×

ย้อนชมบรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีทั้ง 3 ครั้งที่เกิดขึ้น

27.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIns. Read
  • การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีจัดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งที่ผ่านมาจัดขึ้นในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ ซึ่งการประชุมสุดยอดในวันนี้ (27 เม.ย.) เป็นการกลับมาจัดโต๊ะเจรจาอีกครั้งที่หมู่บ้านปันมุนจอม ในเขตปลอดทหารของเกาหลีใต้ นับตั้งแต่ทำความตกลงพักรบเมื่อปี 1953

ในช่วงสงครามเย็นที่ผ่านมา แผ่นดินเกาหลีที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ ตามแนวเส้นขนานที่ 38 ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ของ ‘สงครามตัวแทน’ ที่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างกระโจนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก โดยมีความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

 

สงครามเกาหลี (1950-1953) ในครั้งนั้นยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ปี มียอดผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่า 2.5 ล้านคน ก่อนที่ตัวแทนจากทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถเจรจาทำความตกลงพักรบระหว่างกันได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 1953 แต่อย่างไรก็ตามคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ในทางทฤษฎีแล้วทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมถึงฝ่ายสนับสนุนต่างยังคงถือครองสถานะการเป็นคู่สงครามระหว่างกันจวบจนถึงปัจจุบัน

 

ผู้นำทั้งสองประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันในการจัดตั้งพื้นที่เขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone: DMZ) ขึ้นระหว่างพรมแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีระยะทางยาวประมาณ 250 กิโลเมตร และมีความกว้างเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีการขีดเส้น Military Demarcation Line (MDL) กึ่งกลางเขตปลอดทหารดังกล่าว เพื่อแบ่งแยกเขตแดนอย่างชัดเจนและสถานที่เจรจาทำความตกลงพักรบในครั้งนั้นคือ บริเวณหมู่บ้านปันมุนจอม (Panmunjom) ที่ตั้งอยู่ในเขตแดนของเกาหลีใต้

 

Photo: www.panmunjomtour.com

 

ตลอดระยะเวลากว่า 65 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทำความตกลงพักรบสงครามเกาหลีจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองประเทศต่างเคยจัดการประชุมสุดยอดผู้นำมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง โดยเปิดโอกาสให้ผู้นำทั้งสองประเทศปรับความเข้าใจและคลี่คลายความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างชนชาติเกาหลีด้วยกันเอง เพื่อนำพาสันติภาพให้กลับมาสู่คาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง

 

 

การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีครั้งที่ 1 (ปี 2000)

การประชุมครั้งนั้นเกิดขึ้นในสมัยของอดีตผู้นำเกาหลีเหนืออย่าง คิมจองอิล (Kim Jong-il) ผู้เป็นบิดาของคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันและอดีตประธานาธิบดี คิมแดจุง (Kim Dae-jung) ของเกาหลีใต้ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนั้นและผู้ได้รับฉายาว่าเป็น เนลสัน แมนเดลา แห่งเอเชีย นับเป็นการประชุมที่เปิดโอกาสให้ผู้นำของเกาหลีทั้งสองประเทศได้พบกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการแบ่งแยกประเทศในปี 1948

 

 

การประชุมสุดยอดครั้งแรกนี้จัดขึ้นนาน 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน ปี 2000 โดยกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่งนำไปสู่การประกาศแถลงการณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ที่เปิดโอกาสให้คณะทำงานทั้งทางด้านกองทัพ เศรษฐกิจ รวมถึงเหล่าสภากาชาดได้มีโอกาสพูดคุยและหารือกันเพิ่มมากขึ้น พร้อมเดินหน้าพัฒนา ‘ความเป็นเกาหลี’ ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ ภาษา การศึกษา และวัฒนธรรม

 

 

การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีครั้งที่ 2 (ปี 2007)

การประชุมสุดยอดเกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 7 ปีต่อมา ซึ่งตรงกับสมัยของ คิมจองอิล (Kim Jong-il) และอดีตประธานาธิบดี โนมูฮยอน (Roh Moo Hyun) ของเกาหลีใต้ โดยมีกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมอีกสมัย ในระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม ปี 2007

 

 

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในโต๊ะเจรจาหนีไม่พ้นเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือเริ่มผลักดันและเดินหน้าพัฒนาอย่างจริงจัง จนเริ่มสั่นคลอนความมั่นคงของประชาคมโลก หลังประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) เมื่อปี 2003 และทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในปี 2006 พร้อมทั้งมีการยื่นข้อเสนอให้ประเทศมหาอำนาจเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงและอธิปไตยของเกาหลีเหนือ แลกกับการยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว ซึ่งในที่สุดการเจรจาก็ไม่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

 

 

ภายหลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนใหม่ของคิมจองอึนในปี 2011 เขาเผชิญวิกฤตความศรัทธาในตัวผู้นำอย่างหนัก เขาเร่งเดินหน้าทดสอบและพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจังในฐานะหลักประกันความมั่นคงเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ หลังเวทีเจรจา 6 ฝ่าย (Six-Party Talks) ที่พูดคุยในประเด็นนี้โดยเฉพาะไม่มีประสิทธิภาพและลดบทบาทลงในที่สุด

 

การทดสอบและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างก้าวกระโดดของเกาหลีเหนือตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น เกาหลีเหนือเผชิญแรงกดดันและมาตรการคว่ำบาตรอย่างหนักจากนานาชาติ ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ประกาศยกระดับมาตรการคว่ำบาตร เพื่อกดดันให้รัฐบาลเกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

 

 

การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีครั้งที่ 3 (ปี 2018)

การประชุมครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนท่าทีของคิมจองอึน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยมีการกลับมาเปิดช่องทางสายตรงระหว่างสองประเทศอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์อยากเข้าร่วมสังเกตการณ์ในมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2018 ที่เมืองพย็องชังของเกาหลีใต้รับเป็นเจ้าภาพ โดยรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ส่ง คิมยอจอง (Kim Yo-jong) น้องสาวแท้ๆ ของคิมจองอึน นำทัพคณะผู้แทนระดับสูง นักกีฬาและกองเชียร์ เข้าร่วมในมหกรรมครั้งนี้ด้วย นับเป็นการปูทางไปสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งในรอบกว่า 1 ทศวรรษ

 

 

วันที่ 27 เมษายน ปี 2018 จะเป็นอีกหนึ่งวันที่คนเกาหลีทั้งหมดและประชาคมโลกต่างจดจำช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันและสนับสนุนให้ชนชาติเกาหลีก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและนำพาสันติภาพกลับคืนสู่คาบสมุทรนี้อีกครั้ง โดยทั้งสองประเทศจำเป็นต้องหาข้อสรุปเกี่ยวกับการยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นรูปธรรม

 

 

การประชุมในครั้งนี้กลับมาจัดขึ้นที่ Peace House บริเวณหมู่บ้านปันมุนจอมในเขตปลอดทหารของเกาหลีใต้อีกครั้ง นับตั้งแต่ทำความตกลงพักรบกันเมื่อปี 1953 โดยคิมจองอึนเป็นผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือที่เดินทางเข้าไปยังเขตพื้นที่ของเกาหลีใต้และพบกับประธานาธิบดีมุนแจอินในวันนี้

 

ก่อนหน้านี้ผู้นำคิมจองอึนตัดสินใจเดินทางเข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำเกาหลีเหนือตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีครั้งที่ 3 นี้เสร็จสิ้นลง คิมจองอึนมีกำหนดการจะพบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในวันนี้ทั้งคิมจองอึนและมุนแจอินกำลังร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ในการเมืองโลก ท้ายที่สุดแล้วเกาหลีเหนือจะยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์จริงๆ หรือ? มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะกลับมาเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับเกาหลีเหนือหรือไม่? มีโอกาสที่สันติภาพจะกลับคืนสู่ภูมิภาคนี้มากน้อยแค่ไหน? ไม่อาจละสายตาได้เลย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X