีนโยบายนี้นะครับ ผมชื่อ นรุตย์ชัย บุนนาค มีนโยบายอยากให้ทางคุณยายได้ลองฟังดูครับ เป็นอย่างนี้นะครับ เราก็ไปด้วยความนอบน้อม พูดจาสุภาพ พูดถึงนโยบาย ให้เห็นว่านโยบายของพรรคจะช่วยอย่างไรได้บ้าง ก็พูดตรงไปตรงมา อย่างสุภาพ”

 

 

ยาเสพติด แสงสว่าง น้ำเน่า

เมื่อมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องย่อมตามมาด้วยการศึกษาปัญหาในเชิงพื้นที่อย่างลึกซึ้ง สำหรับเขตบางคอแหลมและยานนาวา นรุตม์ชัยไล่ให้ฟังทีละประเด็นว่ามีเรื่องไหนบ้างที่เขาอยากเข้ามาแก้ไขหากได้รับเลือกเป็นผู้แทนประชาชน

 

ลำดับแรกคือเรื่องของยาเสพติด ที่ตัวนรุมต์ชัยเองเคยเจอพบเหตุการณ์การซื้อขายยาเสพติดต่อหน้าต่อตาระหว่างการลงพื้นที่ ซึ่งเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

เรื่องที่สองคือเรื่องของแสงสว่างบางชุมชน เพราะในหลายชุมชนภายในเขตก็ยังไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอ หรือมีการติดดวงไฟที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อย่างเช่นว่ามีการติดหลอดไฟที่สูงเกินไปจนแสงสาดลงมาส่องไม่ถึงพื้น ก็ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกจากแสงสว่างเหล่านั้นอยู่ดี

 

และเรื่องที่สามคือเรื่องของน้ำเน่า ที่เคยไปเจอบ้านหลังหนึ่งในชุมชน ตอนแรกเขาก็แปลกใจว่าเพราะเหตุใดเจ้าของบ้านถึงต้องเดินบนทางไม้แคบๆ ทั้งที่มีพื้นที่ด้านข้างพอสมควรให้เดินเข้าบ้าน แต่เมื่อลองมองให้ดีแล้วจะพบว่าพื้นที่โดยรอบคือขยะที่กองพะเนินจนคล้ายกับทางเดิน เมื่อสอบถามทางเจ้าของบ้านก็เล่าให้ฟังว่า เคยมีการติดต่อเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วหลายครั้งแต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขเสียที

 

“ผมเดินในพื้นที่แล้วผมตกใจ อย่างในบ้านหลังหนึ่ง เขาก็ทำเป็นทางเดินสะพานข้ามน้ำเล็กๆ เข้าไปในบ้านเขา ผมก็งงว่าทำไมต้องเดินบนทางแคบ พอมองอีกครั้งกลับกลายเป็นว่าสองข้างทางมีแต่ขยะ ขยะที่พูนจนเหมือนพื้น ก็เลยถามว่าอยู่อย่างนี้มานานแค่ไหน เขาบอกว่าอยู่มาเป็น 10 ปี ร้องเรียนที่เขต ร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่เคยมีใครมาสนใจ ไม่เคยมีใครมาแก้ไข ปวดใจนะ ผมเจออย่างนี้แล้วปวดใจมาก”

 

 

ยังเดินบนเส้นทางการเมืองต่อ

ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครเบอร์ไหนย่อมคาดหวังว่าตนเองจะได้รับการประกาศชื่อเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรของเขต หากความเป็นจริงแล้วก็ต้องยอมรับว่าทุกการแข่งขันประกอบไปด้วยผู้สมหวังและผิดหวัง ตัวนรุตม์ชัยเองก็ได้ทำการวางแผนชีวิตเอาไว้ล่วงหน้าเช่นกัน โดยไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรเขาก็ตั้งใจที่จะอยู่ในแวดวงการเมืองต่อไป เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ที่อยู่ในวงการการเมืองกว่า 30 ปี

 

ถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เขามองว่าตนเองก็ยังคงทำงานในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็ตาม เพราะเขาก็ยังคงตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้ในสักวันหนึ่ง จะไม่ยอมแพ้บนเส้นทางนี้เป็นอันขาด

 

“บางทีก็เหนื่อยนะ แต่เราก็คิดว่าการเข้ามาในสนามการเมืองครั้งนี้ เราไม่ได้เข้ามาฉาบฉวย ไม่ได้เข้ามาเพื่อมีภาพ มีข่าวลงว่าผมเป็นลูกหลานคนนี้ครับ อันนั้นเป็นแค่เปลือก หลักๆ คือเราอยากเปลี่ยนแปลง เราอยากเข้าไปในสภา เราอยากเข้าไปผลักดันอะไรที่เราอยากผลักดัน ท้อก็มี แต่เราก็บอกว่าถ้าเป้าหมายเรายังอีกไกล อันนี้ก็เป็นบันไดก้าวหนึ่งที่เราต้องก้าวต่อไปเพื่อเป้าหมายที่วางไว้ เราก็ต้องสู้ต่อ”

 

 

ของมูของป๋อม

“สร้อยกำไลหิน เขาบอกว่าใส่แล้วดี ผมก็ใส่ เป็นอาจารย์ที่เคารพนับถือกัน ท่านบอกให้ใส่เอาไว้ เราก็เลยใส่ไว้ ใส่ตลอดเวลาไม่ถอดเลย เห็นอาจารย์บอกว่าช่วยในเรื่องของการพูดคุย เวลาเราไปคุยงาน เพราะเราต้องคุยงานเยอะ ให้ใส่ไว้การคุยงานจะได้ราบรื่น”

 

เรื่อง: จามาศ โฆษิตวิชญ

ภาพ: พีระพล บุณยเกียรติ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising