สื่อต่างประเทศหลายสำนักไม่ว่าจะเป็น BBC, CNN, Reuters, AFP, The Guardian, South China Morning Post หรือ Channel News Asia ต่างติดตามรายงานข่าวกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำวินิจฉัยให้การชุมนุมและการปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ของ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยสำนักข่าว Reuters รายงานคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “พฤติการณ์ของทั้ง 3 คน แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่ามีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ใช่เป็นการปฏิรูป” ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลไม่มีการกำหนดบทลงโทษใดๆ แต่ได้สั่งให้ทั้ง 3 คน และกลุ่มเครือข่าย เลิกการกระทำลักษณะดังกล่าวในอนาคต
Reuters ชี้ว่า บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นหัวข้อต้องห้ามในไทย ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง พร้อมทั้งชี้ถึงข้อเรียกร้องของทั้ง 3 คน ในคำปราศรัยที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลดการจัดสรรงบประมาณราชวงศ์ และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่กำหนดโทษจำคุก 15 ปี ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้านสำนักข่าว BBC รายงานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเสาหลักสำคัญของไทยที่ขาดไม่ได้” และ “การกระทำใดๆ ที่พยายามบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้สถาบันฯ อ่อนแอนั้นแสดงถึงเจตนาที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์”
โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ BBC วิเคราะห์ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยนั้นเป็นการปิดพื้นที่สำหรับสาธารณชนในการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้นักเคลื่อนไหวทั้งสามอาจถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหากบฏ ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต
อย่างไรก็ตาม เฮดชี้ว่า การพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แบบส่วนตัว ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะยังคงดำเนินต่อไปบนโซเชียลมีเดียอย่างแน่นอน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างต่อเนื่องในการปราบปรามและปิดกั้นความคิดเห็นดังกล่าว ขณะที่คำวินิจฉัยของศาลที่ออกมาจะถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองจากฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายสนับสนุนสถาบันฯ
ทางด้านสำนักข่าว AFP รายงานความเห็นของ สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสขององค์กร Human Rights Watch ที่กล่าวถึงคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า “เป็นการรัฐประหารในเชิงตุลาการ” ที่สามารถปูทางไปสู่การดำเนินคดีอื่นๆ ต่อกลุ่มผู้ประท้วงรวมถึงข้อหากบฏ
ขณะที่สำนักข่าว CNN รายงานว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นในขณะที่ทางการไทยนั้นกำลังปกป้องกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยคณะทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลังมีการแสดงความกังวลจากประเทศสมาชิกในประเด็นสิทธิมนุษยชนและการจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงเยาวชนที่ผลักดันให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งบางประเทศเรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 โดยระบุว่า เป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยโต้แย้งว่า กฎหมายมาตรา 112 นั้นเป็นกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของไทย ซึ่งคดีหมิ่นสถาบันฯ นั้นทางการไทยมีการดำเนินการอย่างระมัดระวัง
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thai-court-rules-students-royal-reform-call-sought-overthrow-monarchy-2021-11-10/
- https://edition.cnn.com/2021/11/10/asia/thailand-student-protest-insult-monarchy-intl-hnk/index.html
- https://www.bbc.com/news/world-asia-59230566
- https://www.theguardian.com/world/2021/nov/10/thai-court-rules-calls-for-curbs-on-monarchy-are-abuse-of-freedoms?fbclid=IwAR2hWIly4YWFuvUsT7hvEo–iZdLjx75NreMlA7uF7uYOEwdEHYiTr4p27k
- https://www.channelnewsasia.com/asia/thai-court-rules-protest-speeches-were-bid-oust-monarchy-2304106