โลกในปี 2021 ยังคงเป็นโลกที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญระดับประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้หญิงนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ในทางการเมือง รวมแล้วอย่างน้อย 28 คน ที่บทบาทของพวกเธอจะมีอิทธิพลและสร้างแรงกระเพื่อมต่อประชาคมโลกไม่มากก็น้อย
เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ปีนี้ THE STANDARD ในฐานะสำนักข่าวที่สนับสนุนด้านความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด จึงชวนทุกคนมากางแผนที่โลก สำรวจผู้นำหญิงในแวดวงการเมืองโลกในปัจจุบันอีกครั้ง โดย คาจา แคลลัส นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย ถือเป็นผู้นำหญิงคนล่าสุดที่ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้สำคัญนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา
ขณะที่ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศในย่านอาเซียน เคยมีผู้หญิงก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น (หรือเทียบเท่า) ผู้นำประเทศหรือผู้นำรัฐบาลมาแล้วเพียง 6 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม เมียนมา และสิงคโปร์ โดย คอราซอน อากีโน อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่เคยดำรงตำแหน่งเมื่อปี 1986-1992 ถือเป็นผู้นำหญิงคนแรกในอาเซียน ส่วน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของประเทศไทยก็เคยนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ เมื่อปี 2011-2014 ก่อนที่จะถูกรัฐประหารในท้ายที่สุด
ทางด้านประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาประเทศ ผู้นำประเทศเมียนมาในทางพฤตินัย กำลังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของกองทัพ หลังถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) กำลังพยายามคานอำนาจกับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่จัดตั้งขึ้นโดยกองทัพ ด้วยการแต่งตั้งตำแหน่งรักษาการแทนคณะรัฐบาลเมียนมาของ ออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มินต์ อย่างชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในขณะนี้ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ในเมียนมา ขณะที่ ฮาลิมา ยาขอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ เป็นผู้นำหญิงเพียงคนเดียวในอาเซียนที่ยังคงอยู่ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล