×

รู้จัก Insurrection Act และขอบเขตอำนาจตามกฎหมายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการส่งกำลังเข้าคุมเหตุจลาจล

22.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ทรัมป์ขู่ส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมเหตุประท้วงที่บานปลายในหลายเมือง ท่ามกลางข้อถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการและสื่อมวลชนว่าทรัมป์มีอำนาจเช่นนั้นหรือไม่
  • ในอดีตที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยอ้างกฎหมาย Insurrection Act ในการส่งกำลังเข้าไปควบคุมเหตุจลาจล หากสภาของมลรัฐหรือผู้ว่าการรัฐร้องขอ หรือหากเหตุจลาจลนั้นทำให้บุคคลบางกลุ่มเสียสิทธิที่จะต้องได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ

การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวทั่วประเทศสหรัฐฯ ดำเนินยืดเยื้อตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากชนวนการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาเตือนหลายครั้งว่าเขาอาจส่งกำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปควบคุมเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งล่าสุดมีการส่งกำลังไปรัฐออริกอน พร้อมวิจารณ์ว่าผู้นำเมืองชิคาโก นิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย ดีทรอยต์ บัลติมอร์ และโอ๊กแลนด์ ต่างกลัวที่จะจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง 

 

ในช่วงที่การประท้วงปะทุขึ้นใหม่ๆ ทรัมป์เคยแสดงท่าทีว่าเขารับไม่ได้ที่ประเทศนี้เกิดสภาพไร้ขื่อไร้แปขึ้นมา และต้องการให้ผู้ว่าการรัฐใช้กำลังของผู้พิทักษ์กฎหมายไปจัดการปราบปรามการจลาจลอย่างเด็ดขาด ถ้าผู้ว่ารัฐไม่ดำเนินการ ทรัมป์ขู่ว่าเขาจะใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการเสียเอง ซึ่งผลพวงของการแถลงการณ์ฉบับนี้ทำให้เกิดการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการและสื่อมวลชน ว่าทรัมป์มีอำนาจในการนำทหารมาปราบปรามผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่

 

โครงสร้างของกองกำลังในสหรัฐอเมริกา

ก่อนที่เราจะไปพูดคุยกันต่อถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เรามาทำความรู้จักกับโครงสร้างของกองกำลังของประเทศสหรัฐอเมริกากันก่อน กองกำลังของอเมริกานี้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ 1) กองกำลังที่เป็นทหารอาชีพแบบที่เราคุ้นเคย ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ ลงไปอีกได้แก่ ทหารบก (Army), ทหารอากาศ (Air Aforce), ทหารเรือ (Navy) และนาวิกโยธิน (Marine) และ 2) กองกำลังป้องกันประเทศหรือที่เรียกว่า National Guard ซึ่งกองกำลังในรูปแบบที่สองนี้ อันที่จริงก็มีความคล้ายคลึงกับทหารอาชีพอยู่มาก เพียงแต่จะมียุทโธปกรณ์ที่ไม่มากเท่า และบุคลากรส่วนใหญ่จะทำงานแบบพาร์ตไทม์ กล่าวคือมีการเรียกฝึกเป็นระยะๆ (เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 วัน) และมีการเรียกออกมาปฏิบัติงานจริงตามที่จำเป็นเท่านั้น อีกความแตกต่างหนึ่งคือเรื่องโครงสร้างการบริหาร เพราะทหารอาชีพจะถูกบังคับบัญชาโดยรัฐบาลกลาง แต่ National Guard จะถูกบังคับบัญชาโดยผู้ว่าการรัฐ จะยกเว้นเสียก็แต่ในกรณีฉุกเฉินที่ประธานาธิบดีสามารถออกคำสั่งยึด National Guard มาให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลกลางโดยตรงได้

 

 

กฎหมาย Posse Comitatus

ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า Posse Comitatus Act ที่ระบุว่าประธานาธิบดีไม่สามารถใช้กองกำลังทหารและ National Guard (ในกรณีที่ประธานาธิบดียึด National Guard มาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตน ถ้า National Guard ยังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการรัฐ กฎหมายฉบับนี้จะไม่ครอบคลุม) เพื่อการดำเนินกิจการภายในประเทศ (Enforcement of Domestic Policy) หรือพูดง่ายๆ ว่าประธานาธิบดีสามารถใช้กองกำลังทหารและ National Guard เพื่อการสู้รบกับข้าศึกจากต่างชาติได้เท่านั้น 

 

กฎหมาย Posse Comitatus ถูกตราขึ้นมาในปี 1879 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามกลางเมือง (Civil War) ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายใต้ในปี 1865 ซึ่งในยุคหลังสงครามกลางเมืองหรือที่เรียกว่ายุค Reconstruction ทางฝ่ายเหนือได้ส่งกำลังทหารมาควบคุมหัวเมืองฝ่ายใต้ เพื่อจะการันตีว่าคนผิวดำที่เพิ่งถูกปลดปล่อยจากการเป็นทาสจะมีอิสรภาพในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพจริงๆ โดยไม่ถูกคนขาวของฝ่ายใต้ (ที่ยังมีกำลังทหารและอาวุธ) ข่มเหงรังแกอีก 

 

อย่างไรก็ดีก็เกิดความวุ่นวายขึ้นในการเลือกตั้งในปี 1876 เมื่อคะแนนเสียงของรัทเธอร์ฟอร์ด เฮย์ จากพรรคริพับลิกันและ ซามูเอล ทิลเดน จากพรรคเดโมแครต ใน 3 มลรัฐ อันได้แก่ ฟลอริดา ลุยเซียนา และเซาท์แคโรไลนา สูสีกันมากจนทำให้ตัดสินไม่ได้ว่าเฮย์หรือทิลเดนจะเป็นผู้ชนะคะแนน Electoral College และได้เป็นประธานาธิบดี ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างการนับคะแนนของตนเองและยืนยันว่าตนเองเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

 

หลังจากการถกเถียงและต่อสูกันมาอย่างยาวนาน ในที่สุดสองพรรคก็สามารถประนีประนอมกันได้ โดยเดโมแครต (ที่เป็นพรรคของคนขาวในภาคใต้) ยอมให้เฮย์ได้เป็นประธานาธิบดี แต่เดโมแครตขอแลกเปลี่ยนกับการที่ฝ่ายเหนือยอมถอนทหารออกจากมลรัฐในภาคใต้ ตามมาด้วยการออกกฎหมาย Posse Comitatus เพื่อป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีของฝ่ายเหนือส่งกองกำลังลงมาปกป้องคนผิวดำในภาคใต้อีก (ซึ่งการถอนทหารและกฎหมาย Posse Comitatus อันเป็นผลจากการประนีประนอมในครั้งนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้คนขาวในภาคใต้ข่มเหง และปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของคนผิวดำได้ตามอำเภอใจ อันเป็นรากฐานของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่ส่งผลมาจนถึงยุคปัจจุบัน)

 

 

กฎหมาย Insurrection

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียังอาจใช้กำลังทหารมาเพื่อดำเนินกิจการภายในประเทศได้ในบางกรณี โดยอาศัยการอ้างกฎหมายที่เรียกว่า Insurrection Act ที่ตราไว้ตั้งแต่ปี 1807 

 

กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจนี้แก่ประธานาธิบดีในกรณีที่มีการจลาจลในประเทศ และมี 1 ใน 3 ข้อต่อไปนี้เกิดขึ้น

  1. สภาของมลรัฐหรือผู้ว่าการรัฐร้องขอมาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกลาง ว่าต้องการกองกำลังทหารของรัฐบาลกลางเข้าไปช่วยเหลือ
  2. การจลาจลทำให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไม่ได้
  3. การจลาจลทำให้บุคคลบางกลุ่มเสียสิทธิที่จะต้องได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ (Equal Protection)

 

ในอดีตที่ผ่านมา ประธานาธิบดีที่อ้างกฎหมาย Insurrection มักจะอ้างโดยอาศัยเหตุผลข้อที่ 1 หรือข้อที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ โดยที่การอ้างเหตุผลข้อที่ 3 มักเกิดขึ้นในช่วงยุค 50-60 ที่รัฐบาลกลางมักจะต้องเข้าไปบังคับใช้กฎหมาย Civil Rights เพื่อลดปัญหาการเหยียดผิวของรัฐบาลมลรัฐในภาคใต้อยู่เป็นระยะ ยกตัวอย่างเช่น การที่ประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนเฮาร์ ส่งกองกำลัง National Guard ไปปกป้องนักเรียนผิวดำ 9 คนที่จะเข้าไปเรียนในโรงเรียนของคนขาวในเมืองลิตเติลร็อก มลรัฐอาร์คันซอในปี 1957 หลังจากที่ศาลสูงสุด (Supreme Court) ตัดสินว่าการแบ่งแยก (Segregation) โรงเรียนเป็นโรงเรียนเฉพาะคนขาวและโรงเรียนเฉพาะคนดำนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ อีกหนึ่งตัวอย่างคือ การที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ส่ง National Guard ไปคุ้มครองนักศึกษาผิวดำที่กำลังจะไปลงทะเบียนเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอละแบมา แต่ถูกผู้ว่าการรัฐในขณะนั้นเอาตัวเองไปยืนขวางประตูไว้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1963

 

ถ้าทรัมป์จะอ้างกฎหมาย Insurrection จริงๆ ก็คงจะต้องอ้างเหตุข้อ 2 หรือข้อ 3  เพราะดูท่าแล้วคงไม่มีรัฐบาลมลรัฐไหนจะเรียกร้องให้ทรัมป์มาใช้กำลังทหารกับพลเมืองในมลรัฐของตน แต่การอ้างข้อยกเว้นที่ 2 กับ 3 จะสมเหตุสมผลกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันอีกในทางกฎหมาย 

 

นักกฎหมายส่วนมากเชื่อว่าเรื่องนี้คงจะต้องขึ้นไปถึงศาลสูงสุด ให้ศาลตัดสินว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้นมีลักษณะ ‘อนารยะ’ จนทำให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปไม่ได้แล้วหรือไม่ หรือมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษจากเหตุการณ์จลาจลครั้งนี้หรือเปล่า ซึ่งนักกฎหมายส่วนมากเชื่อว่าเหตุการณ์ ณ ตอนนี้ยังไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำนายคำตัดสินของศาลสูงสุดได้อย่างมั่นใจ เพราะตอนนี้ในศาลสูงสุดมีตุลาการที่มีความคิดไปในทางอนุรักษนิยม (เอียงริพับลิกัน) 4 ท่าน มีความคิดในทางเสรีนิยม (เอียงเดโมแครต) 4 ท่าน และมีแนวคิดแบบกลางๆ หนึ่งท่าน สมดุลกันพอดี 

 

จะว่าไปผ่านไป 141 ปี โลกก็กลับข้างเสีย 180 องศา กฎหมาย Posse Comitatus ที่เคยมีไว้เพื่อกดคนผิวดำ กลายเป็นกฎหมายที่มาปกป้องคนดำในการประท้วงครั้งนี้ กลับกันกฎหมาย Insurrection ที่เคยช่วยปกป้องคนดำในยุคการเรียกร้อง Civil Rights กลับกลายมาเป็นช่องที่จะทำให้ทรัมป์มาใช้กำลังทหารกับการประท้วงของพวกเขา

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising