×

เลือกตั้ง 2566 : ชานันท์ จาก 1 ใน 20 ผู้ได้รับหมายเรียกกิจกรรม LGBTQIA+ สู่ 1 ใน 100 ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย

01.04.2023
  • LOADING...
ชานันท์ เพื่อไทย

“ส.ส. คือผู้แทนของประชาชนทุกกลุ่ม แม้ผลักดัน LGBTQIA+ ก็ไม่ใช่ตัวแทน LGBTQIA+ เท่านั้น”

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย ล่าสุดเป็น 1 ใน 100 รายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ชานันท์มีผลงานเขียนหนังสือก่อนหน้านี้ เช่น นายใน สมัยรัชกาลที่ 6 และ หลังบ้านคณะราษฎร: ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง

 

ขณะเดียวกันเป็นหนึ่งในผู้ได้รับหมายเรียกข้อหา ‘ร่วมกันจัดกิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ’ เป็นหมายแรกในชีวิต จากกรณีการขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ประเด็นเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 1448 เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ โดยมองว่ากฎหมายควรจะรับรองการสมรสระหว่างบุคคลกับบุคคลรวมถึงการสมรสคู่รักเพศเดียวกัน ไม่เฉพาะชาย-หญิง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่แยกราชประสงค์ เป็นกิจกรรมที่มีการปราศรัยและมีซุ้มต่างๆ เพื่อให้ความรู้ประชาชน โดยได้รับเชิญจากภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ซึ่งเชิญตัวแทน 5 พรรคการเมือง ปรากฏว่าได้รับหมายเรียกทั้งผู้จัดงานและวิทยากร ให้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี ออกหมายวันที่ 12 ธันวาคม 2564 ระบุชื่อชานันท์เป็นผู้ต้องหาที่ 3 จาก 20 คน 

 

ในปีนี้มีอีกบทบาทนอกจากงานนโยบายในพรรคเพื่อไทย และประสบการณ์กรรมาธิการฯ ในรัฐสภา บทบาทล่าสุดคือผู้สมัครับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังจะมีการประกาศลำดับภายในไม่กี่วันนี้ 

 

ชานันท์เล่าถึงกระบวนการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคว่า เริ่มจากการยื่นใบสมัครเสนอไปที่พรรคว่าอยากทำประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่อง LGBTQIA+ เรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งพรรคก็เห็นด้วยโดยเฉพาะการทำงานเกี่ยวกับประเด็น LGBTQIA+ โดยก่อนหน้านี้ก็ทำนโยบายให้พรรคมาเป็นเวลาหนึ่งปีกว่าอยู่แล้ว โดยมี หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คอยดูแลให้คำแนะนำ  

 

เมื่อถามถึงคดีความที่ สน.ลุมพีนี มีความคืบหน้าเป็นอย่างไร 

 

ชานันท์กล่าวว่า ตำรวจยังไม่ยื่นอัยการ แล้ว พ.ร.ก.นั้นยกเลิกไปแล้ว ต่อมาเรื่องก็เงียบไปไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม ดูเหมือนแจ้งความเป็นพิธีการเท่านั้น

 

สำหรับปรากฏการณ์ฮือฮาในโลกโซเชียลมีเดีย เวทีปราศรัยที่สเตเดียม วัน มีอินฟลูเอ็นเซอร์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIA+ นั่งแถวหน้าเวที

 

ชานันท์กล่าวว่า วันนั้นเป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ใครอยากมาร่วมฟังวิสัยทัศน์ฟังนโยบายก็สามารถเดินทางมาได้เลย ซึ่งคนในพรรคหลายๆ คนก็ช่วยกันเชิญเพื่อนๆ ที่เขาอยากให้มาฟังกัน พรรคเชิญคนหลากหลายกลุ่ม ส่งจดหมายเชิญบ้าง โทรศัพท์เชิญบ้าง เชิญคนหลากหลายวงการ เช่น นักธุรกิจ ศิลปิน ส่วน LGBTQIA+ หรืออินฟลูเอ็นเซอร์วันนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มาในงาน ส่วนตัวอยู่ในฝ่ายเชิญเครือข่าย LGBTQIA+ ร่วมกับพี่ๆ ในพรรคหลายๆ คน

 

เมื่อถามว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะผลักดันอะไรทั้งในรัฐสภาและในทำเนียบรัฐบาล 

 

ชานันท์กล่าวว่า ถ้าเรื่องตำแหน่งเป็นตำแหน่งอะไรก็ได้ ขอให้ได้ยกระดับคุณภาพชีวิต LGBTQIA+ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ได้รับศักดิ์ศรี คุณค่าเท่าเทียมกับชาย-หญิง ให้เกิดความเท่าเทียมกัน

 

ประสบการณ์ในรัฐสภา 

 

ชานันท์เล่าว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยเป็น ส.ส. แต่เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต กับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 

 

