งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า คลื่นความร้อนรุนแรง จนถึงขั้นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ จะเกิดถี่ขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย 3 เท่าภายในปี 2100 ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะโลกรวน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เปิดเผยว่า ประเทศที่อยู่ในเขตละติจูดกลางส่วนใหญ่ รวมถึงสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรปตะวันตก จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวด้วย โดยคลื่นความร้อนรุนแรงนั้นหมายถึงการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 39.4 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยภายในปี 2050 ระยะเวลาที่คลื่นความร้อนรุนแรงจะคงอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว จะยาวนานกว่าปัจจุบันมากกว่า 2 เท่า
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Communications Earth & Environment ระบุว่า ปกติแล้วคลื่นความร้อนรุนแรงไม่ค่อยเกิดขึ้นในเขตละติจูดกลาง แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าคลื่นความร้อนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในภูมิภาคนี้ ยกตัวอย่างเช่น เมืองชิคาโกในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งคาดว่าจะมีคลื่นความร้อนเกิดถี่ขึ้นกว่าเดิม 16 เท่าภายในปี 2100
ส่วนสถานการณ์ในประเทศเขตร้อนนั้นย่ำแย่ยิ่งกว่า เพราะประชาชนจะต้องเจอกับคลื่นความร้อนรุนแรงแทบจะทั้งปี โดยระยะเวลาที่คลื่นความร้อนรุนแรงสูง (Extremely Dangerous Heat) หรือมีอุณหภูมิสูงกว่า 51 องศาเซลเซียส จะเกิดขึ้นนั้นสูงกว่าเดิมถึง 2 เท่า
ตัวเลขคาดการณ์นี้ถูกประเมินขึ้นภายใต้สมมติฐานที่ว่า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส
ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลกจะต้องหาหนทางในการรับมือกับคลื่นความร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งและประชากรที่มีรายได้ต่ำ โดยปัจจุบันปัญหาจากคลื่นความร้อนได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้วในบางประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ ซึ่งหลายครัวเรือนไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งยังเคยเกิดปัญหาผิวรันเวย์สนามบินละลายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทะลุ 40 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จนหลายเที่ยวบินต้องถูกระงับการเดินทางชั่วคราว
ที่น่ากังวลคืองานวิจัยยังระบุด้วยว่า มีโอกาสเพียง 0.1% ที่เราจะสามารถจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบแตะที่ระดับ 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตก ซึ่งเราทุกคนควรร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีกในอนาคต
แฟ้มภาพ: leolintang Via Shutterstock
อ้างอิง: