ภาวะเงินเฟ้อระดับสูงของช่วงที่ผ่านมา ผลักดันให้เกือบทั้งโลกเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยธนาคารกลางหลายแห่ง นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นรวมทั้งสิ้น 2% มาสู่ระดับ 2.5% เมื่อปลายปีที่แล้ว และแม้ว่าในปีนี้ เราอาจจะได้เห็นสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยก็อาจจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากมีธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้หรือไม่ หรือจะเริ่มปรับลดลงได้เมื่อใด
สำหรับด้านการลงทุนแล้ว การประเมินผลตอบแทนและความน่าสนใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อผลตอบแทนของตลาดหุ้น ผ่านแนวคิดหลัก 2 ประการ
โดยมีแนวคิดแรกคือ การส่งผลกระทบผ่านส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้น (ในฐานะสินทรัพย์เสี่ยง – High Risk Asset) และผลตอบแทนที่จะได้จากพันธบัตรรัฐบาล (ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย – Risk Free Asset) หรือที่เรียกกันว่า Earnings Yield Gap ซึ่งหากส่วนต่างนี้อยู่ในระดับสูง ก็แสดงว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง
ดังนั้นการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรเพิ่มขึ้น ส่วนต่างของ Earnings Yield Gap จึงแคบลง ซึ่งเมื่อผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงเทียบกับสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง การลงทุนในหุ้นก็อาจจะไม่คุ้มต่อค่าความเสี่ยงและทำให้ขาดความน่าสนใจที่จะเข้าลงทุนไป เม็ดเงินก็จะไหลออกจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดพันธบัตรหรือสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าแทน จนกว่าราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลงถึงระดับหนึ่ง Earnings Yield Gap ก็จะกลับมากว้างขึ้นอีกครั้ง และเมื่อเพิ่มขึ้นจนคุ้มค่าความเสี่ยง เม็ดเงินลงทุนก็จะไหลกลับมา
ซึ่งจากข้อมูลในอดีต 10 ปีย้อนหลังพบว่า ตลาดรักษาระดับ Earnings Yield Gap ไว้ที่ระดับเฉลี่ย 4% ซึ่งจัดเป็นระดับที่น่าสนใจลงทุนเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากพันธบัตร แต่ในปัจจุบันผลของการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ Earnings Yield Gap ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.5% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงทำให้ความน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้นลดลงได้ โดยเปรียบเทียบในเชิงของความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ย
สำหรับแนวคิดที่สองคือ ผลกระทบต่อระดับผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้น (Dividend Yield) หรืออัตราส่วนของเงินปันผลรับต่อต้นทุนราคาหุ้นที่เข้าไปลงทุน ซึ่งอัตราส่วนนี้ หากยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นที่น่าสนใจลงทุน โดยปกติแล้วหุ้นปันผลมักจะเป็นหุ้นที่มีผลกำไรสม่ำเสมอ มีฐานะการเงินแข็งแรง และมีกระแสเงินสดที่เพียงพอ จึงสามารถจ่ายเงินปันผลออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากมองตามปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว ก็จะทำให้หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่จะเข้าไปลงทุนได้ แต่ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ความน่าสนใจลงทุนในหุ้นแตกต่างกันออกไป โดยในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น และมีผลให้ทิศทางตลาดหรือราคาหุ้นปรับตัวลดลงดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การเข้าลงทุนในหุ้นปันผลในช่วงเวลานี้จะทำให้ได้รับอัตราเงินปันผลสูงกว่าการเข้าลงทุนเมื่อราคาหุ้นอยู่ในระดับสูง ดังนั้นทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความน่าสนใจลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะในหุ้นปันผลได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยในปี 2567 นั้น เริ่มมีสัญญาณและเห็นโอกาสที่ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนในทางกลับกันแล้ว หากภาครัฐเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการผลักดันมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทออกมา โดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม ก็อาจจะทำให้มีข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ ดังนั้นปัจจัยด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปจากนี้ จึงยังคงต้องจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ภาพ: Jackyenjoyphotography / Getty Images, Ratnakorn Piyasirisorost / Getty Images