×

เลือกตั้ง 2566 : คุยกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล: มองจุดเปลี่ยนนิติสงคราม เปิดเส้นทางพิธาเป็นนายกฯ

20.06.2023
  • LOADING...
ปิยบุตร แสงกนกกุล

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ปิยบุตรมองว่าพิธาจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่จะช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบราชการ ระบบกองทัพ ระบบเครือข่ายต่างๆ กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่ถ่างออกไปตลอด 9 ปี ให้ใกล้กันมากขึ้นกลับสู่จุดสมดุล เพื่อร่วมกันพาประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ 
  • สำหรับอุปสรรคอย่างนิติสงคราม ปิยบุตรเชื่อว่าสังคมไทยตอนนี้ตระหนักรู้ถึงการใช้นิติสงคราม จนกระแสตีกลับ กลายเป็นผู้ใช้นิติสงครามถูกตรวจสอบ สืบสวนย้อนกลับเสียเอง กลไกที่ขัดขวางเสียงประชาชนได้สูญสิ้นความเชื่อมั่นจนไม่เหลือพลังมาขวางกระแสมติมหาชนได้อีกต่อไป 
  • ในท้ายสุดสังคมไทยไม่สามารถกำหนดกติการัฐธรรมนูญขวางให้ประเทศไม่จัดการเลือกตั้งได้ ดังนั้นหากใครอยากมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมประเทศ มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างชอบธรรม ทางเดียวที่เหลืออยู่คือการออกมาตั้งพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง รณรงค์ทางความคิดเปลี่ยนความคิดให้ประชาชนเห็นด้วย ตามวิถีประชาธิปไตยสากล 

“ไม่ได้คาดว่าจะถึง 150 เสียง คิดว่า 80-100 เสียงก็ประสบความสำเร็จมากแล้ว จากที่ได้ไปเห็นผ่านคาราวานทั่วประเทศก็เห็นว่าคนเยอะมาก เป็นกระแสฟีเวอร์ แต่ไม่คิดว่าจะไปถึง 150 เสียง ถือว่าเกินความคาดหมาย” ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล เปิดเผยกับ THE STANDARD ผ่านรายการ END GAME ที่มี เอก-ธนกร วงษ์ปัญญา และ ออฟ-พลวุฒิ สงสกุล ทำหน้าที่พิธีกร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา 

 

ไม่มีใครคาดหมาย?

 

ใช่ ตั้งแต่ทำอนาคตใหม่ คิดว่าครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 จะเป็นฝ่ายค้าน ครั้งที่ 3 ได้ร่วมรัฐบาล แล้วครั้งที่ 4 เป็นรัฐบาลพรรคเดียว นี่คือที่คิดเป็นโรดแมปไว้ 

 

นอกจากอาจารย์ไม่ได้คาดหมายไว้แล้ว คนที่จะขวางก็น่าจะไม่ได้คิดไว้เหมือนกัน ถึงได้เกิดเป็นนิติสงครามแบบตอนนี้ อยากให้อาจารย์อธิบายคำว่านิติสงคราม สรุปมันคืออะไร

 

มันคือการเปลี่ยนจากสงครามที่ใช้อาวุธหรือ Warfare มาเป็นสงครามที่ใช้กฎหมายเป็นอาวุธ Lawfare ซึ่งดูศิวิไลซ์ ดูมีอารยะกว่าการอุ้มหาย กว่าการเนรเทศ ทำให้คนต่อต้านได้ยากขึ้น เทียบกับใช้อาวุธมันเห็นได้ชัด โจ๋งครึ่ม คนออกมาต่อต้านได้ แต่พอนี่มันเป็นกฎหมาย ก็จะอ้างได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ต้องเคารพ 

 

ดังนั้นในระยะหลังตั้งแต่ศตวรรษ 20 เป็นต้นมา นิติสงครามเกิดขึ้นในหลายประเทศ ลองดูที่ฟิลิปปินส์ คนที่จะเล่นงานประธานาธิบดีดูเตร์เตเรื่องการดำเนินนโยบายฆ่าผู้ค้ายาเสพติด ไปๆ มาๆ คนนี้กลับโดนเล่นเรื่องยาเสพติดแทน 

 

หรือในลาตินอเมริกา ลูลา (ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา) อดีตประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งเพราะข้อหาคอร์รัปชัน สุดท้ายศาลสูงสุดบอกว่าเขาไม่ได้คอร์รัปชัน วันนี้กลับมาลงประธานาธิบดีใหม่ กลับมาชนะแล้ว ฉะนั้นนี่คือการจัดการตัดสิทธิ เตะนักการเมืองออกจากระบบด้วยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

 

สำหรับประเทศไทย หมุดหมายคือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการปฏิรูปการเมือง สร้างรัฐบาลมีเสถียรภาพ โดยต้องถูกตรวจสอบได้ด้วย จึงเกิดองค์กรอิสระมากมายเพื่อทำหน้าที่นั้น แต่ฝ่ายที่ยึดอำนาจรัฐบาลคุณทักษิณปี 2549 โดยตั้งข้อหาว่าใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือ เป็นเหตุผลหนึ่งในการรัฐประหาร พอรัฐประหารก็เอามาเป็นเครื่องมือเหมือนกันในการยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พอรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เพิ่มดีกรี แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไปกันใหญ่เลย 

 

จึงเป็นมาตลอดว่าเวลามีการเลือกตั้ง เจตจำนงของประชาชนแสดงออกมาแล้ว มันไม่เสมอไปว่าจะเป็นไปตามเจตจำนง มันจะมีกระบวนการแบบนี้ ทีนี้รัฐธรรมนูญเมื่อมีเขียนเรื่ององค์กรอิสระไว้ องค์กรเหล่านี้จะตั้งต้นเริ่มคดีเองไม่ค่อยได้ ต้องมีคนไปร้อง จึงมีขบวนการนักร้องเกิดขึ้น ร้องกันไปสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง

 

ผมเทียบนักร้องเหมือนแทงสนุกเกอร์ ต้องมีคนแทงลูกขาวเปิดก่อนแล้วก็ระเบิดแดงให้มันเยอะๆ ให้แดงไปจ่อหลุมเยอะๆ เดี๋ยวพวกองค์กรเหล่านี้ก็จะมาไล่ตบบนโต๊ะก็ปิดเกม สิ่งนี้เรียกว่าการพยายามทำเรื่องการเมืองให้ไปอยู่ในศาล ปกติเราทะเลาะกันทางการเมือง เราจะจบด้วยการให้ประชาชนตัดสิน ให้ลงประชามติ ทีนี้พอประชาชนตัดสิน มันไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ เขาก็บอกว่าเสียงของประชาชนไม่ได้ดีเสมอไปนะ ต้องมีพวกนี้เข้ามาตรวจสอบ ทีนี้ใครตรวจสอบคนตรวจสอบล่ะ

 

นอกจากมีคนร้อง มีองค์กรตัดสินแล้ว มันจะต้องมีองค์ประกอบที่สองมาด้วย นั่นคือมติมหาชน ซึ่งกระบวนการปั้นมติมหาชนก็ต้องใช้สื่อ อย่างเช่นเรื่องราวที่ร้องยังไปไม่ถึงไหน มีแค่นิดเดียวนะ แต่มีการพาดหัวแล้วจนคนนี้ผิดแล้ว สร้างจินตกรรมรวมหมู่ขึ้นมาว่าคนนี้ผิดแน่นอน 

 

พอเป็นแบบนี้แล้วถ้าวันไหนศาลตัดสินว่าไม่ผิดก็จะค้านสายตา เท่านั้นยังไม่พอ จะพยายามทำเรื่องเทคนิคเหล่านี้ให้เป็นเรื่องหยุมหยิมที่ทางกฎหมายจริงๆ ไปไม่ถึง แต่คุณจะใช้คำว่า ‘เชื่อได้ว่า’

 

เหตุกับผลมันห่างกันมากนะ แต่ใช้คำว่าเชื่อได้ว่า ก็ลงโทษแล้ว ถามว่าสังคมสนใจไหม ไม่สนใจ เพราะเชื่อไปหมดแล้วว่ามีทุจริตจริงๆ ก็เช็กบิลง่ายขึ้น เรื่องก็จบไปแล้ว สรุปก็คือมันมี 2 อย่าง หนึ่งมีกฎหมาย แล้วมีองค์กร มีนักร้องไปส่ง สอง ปั่นมติมหาชนให้คนเชื่อ เชื่อว่าผิดโดยไม่สนใจว่าเป็นเรื่องอะไร 

 

ถ้าเราจะมีองค์กรตรวจสอบแบบนี้ต่อต้องทำอย่างไร

 

ต้องออกแบบใหม่ให้ที่มามันแฟร์กับทุกคน ลองไปดูต้นทางศาลรัฐธรรมนูญที่ประเทศเยอรมนี เขามี 16 คน 8 คนแรกมาจาก ส.ส. เลือกมา กับอีก 8 คน ส.ว. เลือกมา ส.ว. มาจากการเลือกตั้งนะ 

 

สังคมไทยมีชุดความคิดที่รังเกียจกลัวนักการเมืองมาก แต่ถามกลับกันไม่มีใครตั้งข้อรังเกียจตั้งข้อกังวลกับองค์กรอิสระบ้างเลยหรือ ไม่ใช่ว่านักการเมืองดี 100% แต่องค์กรอิสระก็ไม่ใช่อรหันต์ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ มันเข้าไปอยู่ในที่มีอำนาจมากมันพร้อมจะบิดเบือนอำนาจได้ตลอดเวลา แต่นักการเมืองโดนตรวจสอบตั้งแต่เข้ายันออก ทีนี้พอเรามองว่านักการเมืองเลวมาก เราก็เพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระสูงมาก แต่ที่มากลายเป็นที่มาจากไหนก็ไม่รู้ เสร็จแล้วก็เกิดการปะทะแบบนี้กันทุกครั้ง แล้วในหมู่นักการเมืองกันเองก็มองว่านี่เป็นอาวุธลับ ไม่ชนะเลือกตั้งมันสักที ถึงเวลาก็ยืมมือพวกนี้มาจัดการ ทำไมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งถึงไม่คิดที่จะปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับยินยอมไปยื่นดาบให้พวกนี้มาจัดการ อันนี้เป็นปัญหา

 

ในต่างประเทศมีบริบทที่คล้ายเมืองไทยไหม ที่ชนะเลือกตั้งแล้วต้องมารอกันนานแบบนี้ หรือต้องผ่านหลายๆ ด่านแบบนี้ ทำไมไม่สามารถเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปได้เลย

 

อันนี้เอกลักษณ์ของไทยเลย คือเราไปตั้งฐานกันตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าไม่ยอมปล่อยคนเลวเข้าสภาแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ตั้งแต่สมัย กกต. ชุดแรก แล้วก็เลยคิดใบเหลือง ใบแดง ขึ้นมา จนวันนี้พัฒนามามีใบส้ม ด้วยวิธีคิดว่านักการเมืองโกง นักการเมืองเลว วิธีคิดเลยเปลี่ยนไป 

 

นักการเมือง ส.ส. เป็นตำแหน่งเดียวที่ประชาชนตั้งมากับมือ ตั้งมาผ่านการลงคะแนน ดังนั้นความสัมพันธ์มันใกล้ชิดกันที่สุดระหว่างประชาชนกับ ส.ส. ทีนี้พอมี กกต. เข้ามาก็ทำให้เกิดระยะห่าง โดยอ้างความชอบธรรมว่าต้องเข้ามาตรวจสอบว่าพวกคุณซื้อเสียงหรือเปล่า ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือเปล่า 

 

ถามว่าได้รับเลือกตั้งมาแบบ 50,000 คะแนน แล้วที่สองได้ประมาณ 10,000 คะแนน ถ้ามีคะแนนผิดพลาดนิดหน่อย 3 เสียง 5 เสียง มันต้องสั่งเลือกตั้งใหม่หรือ แล้วถ้าอย่างนั้นไม่ต้องแคร์เรื่องทุจริตซื้อเสียงเลยไหม 

 

การทุจริตซื้อเสียงมันต้องถึงขนาดทำให้ผลเลือกตั้งเปลี่ยน ลองไปดูได้ในหลายประเทศที่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ เหตุแห่งการเลือกตั้งใหม่จะต้องหนักหนาสาหัสพอสมควรที่เหตุนั้นเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผลเลือกตั้งเปลี่ยน แต่หลายเรื่องมันไกลมากเลย ผมยังสงสัยที่นับคะแนนใหม่ มันนับไม่ตรงกันแค่ไม่กี่เสียงต้องมานับใหม่ บางอันให้ประชาชนมาลงคะแนนใหม่ มาลงใหม่ทำไม 30 คน 70 คน คือมันเหมือนที่พี่ถึก ใบตองแห้ง บอกว่าการตรวจเหมือนตรวจว่าคุณใส่กระโปรงสั้นเลยเข่ากี่นิ้ว วิธีคิดมันผิด คิดแบบราชการสุดๆ แล้วแบบนี้มันก็เข้าทางนักร้อง นักร้องก็ไม่ต้องไปหาเรื่องใหญ่ๆ มานั่งดูเรื่องหยุมหยิม

 

ถึงขนาดนับป้าย จำนวนป้ายเกินไหม ขนาดเกินไหม จดทะเบียนผู้ช่วยหาเสียงครบถ้วนไหม มันขนาดนั้น แล้วมันทำให้มันสมองของนักการเมืองทุกคน แทนที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารประเทศ ต้องมาติดกับเรื่องทำอย่างนี้ได้ไหม ทำอย่างนั้นได้ไหม มันสมองของนักการเมืองไทยจำนวนมาก ส.ส. รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เสียสมองไปเกินครึ่งกับการเฝ้าระวังว่าทำอันนั้นโดนไหม ทำอันนี้โดนไหม 

 

แล้วการจัดการกับวัฒนธรรมนักร้อง อาจารย์มองว่าจะจัดการได้อย่างไร

 

จริงๆ มันต้องใช้ทั้งมิติกฎหมายและการเมือง ในทางกฎหมายก็ต้องสู้ว่าที่กล่าวหามามันไม่เข้าองค์ประกอบความผิด สิ่งที่นำมาคำพิพากษาในอดีตไม่ได้สม่ำเสมอกันนะ คำพิพากษาเปลี่ยนแนวแล้ว ที่กล่าวหามันไม่จริงนะ มันมีข้อบกพร่อง ข้อเท็จจริงอย่างไร รวมถึงการฟ้องเอาคืนเพื่อให้หยุด ไม่ร้องมั่วๆ อันนี้ทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองก็ต้องสู้ด้วย เพราะนิติสงครามมันทำงานได้เพราะมันสร้างความเชื่อขึ้นมา 

 

ดังนั้นเราต้องสู้ให้คนไม่เชื่อ ยกตัวอย่าง ธนาธร 2562 กับพิธา 2566 ก็ได้ โครงเรื่อง เส้นเรื่องคล้ายกัน รายละเอียดอาจต่างกันบ้าง ถามว่าสมัยธนาธรกับสมัยพิธา กองเชียร์ใครเยอะกว่า กองเชียร์ผมหมายถึงนักวิชาการ ปัญญาชน สังคม ด้วยนะ สมัยปี 2562 มีผมอธิบายเองทุกวัน แล้วมีอีกไม่กี่คนมั้งที่ออกมาพูด น้อยมาก แล้วคนที่ขยันตรวจสอบก็ตรวจละเอียดยิบ แต่ปี 2566 นักวิชาการช่วยมาออก เกิดการสืบสวนในอีกมุมว่าพิธาโดนกลั่นแกล้งอย่างไร อธิบายว่าพวกเขาทำหลักฐานเท็จอย่างไร มีคนช่วยเต็มเลย ตรงนี้ผมกำลังจะบอกว่าสังคมมันเปลี่ยน แสดงว่าสังคมเริ่มเอือมระอากับเรื่องแบบนี้ ถามว่าสังคมไม่ได้อยู่ดีๆ ตื่นขึ้นมาก็เอือมระอาหรอก แต่คือเขาเห็นความ Absurd ของลักษณะต้องห้ามเรื่องถือหุ้นสื่อมากขึ้น มันเกิดวิธีคิดแบบใหม่ 

 

อย่างปี 2562 คนคิดว่าที่ธนาธรถือหุ้นสื่อมันเกี่ยวกับเรื่องการโกง ทุจริต ซุกนั่นซุกนี่แน่นอน แต่รอบนี้คนเริ่มมีความคิดเปลี่ยนและเริ่มตั้งคำถาม ดังนั้นทิศทางเปลี่ยนไปเลย 

 

ตรงนี้อาจต้องยกความดีความชอบให้กับเหยื่อทุกคนที่โดนมา คือประเทศไทยมันมีเหยื่อนิติสงครามเยอะมาก ตั้งแต่ปี 2548 ไล่มา ทุกคนเป็นเหยื่อหมด จนสะสมความคิดมา คือสังคมมันจะอยู่ๆ ฉุกคิดขึ้นมามันคงไม่ได้ มันสะสมความคิดขึ้นมาว่ามันวิปริตขนาดนี้เหรอ วันที่คุณสมัครทำกับข้าวแล้วโดนปลด พวกผมออกมาวิจารณ์ต่างๆ นานา คนออกมาด่าไปปกป้องสมัครทำไม ผมไปบอกว่าการยุบพรรคไทยรักไทยไม่ถูกต้อง เป็นการตัดสิทธิย้อนหลัง คนบอก ไอ้นี่บ้า เป็นทาสทักษิณ เราก็จะเจอแบบนี้มาตลอด แต่ตอนนี้คนเริ่มเห็น คนก็จะเริ่มนึกทบทวนย้อน อย่างพรรคพลังประชาชนโดนยุบเพราะกรรมการบริหารพรรค 1 คนโดนใบแดง เป็นไปได้อย่างไร คนเริ่มคิดทบทวน มันสะสม 

 

การใช้กฎหมายเป็นอาวุธ ในสามัญสำนึกของคน กฎหมายคือความยุติธรรม คือความสมเหตุสมผล แต่คุณกลับเอามาใช้ไปเรื่อยๆ มันชักดูไม่ยุติธรรมนะ ชักดูไม่สมเหตุสมผล สักพักมันก็เสื่อม

 

แต่กลไกแบบนี้ก็ทำให้สะท้อนว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะไม่เท่ากับจะได้เข้าสู่สภาเป็นนายกฯ

 

ตรงนี้สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยนะ เราลองย้อนถอยไปตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองปี 2548 รัฐประหาร 2549 ลากมาถึงวันนี้ จะเห็นได้ว่าคู่ขัดแย้งคู่นี้คือฝ่ายที่ได้รับเจตจำนงประชาชนผ่านการชนะเลือกตั้ง กับอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่อยากเข้ามามีอำนาจรัฐแต่ไม่ชนะเลือกตั้ง เลยใช้วิธีอื่น สองฝ่ายนี้ซัดกันมาโดยตลอด ผลัดกันแพ้-ชนะบ้าง มีรัฐประหารบ้าง มียุบพรรค ตัดสิทธิ มีชุมนุม ทีนี้ขั้วที่ไม่ชนะเลือกตั้งเวลาเขาล้มกระดานเมื่อไร เขาจะเขียนกติกาเพิ่มความเข้มข้นในการขวางมติมหาชน ใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ลักษณะต้องห้าม คุณสมบัติเยอะๆ องค์กรอิสระมีอำนาจ เขาจะเพิ่มมาเรื่อยๆ ในรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 เติมความยากเรื่อยๆ ไม่ให้นักการเมืองทำอะไร ทำให้อำนาจของตัวแทนประชาชนหายไปเรื่อยๆ แล้วไปเติมให้อำนาจจากการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กกต. มาจากการแต่งตั้ง, ส.ว. แต่งตั้ง พวกนี้ขี่คอคนลงเลือกตั้งหมดเลย แล้วใช้วิธีท่องคาถาตรวจสอบ ตรวจสอบทุจริต คอร์รัปชัน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ใช้แพตเทิร์นเดิมตลอด

 

ทีนี้ย้อนกลับไปอย่างที่อาจารย์พูดมาว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมันคือความเสื่อม แล้วคนที่แพ้เขาไม่กลัวกันเลยหรือถึงผลที่จะเกิด

 

ผมคิดว่าครั้งนี้น่าสนใจ ผมเคยพูดว่าผมอยากเห็นว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้กุมอำนาจประเทศนี้จะจัดการกับผลการเลือกตั้งอย่างไร ระหว่างขวางมันอีก หรือต้องยอมรับแล้วปล่อยไปก่อนแล้วค่อยล่อ หรือจะกลับไปคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องทยอยลงจากอำนาจแล้วหาทางปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสังคมนี้ให้มันอยู่ด้วยกันได้ มันมีทางสามแพร่งให้เลือกเดินอยู่ 

 

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากชวนให้คิดคือ เวลาเราลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พี่น้องประชาชนใครจะไปอยากชุมนุมทุกวัน มันจึงมีสถาบันการเมืองผ่านการเลือกตั้งขึ้นมา กลุ่มคนจึงออกมาเลือกตั้งแล้วมอบอาณัติให้พรรคการเมืองไปทำ ถ้าทำไม่ได้ค่อยประท้วงเรียกร้อง นี่ก็เป็นประชาธิปไตย แต่ปรากฏพอเขามอบอาณัติให้กลุ่มการเมืองเข้าไปทำแล้ว ดันมีคนมาขวางไม่ให้ทำอีก คนก็จะรู้สึกว่าเพิ่งหย่อนบัตรมาดันไม่ให้เป็น โดยสภาพการณ์มันก็จะบีบให้ต้องออกไปบนถนนกันอีก ซึ่งไม่ต้องมีคนสั่งหรอกครับ มันเป็นไปตามความรู้สึก ทีนี้มันก็เป็นการสู้กันระหว่างความผิดปกติกับความปกติ 

 

คนที่ทำผิดปกติทุกวันก็พยายามบอกว่าที่ทำเป็นความปกติ คนกลุ่มนั้นคือวุฒิสภา เพราะคนก็ถามว่าคุณเป็นใคร อยู่ดีๆ มาโหวตเลือกนายกฯ ด้วย แต่วุฒิสภาก็จะบอกว่าเป็นเรื่องปกติ รัฐธรรมนูญบอกไว้ ซึ่งจริงๆ ที่มาและกระบวนการ คำถามพ่วงในการทำประชามติก็ซ่อนเอาไว้ด้วย คนก็ไม่รู้ คำถามพ่วงไม่ได้ถามนะว่าให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ไหม ไม่ใช่คำนี้ เขาซ่อนคำไว้ คนไม่รู้เต็มไปหมด แต่แม้คุณจะอ้างว่ามีที่มาตามรัฐธรรมนูญก็ตาม พอจะแก้รัฐธรรมนูญคุณก็ไม่ให้แก้ไง คือถ้าเขาบอกว่าไม่ได้อยากทำหรอก แต่ช่วยไม่ได้กฎหมายมันเขียนเองว่าให้ไปโหวตนายกฯ ก็เอาแบบนี้ไหม เปิดสภาแล้วตัดมาตรา 272 ทิ้งก่อนเลย ยังไม่ต้องโหวตก็ได้ มาแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ก่อน เพื่อให้คุณไม่มีอำนาจ ผมก็เชื่อว่าคุณจะอ้างเรื่องอื่นอีก คือพูดง่ายๆ ตัวคุณเองถ้าคุณอยากมากำหนดชี้ชะตากรรมว่ารัฐบาลเป็นใคร นายกฯ เป็นใคร สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดคุณลาออกมาตั้งพรรคการเมืองแล้วคุณก็ลงแข่ง 

 

กลุ่มคนที่ไม่ลงเลือกตั้งแต่อยากมีอำนาจกำหนดทิศทางประเทศ ถ้าคุณต้องการแบบนี้ ผมพูดแบบเอ็กซ์ตรีมเลยนะ คุณก็อย่าเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ก็ถ้าคุณเชื่อว่าอำนาจของพวกคุณมันวิเศษวิโสกว่าอำนาจจากการเลือกตั้ง เพราะพวกคุณเป็นคนดี ฉลาด คุณเลือกผู้ปกครองเก่งกว่าประชาชนคนทั่วไป คุณก็ไปออกแบบรัฐธรรมนูญมาเลย ไม่ต้องมีเลือกตั้งเลย แต่มันเป็นไปได้ไหมล่ะ 

ถ้าอยากลงคะแนนคุณก็ไปตั้งพรรคแล้วก็รณรงค์สิ พวกผมมารณรงค์ตั้งแต่อนาคตใหม่ มาช่วยหาเสียงก้าวไกล กว่าจะได้แต่ละคะแนน กว่าคนจะเปลี่ยนความคิด คุณก็ต้องทำสิถ้าคุณจะเอาชนะใจประชาชน

 

สุดท้ายขอถามว่า พิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีไหม

 

ผมอยากให้พิธาเป็นนายกฯ รอบนี้ ผมประเมินในภววิสัยจริงๆ ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ น่าจะเป็นนายกฯ ที่เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ตอนนี้ที่สุด เหตุการณ์ตอนนี้คือการที่ความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่างรุ่นกับรุ่น เหตุการณ์คือเราต้องการความคิดใหม่ๆ พลังใหม่ๆ ในการเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า หลังจากเราอยู่กับแบบเดิมๆ มา 9 ปี และผมเชื่อว่าพิธาจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เขาจะเป็นตำแหน่งสำคัญ บุคคลสำคัญที่จะช่วยปรับความสัมพันธ์ที่ถ่างออกไปตลอด 9 ปี ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบราชการ ระบบกองทัพ ระบบเครือข่ายต่างๆ กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ เขาจะเป็นคนสำคัญในการปรับความสัมพันธ์ให้ใกล้กันมากขึ้น แล้วจะกลายเป็นจุดเหมาะสม สมดุล ให้ประเทศไทยเดินต่อโดยที่ไม่ต้องแตกแยกแบบที่เป็นมา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising