หลายชาติและองค์กรระหว่างประเทศต่างแสดงท่าทีต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลวานนี้ (7 สิงหาคม)
โดย แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่แถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย พร้อมเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ตลอดจนปกป้องประชาธิปไตย เสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก
ขณะที่ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการทำให้พหุนิยมทางการเมืองในประเทศไทยถดถอยลง โดยชี้ว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนำในการเลือกตั้งกว่า 14 ล้านเสียง และไม่มีระบอบประชาธิปไตยใดที่จะดำเนินไปได้โดยปราศจากพรรคการเมืองและผู้ลงสมัครจากหลากหลายฝ่าย
ซึ่งข้อจำกัดใดต่อการสมาคมและการแสดงออกอย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ อันรวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)
EU ยังชี้ว่า สิ่งสำคัญคือทางการไทยต้องรับรองว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกรายที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยชอบธรรม จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อไปได้ตามอาณัติจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะได้รับเลือกตั้งจากการสังกัดพรรคใด ซึ่ง EU พร้อมที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือกับประเทศไทยภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 รวมถึงประเด็นด้านพหุนิยมประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ส่งข้อความผ่านบัญชี X ชี้ว่าการยุบพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของไทยถือเป็นการถอยหลังครั้งใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย และเน้นว่าสิ่งสำคัญคือไทยต้องยึดมั่นในหลักความหลากหลาย และพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดสามารถใช้สิทธิตามอาณัติที่ได้จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างอิสระ
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร เผยแพร่แถลงการณ์ ระบุว่า
“พหุนิยมทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองใหญ่อีกหนึ่งพรรคเป็นการทำให้หลักการนี้เสื่อมถอยลง ซึ่งสหราชอาณาจักรเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือสิทธิและการมีตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย”
ฟาร์ฮาน ฮัก รองโฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ระบุว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR) แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการตัดสินใจยุบพรรคก้าวไกลโดยศาลรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการถดถอยของความหลากหลายและประชาธิปไตยในประเทศไทย และต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการสมาคมและการแสดงออก
ขณะที่ Human Rights Watch องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เผยแพร่แถลงการณ์ ชี้ว่าคำพิพากษาให้ยุบพรรคก้าวไกลโดยอ้างเหตุผลทางการเมือง ส่งผลเสียร้ายแรงต่อการกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของประเทศไทย
“คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยยื่นร้องเรียนพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องหลอกลวงตั้งแต่แรก คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลถือเป็นการโจมตีอย่างรุนแรงต่อความพยายามของประเทศไทยในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารมายาวนาน” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ Human Rights Watch กล่าว
นอกจากนี้ รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ชี้ว่าการยุบพรรคก้าวไกลเป็นการล่วงละเมิดประชาธิปไตย โดย เมอร์ซี บาเรนด์ส ประธาน APHR และสมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซีย กล่าวว่า “ศาลได้ส่งข้อความที่ชัดเจนว่าวาระการปฏิรูปบางอย่างจะไม่มีวันประสบความสำเร็จในรัฐสภา ที่ซึ่งการอภิปรายทางการเมืองมีไว้เพื่อการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตามกฎหมาย
“ไม่มีประชาธิปไตยหากปราศจากเสรีภาพในการแสดงออก เช่นเดียวกับฝ่ายค้านทางการเมืองที่เป็นอิสระและยั่งยืน” เธอกล่าว
APHR ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตามคำมั่นสัญญาในการเปลี่ยนแปลงและรับประกันประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของทุกคน
โดย ชาร์ลส์ ซานติอาโก อดีต สส. มาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานร่วม APHR เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ร่างขึ้นโดยคณะรัฐประหาร เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม และต้องมั่นใจได้ว่าการยุบพรรคจะไม่เกิดขึ้นอีก และนำประเทศไทยเข้าใกล้ประชาธิปไตยที่แท้จริงมากขึ้น
ขณะที่เขาชี้ว่า “การใช้ระบบกฎหมายอย่างผิดวิธีของประเทศไทยเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อประชาธิปไตยในภูมิภาค”
อ้างอิง:
- https://www.state.gov/on-the-dissolution-of-move-forward-party-in-thailand/?fbclid=IwY2xjawEgUvtleHRuA2FlbQIxMQABHcRYJduG5Tw1u5Pizrx5M_RIf9gHgNsHasnGGuvWCJXSRqLKh5pgizMieQ_aem_L9Jldy6_n2rs3zZeuqNS0g
- https://www.eeas.europa.eu/eeas/แถลงการณ์โดยโฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป_th
- https://x.com/EPinASEAN/status/1821163995811709352?t=AXltB7NafNDIadZndghDWg&s=19
- https://x.com/GermanAmbTHA/status/1821202158949458122?t=i6-7KprjxKhyy3mf5alAmQ&s=19
- https://www.gov.uk/government/news/uk-response-to-the-dissolution-of-the-move-forward-party?fbclid=IwY2xjawEhDutleHRuA2FlbQIxMQABHTR0TEjOaFBlgY48rUCI6e6mcXEFkMg1D2SYM70v4yDyQocBDDKXQSTmrQ_aem_VK9yzE_MAGCFMY-mzTpcUg
- https://www.barrons.com/news/un-says-thai-opposition-party-ban-setback-for-democracy-8a549c72?refsec=topics_afp-news
- https://www.hrw.org/news/2024/08/07/thailand-constitutional-court-dissolves-opposition-party