สำหรับประสบการณ์การเป็นกรรมาธิการฯ คือช่วยดู 2 ร่าง พ.ร.บ.นี้ ทำให้ได้เจอคนในพรรคอื่นๆ ด้วย และรู้หลักการทำงานในรัฐสภามากขึ้น รู้ว่าจะรับมืออย่างไรกับบางพรรคการเมืองที่ต่อต้านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้เรียนรู้การจะพูดต่อรองอย่างไร จะต่อสู้อย่างไรให้เขายอมรับสมรสเท่าเทียมให้ได้ 

 

เมื่อเจอความเห็นที่เห็นต่าง หรือฝ่ายต่อต้านสมรสเท่าเทียม ได้ให้เหตุผลว่าอย่างไร 

 

ชานันท์เล่าว่า ผู้มีความเห็นแตกต่างได้อ้างหลักศาสนาว่าสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องขัดแย้งกับความเชื่อศาสนาดั้งเดิม หรือประเพณี เราจึงได้บอกเขาไปว่า หลักศาสนาก็อีกหลักหนึ่ง แต่นี่เป็นเรื่องการจดทะเบียนสมรส เป็นเรื่องนายทะเบียนกับประชาชน เพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาเลย เพราะว่าไม่ได้มีการต้องให้นักบวชหรือผู้นำศาสนาเป็นผู้ลงนามในทะเบียนสมรส แล้วก็บอกว่าประเทศเราเป็น Secular State เป็นรัฐฆราวาส 

 

เพราะฉะนั้นไม่ควรเอาความเชื่อของลัทธิหรือศาสนาใดมาเป็นเงื่อนไขในการเขียนกฎหมาย หรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนากฎหมาย เพราะกฎหมายใช้กับทุกคนทุกเพศทุกศาสนาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกศาสนาใดมาเป็นเงื่อนไขเป็นความไม่สมเหตุสมผลและไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นในรัฐฆราวาส ได้บอกเขาไปอย่างนั้น พยายามทำให้เขาเข้าใจให้ได้ ตอนแรกเขาก็ไม่เข้าใจในที่ประชุมกรรมาธิการฯ แต่คุยทำความเข้าใจ อธิบายจนสำเร็จ

 

ส่วนคนที่จะโหวตมติร่างกฎหมายต้องเป็น ส.ส. ซึ่งได้บอกเขาไปว่า ส.ส. เป็นผู้แทนของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้กระทั่ง ส.ส. ที่ผลักดันเรื่อง LGBTQIA+ เอง เขาก็ไม่ใช่ตัวแทนของ LGBTQIA+ เท่านั้น เขาเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ 

 

สมรสเท่าเทียมผ่านมติ ส.ส. วาระ 1 ก็เท่ากับเป็นของประชาชนทุกคนแล้ว ไม่ได้คิดว่าเป็นผลงานของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ ส.ส. โหวตกันมา ตัวแทนประชาชนโหวตมาแล้ว ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดยฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ผ่านทั้งกรรมาธิการฯ และสภาวาระ 1 แล้วเช่นกัน แต่ยืนยันมีจุดยืนไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต และเลือกร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเท่านั้น 

 

ภารกิจต่อไป

 

ชานันท์กล่าวว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็จะนำร่างสมรสเท่าเทียมมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะกฎหมายอนุญาตให้ภายใน 60 วันสามารถนำร่าง พ.ร.บ. จากสมัยรัฐบาลชุดเก่ามาพิจารณาได้อีกครั้ง 

 

ตอนนี้ผ่านสภาวาระ 1 ยังไม่ผ่านวาระ 2 และ 3 เนื่องจากขั้นตอนวาระที่ 2 โดนถ่วงเวลาในยุคของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเอาเรื่องกัญชามาพิจารณากันก่อน แล้วก็ทำให้เสียเวลากันไปในตอนนั้น ทำให้สมรสเท่าเทียมไม่ได้พิจารณาในวาระ 2 ของสภา ประกอบกับสภาล่มหลายครั้งในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ส่งผลให้การแก้ไขกฎหมายหรือการร่างกฎหมายบางฉบับที่สำคัญกับประชาชนเพื่อสร้างความเท่าเทียม ไม่ได้ถูกพิจารณาให้ความสำคัญในรัฐบาลที่ผ่านมา 

 

อยากจะสานต่อเรื่องสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ ให้ทุกคนได้จดทะเบียนสมรสได้เหมือนกันทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกเพศวิถี 

 

ส่วนประเด็น Sex Worker ก็อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อผลักดันเป็นนโยบายเช่นเดียวกัน ตอนนี้ก็มีพูดคุยกับภาคประชาสังคมหลายๆ กลุ่มที่ผลักดัน รวมถึงคุยกับ Sex Worker หลายๆ คนว่าจะผลักดันอย่างไรไม่ให้กลายเป็นอาชญากร โดยให้การขายบริการทางเพศเป็นแรงงานหนึ่ง เป็นอาชีพหนึ่งที่เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ คนที่ทำประเด็นนี้มีตัวเราเอง และ ส.ส. จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ผลักดันเรื่องนี้เช่นเดียวกัน 

 

เนื่องจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทำให้ Sex Worker กลายเป็นอาชญากรไป แต่ไม่ได้หมายความว่าอาชีพนี้ต้องขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีรูปแบบ 2 อย่างคือ Decriminalisation กับ Legalisation ซึ่ง Legalisation ต้องจดทะเบียน แต่ทำให้มีแนวโน้มเกิดการผูกขาดโดยนายทุนที่ทำธุรกิจนี้ จึงไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียน 

 

ต้องการให้ใครจะทำหรือจะเลิกทำก็ได้ เนื่องจากถ้าต้องจดทะเบียนเท่ากับคนที่ไม่จดทะเบียนก็จะกลายเป็นผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาเรื่อง Sex Worker ผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ขึ้นมา ถ้าเขาอยู่ในสถานบริการก็จะเป็นพนักงานคนหนึ่งเท่ากับพนักงานคนอื่นทั่วไปภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานอยู่แล้ว 

 

สำหรับเรื่องชาติพันธุ์ได้เสนอเป็นงานศึกษาเพื่อผลักดันเป็นนโยบายให้พรรคต่อไป ยังอยู่ในกระบวนการเสนอให้พรรค

 

เมื่อถามถึง ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน 

 

ชานันท์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีอิสระ คนที่มีอิทธิพลที่สุดคือประชาชน เพราะพรรคต้องรับฟังเสียงประชาชนเพื่อนำมาออกแบบนโยบาย รวมถึงรับฟังภาคประชาสังคม NGO ทั้งหลาย เพราะว่าเขาเป็นเจ้าของประสบการณ์เผชิญปัญหาโดยตรง เขาก็จะมาเสนอพรรคในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบนโยบายในการแก้ไขปัญหา 

 

นอกจากนั้น หลายครั้งที่เวลาทักษิณพูดในรายการของกลุ่ม CARE ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในพรรคจะเห็นด้วยทุกคน รวมทั้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการออกแบบนโยบายของพรรค

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์การผลักดันสมรสเท่าเทียมก็ต้องชื่นชมทักษิณ ตั้งแต่ตอนเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในปี 2544 รัฐบาลไทยรักไทยก็มีโครงการที่จะให้คนรักเพศเดียวกันได้จดทะเบียนสมรสด้วย แต่ตอนนั้นกระแสสังคมมีการต่อต้านกันอย่างรุนแรงมาก มี LGBTQIA+ ที่เป็นผู้มีชื่อเสียงหลายคนในเวลานั้นก็ไม่ได้เห็นด้วย ด้วยความที่กระแสสังคมต่อต้านมาก จึงทำให้โครงการไอเดียนี้ต้องยุติไปภายในสัปดาห์เดียว จำได้ว่ามีข่าวครึกโครม 

 

แล้วเมื่อมาถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2554-2555 ก็มีความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะว่าตอนนั้นทั่วโลกก็ใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตกันหมด สมัยนั้นยังไม่มีการพูดถึงสมรสเท่าเทียม จึงถือว่าทั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องสมรสเท่าเทียมตลอดมายาวนานตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย

 

เมื่อถามถึง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร 

 

ชานันท์กล่าวว่า แพทองธารให้ความสนใจให้ความสำคัญเรื่อง LGBTQIA+ มากๆ น่าจะเป็นเพราะเจเนอเรชันด้วย อย่างไรก็ตาม แพทองธารสนใจหลายเรื่อง และใส่ใจกับหลายประเด็น แต่เวลาพูดคุยในห้องประชุมในทุกๆ ครั้งก็จะมีประเด็นเรื่อง LGBTQIA+ ด้วยเสมอ

 

ส่วนตัวมองว่าเวลาผู้หญิงเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง เรื่องครอบครัวจะถูกจับตาอยู่เสมอว่าเป็นลูกใคร เมียใคร นักการเมืองหญิงหลายคนในไทยเจอเช่นนี้มากกว่าผู้ชาย เพราะหากเทียบนักการเมืองชาย เมื่อปรากฏตัวคนอื่นจะมองในฐานะความเป็นนักการเมืองชายคนนั้น เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็จะไม่ถูกถามถึงคุณพ่อ ส่วนนักการเมืองหญิงมักถูกมองโยงครอบครัว

 

อย่างไรก็ตาม กรณีแพทองธาร การที่มีคนถามถึงคุณพ่อก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีคุณูปการต่อประเทศ ต่อประชาชน แล้วก็เป็นที่จดจำอยู่เสมอ หลายๆ คนต่างคิดถึงทักษิณจึงทำให้ถูกพูดถึงมากกว่า อันนี้ก็เข้าใจได้เหมือนกัน เพราะยังไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนที่มีคุณูปการสูงต่อประเทศเหมือนที่ทักษิณทำ ทั้งด้านการพัฒนาและแก้ปัญหาเรื่องปากท้องประชาชน ซึ่งถ้าย้อนไปในประวัติศาสตร์คนที่ทำได้ก่อนหน้านี้คือ จอมพล ป. พิบูลสงครามเท่านั้น หลังจากนั้นมองว่ามีทักษิณเพียงคนเดียว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising