ดูเหมือนว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย กำลังทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อยู่ในภาวะเสียงแตกเกี่ยวกับวิธีการจัดการอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยบรรดาผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ Fed มาโดยตลอดส่วนหนึ่งคาดว่าเจ้าหน้าที่ Fed น่าจะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ได้
อย่างไรก็ดี Lorie Logan ประธาน Fed สาขา Dallas กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจจนถึงขณะนี้ยังไม่สนับสนุนให้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fed ยังไม่สามารถปรับลดอัตราเงินเฟ้อได้ตามเป้าที่ต้องการ
ขณะที่ Kathy Bostjancic หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Nationwide กล่าวว่า Fed น่าจะต้องระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ยังเป็นทางเลือกที่จำเป็นเมื่ออัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
รายงานระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของ Fed คนใดเลยที่ออกมาให้ความเห็นในเชิงว่าจะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งสวนทางความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ในตลาดการเงินส่วนหนึ่งที่เริ่มออกมาคาดการณ์ว่าการเติบโตที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะบีบให้ Fed ต้องลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งภายในสิ้นปี 2023 นี้
กระนั้น ในบรรดาเจ้าหน้าที่ของ Fed เอง ความเห็นเกี่ยวกับการขึ้นหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้เป็นเอกฉันท์เสียทีเดียว เพราะขณะนี้บางคนเห็นว่าต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่บางคนก็มองว่าควรระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวเพื่อซื้อเวลาให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ขับเคลื่อนเติบโตหรือลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพื่อเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง แบบ Deep Recession ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว
หลายฝ่ายคาดว่า ทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในวันศุกร์นี้ (19 พฤษภาคม) เมื่อ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed จะออกมากล่าวแสดงจุดยืนของ Fed เพิ่มเติม
เมื่อไม่นานมานี้ ประธาน Fed สาขาต่างๆ ออกมาให้ความเห็นว่า Fed ควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมหรือมีโอกาสปรับขึ้นได้อีกในปีนี้ โดยคนที่ออกมาพูดล่าสุดก็คือ Raphael Bostic ประธานสาขาแอตแลนตา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 พฤษภาคม) ซึ่ง Bostic เตือนให้ Fed เตรียมพร้อมที่จะคงอัตราดอกเบี้ยโดยไม่สนใจข้อครหาของนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งที่มองว่าแนวทางดังกล่าวอาจกำลังทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ สะดุด
Bostic เชื่อว่า เงินเฟ้อจะยังไม่ลดลงอย่างรวดเร็วภายในเร็ววันนี้ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่หนุนให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอยู่ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อก่อนในห้วงเวลานี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปรับตัวลดลงแน่นอน
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาชะลอตัวลงเหลือ 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงจากเดือนมีนาคมก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 5% นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 10 และลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุดที่ 9.1% เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว กระนั้น เงินเฟ้อที่ลดลงดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นสัญญาณการบริโภคที่ลดลง รวมถึงเป็นผลจากราคาสินค้าอ่อนไหวอย่างอาหารและพลังงาน
ในทางกลับกัน หากว่าดูที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานจะพบว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าวแทบจะไม่มีการขยับลดลงเลยนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
Diane Swonk หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ KPMG กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างดื้อรั้น ไม่ยอมลงง่ายๆ ซึ่งสอดคล้องกับความกังวลของ Philip Jefferson สมาชิกคณะกรรมการ Fed ที่เพิ่งจะร่างเหตุผลส่งตรงถึงพาวเวลล์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (18 พฤษภาคม) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ครอบคลุมราคาบริการอย่างร้านอาหาร โรงแรม และการรักษาพยาบาล แต่ไม่รวมราคาพลังงานและที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นดัชนีที่ Fed ใช้ดูความเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อ ยังอยู่ในระดับสูงอย่างดื้อรั้น และยังไม่แสดงสัญญาณของการลดลงอย่างมีนัยสำคัญใดๆ
กระนั้น Jefferson ยังแนะนำว่า Fed ควรใช้เวลาในการประเมินผลกระทบที่นโยบายดอกเบี้ยมีต่อเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ากว่าที่นโยบายการเงินของ Fed จะเห็นผลก็กินเวลาพอสมควร ซึ่งเวลาเพียง 1 ปีไม่ใช่ระยะเวลาที่นานพอที่จะรู้สึกถึงผลกระทบอย่างเต็มที่จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
อ้างอิง: