×

International Klein Blue: ถ้าความว่างเปล่ามองเห็นได้ มันคงเป็นสีน้ำเงินเฉดนี้

06.09.2018
  • LOADING...

 

รูปด้านบนไม่ใช่ภาพที่โหลดไม่เสร็จ หรือกราฟิกรูปสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินธรรมดาทั่วไป แต่มันคือผลงานศิลปะที่ชื่อว่า IKB 79 (ปี 1959) ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Tate Modern ส่วนศิลปินที่อยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ก็คือ อีฟว์ ไคลน์ ศิลปินแนว New Realism และ Minimalist (ที่เคยมีผลงาน Performance Art ด้วย)

 

อีฟว์ ไคลน์ เป็นเจ้าของสีน้ำเงินเฉดที่อยู่ในภาพ สีน้ำเงินที่สด สว่าง ตื่นตา และเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับชื่อเรียกว่า International Klein Blue หรือสี IKB

 

International Klein Blue (IKB) เป็นสีน้ำเงินแบบอัลตรามารีนที่ได้รับการพัฒนาโดย อีฟว์ ไคลน์ และ เอดวร์ด อดัม ซัพพลายเออร์สีชาวปารีส ก่อนที่เขาจะทำการจดสิทธิบัตรให้กับสีดังกล่าวอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ปี 1960

 

ภาพ: walker-web.imgix.net

 

ประวัติของศิลปินเบื้องหลังสี IKB น่าสนใจไม่แพ้กัน อีฟว์ ไคลน์ เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังในช่วงปี 1950 เขาโตมาในครอบครัวสายศิลปะ ทั้งพ่อและแม่ก็เป็นศิลปินอยู่แล้ว เฟร็ด ไคลน์ พ่อของเขาเป็นศิลปินแนว Post-Impressionists วาดภาพวิวทิวทัศน์และผู้คน ส่วนแม่ มารี เรย์มอนด์ เป็นศิลปินแนวแอ็บสแตรกต์ในลัทธิ Art Informel ของฝรั่งเศส

 

แม้จะอยู่ในครอบครัวที่รายล้อมด้วยศิลปิน แต่ตัวอีฟว์ ไคลน์ เองกลับไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะอย่างจริงจัง เขาเรียนหนังสือเหมือนเด็กคนอื่นๆ และทดลองทำงานศิลปะของตัวเอง แต่ไม่นานนัก เขากลับเลือกที่จะเรียนยูโดเป็นหลัก จนถึงขั้นบินไปฝึกที่ญี่ปุ่น และเป็นนักยูโดระดับสายดำ แต่สุดท้ายเขาได้กลับมาอยู่ในวงการศิลปะ และอาศัยในปารีสหลังจากนั้น

 

ภาพ: upload.wikimedia.org

 

มีเรื่องเล่าว่าในปี 1947 อีฟว์ ไคลน์ ได้ไปเที่ยวพักผ่อนที่เมืองนีซ กับเพื่อนอีก 2 คนคือ โคลด ปาสคาล กวีและนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส และ อาร์มานด์ เฟอร์นานเดซ เพื่อนศิลปิน ทั้งสามนั่งคุยเล่นกันว่าถ้าจะแบ่งส่วนบนโลกนี้ให้แต่ละคน ใครจะเอาส่วนไหนไปบ้าง

 

โคลด ปาสคาล เลือกอากาศ อาร์มานด์ เฟอร์นานเดซ เลือกพื้นดิน ส่วนอีฟว์ ไคลน์ เลือกท้องฟ้า แถมเขายังพูดเก๋ๆ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ท้องฟ้าคือผลงานที่ยอดเยี่ยม และสวยงามที่สุด” เขาเชื่อว่าท้องฟ้าคือพื้นที่ที่ศิลปินมีอิสระที่จะคิดและสร้างสรรค์อะไรก็ได้โดยไม่ต้องกลัวอิทธิพลของคนบนพื้นโลก และนั่นเป็นที่มาของการใช้ ‘สีน้ำเงินอัลตรามารีน’ แบบท้องฟ้าและทะเลในผลงานของเขา ด้วยความเชื่อว่าสีน้ำเงินนี่แหละที่เป็นสีตัวแทนของพื้นที่ที่ว่างเปล่า

 

ภาพ: anotherimg-dazedgroup.netdna-ssl.com

 

ในช่วงปี 1957 อีฟว์ ไคลน์ ก็เข้าสู่ภาวะ Epoque Bleue หรือ Blue Period ที่เขาสร้างสรรค์แต่ผลงานภาพสีโมโนโครมที่ไร้เส้น ไร้โครงร่าง ไร้รูปร่างใดๆ มีแค่สีน้ำเงิน IKB ในทุกผลงาน แต่กลับสื่อถึงอารมณ์จากรูปนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เขาได้แสดงงานในแกลเลอรีมากมายทั่วปารีส กระนั้นผลงานของเขาก็ถูกมองว่าเป็นการเสียดสีศิลปะแบบแอ็บสแตรกต์ที่โดดเด่นเรื่องการจัดวาง และเป็นที่นิยมในยุคนั้น ซึ่งตัวเขาเองก็ตอบไปว่า “มันไม่มีอะไรจริงๆ มันมีแค่ความว่างเปล่า”

 

เล่ามาถึงตรงนี้คงจะพอเห็นภาพว่าอีฟว์ ไคลน์ ไม่ใช่ศิลปินธรรมดาๆ ภายใต้งานศิลปะสุดมินิมัลที่ดูเรียบง่าย เขายังแฝงความหมาย ลูกบ้า และความสร้างสรรค์อยู่พอตัว ในงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่ Parisian Gallery Iris Clert ปี 1957 เขาเฉลิมฉลองความรักในสีน้ำเงินของตัวเองด้วยการปล่อยลูกโป่งฮีเลียมสีน้ำเงิน IKB จำนวน 1,001 ลูกไปบนท้องฟ้าในบริเวณ Saint Germain กรุงปารีสในวันเปิดตัวอีกด้วย

 

ภาพ: www.yvesklein.com

 

หนึ่งปีหลังจากนั้น ในปี 1958 เขาได้เอางานศิลปะตัวเองออกจาก Parisian Gallery Iris Clert จนเกลี้ยง แล้วทาสีแกลเลอรีใหม่ให้กลายเป็นสีขาวทั้งหมด จากนั้นก็บอกสื่อว่านี่คืองานนิทรรศการใหม่ของเขาที่ชื่อ The Void (La voide) หรือ ‘ความว่างเปล่า’ ในงานวันเปิดนิทรรศการใหม่ ไคลน์ก็ยังไม่หมดมุก เขาเสิร์ฟค็อกเทลสูตรพิเศษให้กับแขกที่มาในงาน ซึ่งมีส่วนผสมของยาเมทิลีน บลู เมื่อแขกในงานดื่มเข้าไปแล้ว พวกเขาจะปัสสาวะออกมาเป็นสีน้ำเงินตลอดทั้งสัปดาห์!

 

Untitled Blue Monochrome (IKB 82)

 

เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเคยจ้างนางแบบผู้หญิงไม่ใส่เสื้อผ้ามาทำหน้าที่เป็น ‘พู่กัน’ ให้เขา และเรียกพวกเธอว่าเป็น ‘Living Paintbrushes’ โดยทาสีน้ำเงิน IKB ลงบนเรือนร่าง แล้วก็ให้พวกเธอเอาตัวถูไปมา ลากกันไปลากกันมา บนแคนวาสสีขาว เกิดเป็นเซตผลงานใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า Anthropometries (Anthropométries)

 

ภาพ: i.pinimg.com

 

ภาพ: zoowithoutanimals.files.wordpress.com

 

 

อีฟว์ ไคลน์ เป็นศิลปินที่ใส่ใจใน ‘สี’ เอามากๆ เขาใส่ใจในความหมาย และอารมณ์ที่แต่ละสีสื่อถึงผู้ที่มองเห็น อย่าง สีแดง อาจจะหมายถึงความตึงเครียด ความเป็นผู้นำ สีเขียว หมายถึงความปลอดภัย ธรรมชาติ และต่อจากนี้ถ้าเราเห็นสีน้ำเงิน International Klein Blue เมื่อไร เราคงไม่ได้ตีความว่ามันเป็นความว่างเปล่าเหมือนที่เขาบอกเอาไว้ แต่กลับเป็นสีตัวแทนของความแตกต่าง น่าตื่นเต้น เป็นจุดสนใจ และในขณะเดียวกันก็ลึกซึ้งเหมือนศิลปินเบื้องหลังของสีเฉดนี้แหละ

 

ภาพ: si.wsj.net

FYI
  • อีฟว์ ไคลน์ สร้างสรรค์ผลงานโมโนโครมด้วยสี International Klein Blue จำนวนกว่า 200 ผลงาน และไม่ได้ตั้งชื่อเอาไว้ ทำให้ผลงานของเขาแยกปีที่สร้างสรรค์ยากมากๆ ถ้าเป็นงานในปีแรกๆ จะมีพื้นผิวที่หยาบ สีไม่สม่ำเสมอ ในขณะที่งานช่วงปีหลังๆ จะมีพื้นผิวการลงสีที่เรียบเนียนกว่า
  • อีฟว์ ไคลน์ เสียชีวิตในวัยเพียง 34 ปีด้วยอาการหัวใจล้มเหลว
  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X