×

สื่อนอกชี้ ความท้าทายเศรษฐารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยคนใหม่ เผชิญพายุเศรษฐกิจ-เกมการเมือง

25.08.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตซีอีโอบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ มีขึ้นท่ามกลางความท้าทาย นอกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ถูกจับจ้องจากหลายฝ่ายแล้ว ยังเผชิญแรงกดดันจากการเข้ารับหน้าที่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของไทย ‘ไม่สู้ดีนัก’ เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ

 

สื่อต่างประเทศหลายสำนักมองการขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำของเศรษฐาว่า อาจต้องเผชิญกับภาระอันหนักหน่วงในการนำพาประเทศผ่านพ้นคลื่นลมและพายุ ทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเกมการเมืองอันเชี่ยวกราก จากการตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับฝ่ายอนุรักษนิยม

 

และนี่คือบทวิเคราะห์บางส่วนจากมุมมองของสำนักข่าวต่างประเทศที่มีต่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย

 

Reuters

 

สำนักข่าว Reuters เผยแพร่บทความที่ชี้ถึงความท้าทายในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเศรษฐาว่า จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

 

โดยหนึ่งวันก่อนที่เขาจะได้รับการโหวตในรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรายงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เติบโตเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 3.1% อย่างมีนัยสำคัญ

 

“มันยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง การส่งออกอ่อนตัวกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากส่วนสำคัญจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน การใช้จ่ายโดยรวมจากการท่องเที่ยวก็ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวจีนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้” ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 สิงหาคม)

 

นอกจากเงามืดที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนแล้ว ไทยยังมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศอีกด้วย

 

Reuters ชี้ว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา รัฐบาลชุดใหม่ของไทยควรช่วยให้สถานการณ์ในตลาดเงินและตลาดทุนสงบลงได้ หลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการและภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองมานานหลายเดือน

 

ขณะที่ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBank) คาดการณ์ว่า สถานการณ์ในตลาดเงินและตลาดทุนอาจมีการปรับตัวแง่บวกในระยะสั้น

 

“หลังจากฝุ่นจางลง ปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ จะถูกจับตามอง อาทิ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี จากนั้นภาคเอกชนและนักลงทุนจะเป็นผู้ตัดสินใจอนุมัติ”

 

Reuters ยังชี้ถึงการผลักดันงบประมาณปีหน้าของรัฐบาล ซึ่งมีกรอบวงเงินรวม 3.35 ล้านล้านบาท ว่าจะเป็นภารกิจสำคัญของเศรษฐา

 

โดยในคำปราศรัยครั้งแรกหลังได้รับชัยชนะจากการโหวตนายกรัฐมนตรี เขาได้ประกาศคำมั่นว่าจะจัดหาแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางมาตรการต่างๆ และการบริหารจัดการงบประมาณอย่างโปร่งใส

 

“ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ผมมั่นใจว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็น 4 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง”

 

ขณะที่การจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ถูกชะลอไว้เพื่อรอรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้โครงการลงทุนใหม่ๆ ดำเนินการได้ช้าลง โดยหน่วยงานวางแผนงบประมาณของรัฐบาลคาดว่างบประมาณน่าจะพร้อมใช้ในเดือนเมษายนปีหน้า หลังจากการเริ่มปีงบประมาณใหม่ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

 

ด้าน Goldman Sachs วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ชี้ว่า “อาจเป็นไปได้ที่ปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งที่รัฐบาลใหม่ของไทยกำลังเผชิญอยู่ก็คือ การผ่านงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2024 หากไม่มีงบประมาณใหม่ การใช้จ่ายภาครัฐจะถูกจำกัดอย่างมาก”

 

Reuters ยังระบุถึงนโยบายและคำมั่นของเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ทั้งการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% ทุกปี, โครงการแจกเงินมูลค่า 5.6 แสนล้านบาท, การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า, การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ลดค่าไฟฟ้าและก๊าซ ตลอดจนการระงับหนี้แก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นเวลา 1 ปี 

 

ซึ่ง Reuters ชี้ว่า ความสามารถในการดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้งเหล่านี้ จะขึ้นอยู่กับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่เพื่อไทยจับมือด้วยเพื่อที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

 

ด้านหอการค้าไทยมองว่า ในช่วง 100 วันแรกของการครองอำนาจ เศรษฐาซึ่งยังไม่ได้ประกาศทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลใหม่ จะต้องมุ่งเน้นไปที่การลดค่าครองชีพและต้นทุนภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงค่าเชื้อเพลิงด้วย

 

โดยภารกิจสำคัญอื่นๆ รวมถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยวช่วงปลายปีและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

 

 Deutsche Welle (DW)

 

ด้านสำนักข่าว DW หรือ Deutsche Welle ซึ่งเป็นสื่อของทางการเยอรมนี ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่รออยู่สำหรับรัฐบาลไทยชุดใหม่ภายใต้การนำของเศรษฐา โดยหลักๆ คือความท้าทายจากในรัฐบาลผสมที่มีการรวมตัวจากหลายพรรคการเมืองและการรักษาสถานะของรัฐบาลผสมนี้ไว้

 

“เศรษฐาจะปกครองประเทศไทยในลักษณะที่จะทำให้พันธมิตรรัฐบาลผสมมีความสุข ตั้งแต่การให้ตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่ต้องการ ไปจนถึงการให้ไฟเขียวแก่งบประมาณสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่พวกเขาต้องการ” รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว พร้อมทั้งมองถึงการที่พรรคเพื่อไทยจะต้องประนีประนอมเพื่อรักษารัฐบาลผสมไว้ว่า “รัฐบาลใหม่จะไม่มีประสิทธิภาพ และการผลักดันของพรรคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ให้ผลลัพธ์ดังที่ต้องการ”

 

ขณะที่ พอล แชมเบอร์ส นักวิเคราะห์การเมืองและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เศรษฐาจะอนุญาตให้พรรคฝ่ายสนับสนุนทหารของ พล.อ. ประวิตร และ พล.อ. ประยุทธ์ ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ”

 

ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์การเมืองหลายรายยังตั้งข้อสังเกตถึงประสบการณ์ในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของเศรษฐาว่า จะช่วยในการบริหารประเทศได้มากแค่ไหน

 

โดย รศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า เศรษฐาอาจถูกผูกมัดด้วยหลายปัจจัยที่จะไม่ยอมให้มีการผลักดันนโยบายในแบบที่เขาต้องการ 

 

ขณะที่ Deutsche Welle ชี้ถึงความเห็นนักวิเคราะห์ที่เตือนว่า “ทันทีที่มีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นกับเศรษฐาและฝ่ายอนุรักษนิยม ข้อกล่าวหาที่ผุดขึ้นมาเรื่องการเกี่ยวข้องกับการเลี่ยงภาษีของเขา อาจถูกนำมาใช้เพื่อบีบให้เขาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

 

โดยนักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า ช่วงฮันนีมูนของพรรคเพื่อไทยกับกองทัพจะสิ้นสุดลงเร็วกว่าที่คาด ซึ่ง รศ.ดร.พรรณชฎา มองว่า “รัฐบาลเศรษฐาจะไม่อยู่ครบวาระ 4 ปีเต็ม”

 

Japan Times 

 

หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นอย่าง Japan Times เผยแพร่บทความหลังเศรษฐาได้รับการโหวตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย โดยพาดหัวว่า เป็นการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีแบบ ‘ไม่น่าเป็นไปได้’

 

โดย Japan Times รายงานความเห็นจากนักวิเคราะห์และคนที่รู้จักเขา ซึ่งมองว่า สำหรับเศรษฐา การเป็นหน้าใหม่ทางการเมืองนั้นเป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีต้นทุนที่ต้องจ่ายด้วย

 

เพื่อนร่วมงานในงานปาร์ตี้และผู้ร่วมธุรกิจสองคนเล่าว่า เศรษฐานั้นเป็นคนพูดตรงที่ไม่กลัวที่จะพูดความในใจ

 

“เขาไม่ได้ปรับตัวมาเป็นนักการเมืองจริงๆ นักการเมืองจำนวนมากรู้สึกไม่สบายใจเมื่ออยู่กับเขา พวกเขากลัวว่าจะไม่สามารถควบคุมหรือมีอิทธิพลต่อเขาได้” ผู้ร่วมธุรกิจคนหนึ่งของเศรษฐากล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม Japan Times ชี้ว่า แม้เศรษฐาอาจไม่ถูกผูกมัดโดยพันธกรณีทางการเมืองเก่าๆ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ขาดฐานสนับสนุนทางการเมือง ทั้งจากภายในพรรคและสาธารณชนในวงกว้าง

 

สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เศรษฐาจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาไทย และถูกจับจ้องว่าอาจกลับมามีบทบาทต่อการเมืองไทยอีกครั้ง

 

“เศรษฐาเป็นคนนอกการเมือง” ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าว และชี้ว่า “ความสัมพันธ์และประสบการณ์ทางธุรกิจของเขาอาจช่วยในรูปแบบการบริหารของเขาและส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจ แต่มีคำถามว่า เขาเป็นอิสระจากทักษิณโดยสิ้นเชิงหรือไม่”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X