เคยไหมที่เงินเก็บหายไปกับเรื่องฉุกเฉิน ไม่ว่าจะอุบัติเหตุอย่างการหกล้ม รถชน หรือการเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ฯลฯ
เริ่มต้นการเจอเรื่องฉุกเฉินแต่ไม่ฉุกละหุกได้ด้วยการบริหารความเสี่ยงผ่านระบบประกันภัย แต่จะซื้ออย่างไรให้ตรงใจ ไร้กังวล THE STANDARD รวบรวมเคล็ดลับมาให้แล้ว
ลงทุนกับชีวิตต้องบริหารความเสี่ยงให้เป็น แต่ชีวิตมีความเสี่ยงแบบไหนบ้าง
ไม่ว่าอายุเท่าไรหรืออยู่ที่ไหน ความเสี่ยงอยู่รอบตัวเราเสมอ เริ่มต้นที่ ‘ร่างกาย’ ของเรา หากต้องเจ็บตัวจากการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด นอกจากเจ็บตัวอาจต้องเจ็บใจที่ต้องเสียเงินเก็บไปด้วย หรือบางคนอาจกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่เพราะต้องรักษาตัวไปอีก
ดังนั้น ประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพจึงเป็นทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อลดความกังวลในการทำกิจกรรมต่างๆ
ด้าน ‘ทรัพย์สินและธุรกิจ’ เมื่อมีเรามีทรัพย์สินอย่างบ้านหรือรถเป็นของตัวเอง ย่อมต้องการดูแลรักษาให้ดีที่สุด แต่เหตุสุดวิสัยและภัยต่างๆ เกิดได้เสมอ ตลาดประกันภัยเลยออกแบบประกันที่หลากหลาย เช่น ประกันคุ้มครอง, สินเชื่อ หรือ MRTA ที่กรณีเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะนำเงินคุ้มครองจ่ายให้สินเชื่อนั้น เพื่อไม่เป็นภาระหนี้ต่อเนื่องถึงคนข้างหลัง หรือประกันอัคคีภัย ประกันรถยนต์ รวมถึงประกันทรัพย์สินที่จะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยต่างๆ
ขณะที่คนทำธุรกิจต้องรับมือกับความเสี่ยงหลายด้าน หากมีวันที่ต้องปิดร้านหรือไม่สามารถเปิดร้านได้ ก็อาจกระทบสภาพคล่องและธุรกิจได้ ดังนั้นจึงมีแบบประกันคุ้มครองกรณีธุรกิจหยุดชะงัก หรือช่วยชดเชยความเสียหายที่เกี่ยวกับภัยต่างๆ
และสุดท้าย ‘ชีวิตและการออม’ ในแต่ละช่วงอายุ ความต้องการเงินเพื่อใช้ชีวิตย่อมต่างกัน จึงมีแบบประกันออมทรัพย์ที่เป็นทางเลือกในการออม หรือเตรียมเงินเพื่อใช้ยามเกษียณ ขณะเดียวกัน การทำประกันชีวิตยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับวันข้างหน้าให้ครอบครัวอีกด้วย
ดังนั้น ประกันภัยเป็นอีกทางเลือกที่ลดความกังวลในการใช้ชีวิตได้ทุกวัน และยิ่งจำเป็นในการบริหารความเสี่ยง ไม่ให้เรื่องฉุกเฉินกลายเป็นเรื่องฉุกละหุกที่อาจสร้างปัญหาให้ชีวิต
เริ่มต้นซื้อประกันต้องดูอะไรบ้าง
เมื่อเจอความต้องการและความเสี่ยงที่อยากบริหารจัดการแล้ว เราจะต้องวางแผนซื้อประกันไปพร้อมๆ กับวางแผนเม็ดเงินที่จะใช้ในแต่ละแบบประกัน โดยอาจจะเริ่มจากความเสี่ยงที่กังวล หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นมากที่สุดก่อน รวมถึงการหาข้อมูลที่ให้ข้อเท็จจริง
แหล่งข้อมูลด้านการประกันภัย ปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย ทั้งบทความ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของไทย หรือบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับอนุญาตจาก คปภ. รวมถึงการปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินหรือนักวางแผนทางการเงิน
เคล็ดลับในการเปรียบเทียบแบบประกันภัย แม้รายละเอียดจะแตกต่างกันตามรูปแบบประกัน แต่อาจแบ่งได้ 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- ‘เบี้ยประกันภัย’ และ ‘ความคุ้มครอง’ ดังนั้นเมื่อมีแบบประกันภัยที่สนใจ สามารถนำเงื่อนไขหรือกรมธรรม์มาเปรียบเทียบกัน เช่น ประกันสุขภาพต้องดูความคุ้มครอง ผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอกมีวงเงินการคุ้มครองแต่ละส่วนต่างกันอย่างไร
- ‘เงื่อนไข-ข้อยกเว้นต่างๆ’ ประกันภัยแต่ละแบบจะมีเงื่อนไขหลักที่ต่างกัน เช่น ประกันสุขภาพ ต้องทำความเข้าใจเรื่อง Waiting Period หรือระยะรอคอยก่อนจะเริ่มนับความคุ้มครอง หรือประกันชีวิตที่ต้องศึกษาวงเงินกรมธรรม์ในแต่ละปีเพื่อผลประโยชน์ของผู้ทำประกัน
- ‘ช่องทางการให้บริการ’ อาจเลือกจากช่องทางการติดต่อว่าบริษัทติดต่อง่ายแค่ไหน มีรูปแบบการให้บริการที่ตรงกับไลฟ์สไตล์เราอย่างไร เช่น ปัจจุบันหลายบริษัทเปิดให้เคลมสินไหมประกันรถยนต์หรือประกันสุขภาพผ่านแอปฯ มือถือได้แล้ว
สุดท้าย ก่อนจะตกลงเลือกซื้อประกัน เราต้องคำนวณเม็ดเงินในการจ่ายเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับตนเอง เพราะหากเลือกทำประกัน แต่ไม่สามารถจ่ายเบี้ยได้ตามระยะเวลากรมธรรม์ ความคุ้มครองต่างๆ ย่อมหมดลง
มีปัญหาด้านการประกันภัย มีหน่วยงานไหนดูแลบ้าง
แม้จะเลือกซื้อและจ่ายเบี้ยประกันภัยแล้ว แต่หากเกิดปัญหาเรื่องความคุ้มครอง ยังมีหน่วยงานทางการที่ดูแลธุรกิจประกันภัย คือ คปภ. ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย ไปจนถึงปลายน้ำด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง
แน่นอนว่า คปภ. จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน รวมถึงการกำกับและตรวจสอบฐานะความมั่นคง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของ คปภ. จะสามารถชำระหนี้ได้เมื่อลูกค้า (ผู้เอาประกัน) ประสบภัย
จากบทบาทและหน้าที่ของ คปภ. ที่ต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน จึงพัฒนาช่องทางการตอบคำถามและให้คำแนะนำด้านการประกันภัยผ่าน Line ‘คปภ.รอบรู้’ ที่จะมีแชตบอตคอยตอบคำถามและรับเรื่องการร้องเรียนได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางติดต่อที่สะดวกสบาย ทั้งสายด่วน คปภ. 1186, ช่องทางเว็บไซด์ www.oic.or.th หรือสามารถไปยังสำนักงาน คปภ. ในกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ปากซอยรัชดาฯ 32 และยังมีที่เขตท่าพระ บางนา และสำนักงานอีก 69 จังหวัดทั่วไทย
เมื่อทุกความเสี่ยงในชีวิตสามารถบริหารผ่านระบบประกันภัยได้ และหากมีปัญหาหรือข้อสงสัย ก็ยังมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือคอยดูแลทุกกรมธรรม์ประกันภัยให้สะดวก เข้าใจง่าย และไร้กังวล
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล