×

เปิดสาเหตุ กนง. เลือก ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อ 25 มี.ค. 2563

08.04.2020
  • LOADING...
ดอกเบี้ยนโยบาย

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 25 มีนาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ‘ภาวะตลาดการเงิน’ นับจากการประชุมนัดพิเศษที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการประกาศมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทยมาสร้างความเชื่อมั่นและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน ทำให้ตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงทันทีหลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง และนักลงทุนบางส่วนชะลอการขายพันธบัตรรัฐบาลไทย หลัง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย

 

ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดโลก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจสำหรับเงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงประกอบ กับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทยรุนแรงขึ้น

 

ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังสอดคล้องกับภาพที่ได้ประเมินไปในการประชุมนัดพิเศษ โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากการระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลงมาก และผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มหดตัวในทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า คณะกรรมการฯ จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัว 5.3% ในปี 2563 และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ 3% ในปี 2564 หากการระบาดในไทยควบคุมได้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาด และจำนวนนักท่องเที่ยวทยอยกลับมาฟื้นตัว และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบ โดยคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ลบ 1% และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงเร็ว และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานมีแนวโน้มติดลบ นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมี แนวโน้มติดลบตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลงมาก แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

 

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีความไม่แน่นอนสูงมาก โครงสร้างเศรษฐกิจการค้าของโลกและไทยจะเปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอนจากทั้งต่างประเทศและในประเทศ 5 ปัจจัย ได้แก่

 

  1. การระบาดของโควิด-19 ที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาด หรืออาจมีการคิดค้นวัคซีนและยารักษาได้เร็วกว่าที่คาด

 

  1. ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง

 

  1. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น และการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการเจรจาการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและยุโรป ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน

 

  1. ความไม่แน่นอนของการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หรือมาตรการต่างๆ อาจมีผลน้อยกว่าที่คาด

 

  1. ความเสี่ยงของภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าคาด ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร และไม่สามารถรองรับแรงงานที่ย้ายมาจากภาคอื่นๆ ได้

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าความเสี่ยงในระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวแรง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ภาคครัวเรือนและธุรกิจ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง

 

นอกจากนี้สภาพคล่องในระบบการเงินตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงและจุดเปราะบางต่างๆ อย่างใกล้ชิด และให้ ธปท. เตรียมเครื่องมือเชิงนโยบายให้พร้อมใช้ เพื่อดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพและมีความมั่นคงในสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งประสานกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมดำเนินการเชิงรุกป้องกันไม่ให้เกิด ความเสี่ยงเชิงระบบ

 

ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงิน กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้รอประเมินการปรับตัวของตลาดการเงินและการลดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเพิ่มเติม และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ให้พร้อมรองรับความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงในอนาคต

 

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาลที่ได้ประกาศไป และมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นมาตรการที่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 0.50% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวแรง

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจการเงินไทยในปัจจุบันแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 โดยปัจจุบันไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง และระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงและมีเงินกองทุนสูง สภาพคล่องในระบบการเงินมีเพียงพอในระดับมหภาค ความท้าทายในปัจจุบันคือการเร่งช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยพักชำระหนี้ ลดอัตราการผ่อนชำระ หรือเลื่อนการชำระ เพื่อบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า สำหรับขั้นถัดไปต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดูแลให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องการสภาพคล่องสามารถเข้าถึงสภาพคล่องที่มีเพียงพอในระดับมหภาค (Distribution of Liquidity) เช่น การสนับสนุนสินเชื่อต้นทุนต่ำแก่ธุรกิจและครัวเรือนที่มีศักยภาพ ควบคู่กับกลไกการค้าประกันสินเชื่อที่ช่วยจัดสรรสินเชื่อไปยัง SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้

 

คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันว่าต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้ให้ตรงจุด โดยเห็นว่า ธปท. ได้ประสานกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอื่นอย่างใกล้ชิดอย่างรวดเร็วและทันการณ์ ภายใต้สถานการณ์ที่มีแนวโน้มลุกลามและขยายวงกว้างขึ้น เพื่อร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนในการกำหนดมาตรการขั้นต่ำเพื่อบรรเทาภาระหนี้และสนับสนุนสภาพคล่อง เพิ่มเติมแก่ลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจที่มีศักยภาพ และเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นมาตรการแก้ปัญหาที่ดำเนินการได้ทันการณ์และตรงจุดกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิผล

 

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเร่งดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังต่างๆ เพื่อช่วยกันประคับประคองและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูล (Data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของโควิด -19 เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมและทันการณ์ ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่นที่จะช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

 

ทั้งนี้กรรมการที่เข้าร่วมประชุมทั้ง 7 คน ได้แก่ วิรไท สันติประภพ (ประธาน), เมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน), ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, คณิศ แสงสุพรรณ, สุภัค ศิวะรักษ์ และ สมชัย จิตสุชน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X