ประธาน ส.อ.ท. มองข้ามช็อต ระบุความท้าทายใหม่อุตสาหกรรมโลก คือซัพพลายเชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตที่ประเทศมหาอำนาจออกไปพึ่งพาพันธมิตร ที่เรียกว่า ‘Friend-Shoring’ ยกเคส Intel ย้ายฐานผลิตไปหาประเทศที่ตอบโจทย์กว่า กำลังสะท้อนภาคการผลิตของไทยที่หากไม่เปลี่ยนจาก OEM สู่ ODM และเร่งดึงเงินลงทุนสู่ S-Curve รวมถึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแทนแรงงาน อาจเสียแต้มต่อให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมงานสัมมนา Thailand TAKEOFF ‘อุตสาหกรรมไทยติดปีก โกอินเตอร์’ จัดโดยมติชน โดยในบางช่วงได้กล่าวว่า การส่งออกของไทยจะไม่ใช่เครื่องยนต์ที่สำคัญและสร้าง GDP ในปี 2566 อีกต่อไป เนื่องจากกำลังซื้อจากตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และยุโรปถดถอยและติดลบมาตลอด กกร. จึงประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งทิศทางการส่งออกที่ลดลงและกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งปีนี้ส่งออกของไทยดีที่สุดคาดว่าจะอยู่ที่ 0% หรืออาจติดลบ 1% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาจดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ต้องเกาะติดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปลายปี หากปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เยอรมนี ดึง Intel สร้างโรงงานผลิตชิปในประเทศมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ รัฐบาลช่วยสมทบ 1 ใน 3
- เมื่อ ‘ซัพพลายเชนแห่งเอเชีย’ ซึ่งเป็นฐานผลิตระดับโลกให้กับ Foxconn และ Samsung เกิดปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง
- เปิดภาพฝันอุตสาหกรรมใหม่ของไทย หากก้าวไกลประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์การผลิตทั่วโลกจะหาทางออกจากปัญหาเรื่องพลังงานได้ แต่การสร้างแรงงานใหม่กลับไม่สามารถทำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลต่อค่าแรง การปลดแรงงานในสหรัฐฯ ส่วนยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สถานการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยทั้ง 25 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้รับออร์เดอร์ที่ลดลงมากกว่า 19 อุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องผลิตสินค้าเพื่อเก็บสต๊อกไว้ก่อนเพื่อรอการส่งออก และรักษาการจ้างแรงงานไว้ด้วยการลดต้นทุน ลดโอที อย่างน่ากังวล
‘Friend-Shoring’ ปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตของประเทศมหาอำนาจไปสู่การหาพันธมิตร
มากไปกว่านั้น สิ่งที่น่าจับตาขณะนี้ก็คือภาคการผลิตกำลังส่งแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมทั่วโลก เนื่องจากซัพพลายเชนเริ่มขาด สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้จึงเห็นปรากฏการณ์การย้ายฐานการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) จากสิ่งที่เรียกว่ากระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดคำว่า ‘Offshoring’ ที่หมายถึงการย้ายการผลิตไปยังประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำ จากนั้นจึงเรียกว่า ‘Reshoring’ ซึ่งหมายถึงการย้ายการผลิตส่วนที่สำคัญกลับคืนมาที่ประเทศตัวเอง
กระทั่งล่าสุด ในปัจจุบันเกิดเป็นภาวะ ‘Friend-Shoring’ ที่หมายความว่า เริ่มมีการส่งเสริมธุรกิจให้ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศมหาอำนาจมายังประเทศพันธมิตร เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หยุดชะงักและลดความเสี่ยงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งเหล่านี้คือการแยกขั้วกันอย่างชัดเจนของซัพพลายเชนโลกที่กำลังปะทุขึ้นและส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทย หากไม่เร่งปรับตัว
ยกตัวอย่างกรณี Reshoring สู่ Friend-Shoring ล่าสุด นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ออกมาประกาศว่า บริษัท อินเทล (Intel Corp) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ประมวลผลคอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกัน ตัดสินใจลงทุนมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในอิสราเอล ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่และครั้งประวัติศาสตร์โดยธุรกิจต่างชาติที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ทำไมต้องเป็นประเทศอิสราเอล
การลงทุนของ Intel ครั้งนี้ เกิดจากความมั่นใจในศักยภาพและการพัฒนาของประเทศอิสราเอลเป็นหลัก รวมถึงมั่นใจในความพร้อมของนักวิศวกรที่มีความสามารถที่สามารถรองรับการผลิตทักษะสูง ตลอดจนกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้
“สะท้อนมาถึงอุตสาหกรรมของไทยว่า ความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม ไม่เพียงแค่เรื่องการย้ายฐานผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความพร้อมรัฐบาล ประเทศ ต้นทุน ตลอดจนทักษะแรงงาน อีกทั้งยังมีทั้งความเปราะบางด้านสิ่งแวดล้อม จากนี้ไปจะเป็นคีย์ขับเคลื่อน และหากไทยไม่ปรับตัวและยังเจอคู่แข่งทั้งเวียดนาม ด้านต้นทุนสาธารณูปโภค และอินโดนีเซีย ที่มีแต้มต่อมากกว่า โดยเฉพาะการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ในเรื่องของแร่นิกเกิลที่ครองส่วนแบ่งตลาดโลกมากกว่า 24% ความสามารถแข่งขันเราก็จะลดลง”
เร่งสร้างเครื่องยนต์ใหม่ Next Gen Industries มุ่งลงทุนจาก S-Curve
เกรียงไกรกล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคตต้องพึ่งพา 2 ส่วนเพื่อ Takeoff คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการมีอุตสาหกรรมใหม่ (First Industries) เช่น เปลี่ยนจาก OEM (รับจ้างผลิต) เป็น ODM (รับจ้างออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง) เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไรเป็นการผลิตคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนจากแรงงานเป็นแรงงานทักษะสูง
รวมไปถึงยกระดับเครื่องยนต์ใหม่ให้เป็น Next Gen Industries โดยรัฐบาลควรมุ่งดึงการลงทุนจาก S-Curve เร่งเครื่องนโยบาย BCG คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเอกชนเองเตรียมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งทั้ง กรอ.พลังงาน และ กรอ.น้ำ เพราะเอลนีโญกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเกษตร และคาดว่าจะรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงทำหน้าที่ในการประเมินตัวเองเพื่อรับมือและปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้ แต่แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามามีบทบาททั้งปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมาย และเทคโนโลยีร่วมกัน