×

สินทรัพย์เสี่ยงผันผวนลดลง จับตาปัจจัยต่างประเทศ

05.11.2023
  • LOADING...
สินทรัพย์

ภาพรวมการลงทุนในเดือนตุลาคมถูกปกคลุมไปด้วยปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง เห็นได้จากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้านี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน ความกังวลหลักคือ เรื่องสงครามในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกา 

 

เรื่องของสงครามผมคงไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่ในบทความฉบับนี้อยู่บนเงื่อนไขที่สงครามไม่ขยายขอบเขต และยังจำกัดอยู่แค่ฮามาสกับอิสราเอลเท่านั้น ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้อาจจะต้องมาประเมินกันใหม่หมด ดังนั้นจึงขอลงลึกในส่วนประเด็นที่รองลงมาคือ เรื่องผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นทดสอบระดับ 5% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นผลมาจากมุมมอง Higher-for-Longer ของ Fed และอุปทานพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นจากสหรัฐฯ มีการขาดดุลงบประมาณในปี FY2023 ที่ 6.3% ของ GDP มากกว่าคาดการณ์ที่ 5.4% จากรายรับภาษีพลาดเป้า ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อ 

 

ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลง -3.3% ในเดือนตุลาคม (ถึงวันที่ 30 ตุลาคม) โดยดัชนีรายภูมิภาคต่างปรับตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ได้แก่ ดัชนี MSCI Asia ex Japan -2.9%, MSCI Europe -4.2% และ MSCI USA -3.0% ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 1 bps เป็น 5.05% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 32 bps เป็น 4.89% มาจากมุมมองที่เปลี่ยนไปในประเด็นของเศรษฐกิจขาลง และอุปทานพันธบัตรตลาดแรกที่ออกมามากเพื่อรองรับการขาดดุลของรัฐบาลสหรัฐฯ ในส่วนราคาทองปรับตัวขึ้น 8.0% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน เป็น 1,996.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากความกังวลด้านเศรษฐกิจและภาวะสงคราม

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคมปรับตัวลง -5.1% เป็น 1,395.85 จุด จากความกังวลที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงขึ้น สงครามอิสราเอล-ฮามาส เหตุการณ์ยิงในพารากอนกระทบกลุ่มท่องเที่ยว และความกังวลเรื่องสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดหุ้นกู้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปี ปรับตัวขึ้น 3 bps เป็น 2.57% และ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 13 bps เป็น 3.31% บนความกังวลเรื่องรัฐบาลจะออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทยอีก -16,402 ล้านบาท แต่มีสถานะซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้ 16,266 ล้านบาท ในเดือนตุลาคม การที่เงินทุนไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน เป็น 35.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจาก Fed ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด ซึ่งส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.5% สูงกว่า Core PCE แล้วที่ 3.8% ดังนั้นยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจนเกินไป ขณะที่เงินเฟ้อค่อยๆ ทยอยปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม Fed ยังส่งสัญญาณใช้มาตรการอัตราดอกเบี้ยสูงต่อไป

 

สำหรับภาวะการลงทุนในประเทศไทย ปัจจัยหลักยังน่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศในเรื่องของภาวะสงคราม Fed และราคาพลังงาน ทั้งนี้ บรรยากาศการลงทุนในเดือนพฤศจิกายน ผมมองว่าความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะลดลง ดูจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงทั่วโลก ทั้งนี้ ถ้าภาวะสงครามยังคงทรงตัวก็น่าจะเห็นฐานกันได้ในเดือนนี้ ผมมองว่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนต่างก็ปรับตัวลงมาในระดับที่น่าสนใจ 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับพอร์ตครั้งนี้คงยืนอยู่บนสมมติฐานปัจจุบันที่สถานการณ์การสู้รบไม่รุนแรงไปกว่านี้และยังคงอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นเรายังคงจัดพอร์ตการลงทุนโดยแบ่งการลงทุนในหุ้น 55% จัดเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25% ญี่ปุ่นและเวียดนาม รวมกันไม่เกิน 10% ไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก รวมกันเป็น 5% โดยเน้นไปที่ REIT 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising